พระเครื่อง

ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดรอยตำนาน "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ลำดับเรื่องเล่าและตำนานชีวิตของเทพเจ้าแดนใต้ ปาฎิหารย์ที่ไม่รู้จบ

สถานีรถไฟจันดี ในตลาดจีนดี ตำบล จันดี อำเภอ ฉวาง นครศรีธรรมราช ณ เวลานั้น จวนเจียนที่จะต้องเคลื่อนขบวนออกสถานี เพื่อมุ่งหน้าเดินทางต่อไปโดยปลายทางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

"รอสักครู่ ให้เด็กมันกลับไปเอาสังฆาฏิอยู่" เสียงพระภิกษุชราร่างเล็ก ได้เอ่ยขึ้นบอกกับนายสถานี แต่ในขณะนั้น เวลาใกล้ 11 โมงแล้ว นายสถานีก็ไม่อาจจะปล่อยเวลาให้ทอดออกไปมากกว่านี้ได้จึงจำต้องเตรียมการสั่งให้รถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานีจันดี

และในเวลานั้นเองภิกษุชราท่านนั้นก็ได้ยกเท้าขึ้นเหยียบกับบันไดรถไฟ และส่งผลให้รถไฟขบวนนั้นไม่สามารถเคลื่อนขบวนออกจากสถานีได้แม้จะเดินเครื่องเต็มกำลังแล้วก็ตาม

และเรื่องเล่าเรื่องนี้ ก็กลายมาเป็นตำนานของคนจันดี ที่เป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ ที่เล่ากันปากต่อปากจนถึงปัจจุบันอย่างไม่รู้จบ ของพ่อท่านคล้าย หรือ
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ  คล้าย จนฺทสุวณฺโณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขันและวัดพระธาตุน้อย 

หรืออีกนาม ที่คนทั้งประเทศ รู้จักกันในนาม

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1

 

 

 

 ที่คนภาคใต้ ขนานนามว่า เทพเจ้าแห่งแดนใต้ ชื่อเสียงของท่าน เป็นรองเพียง หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด 

เมื่อแรกเยือนดินแดนจันดี เมื่อยืนอยู่หน้า วัดธาตุน้อย ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ภิกษุรูปนี้ ภิกษุต่างจังหวัดท่านหนึ่ง ทำไมสามารถที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ปาฎิหารย์ได้อย่างอัศจรรย์

ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1

 

 

 

 

 ปาฏิหาริย์ที่ว่า นั่นก็คือ ทุกบ้านทุกร้าน ทุกชานเรือน ทางถนน ปรากฎรูปถ่าย ภาพเหมือน หุ่นหล่อปั้น ของภิกษุรูปนี้ อยู่ในทุก ๆ ระยะการเคลื่อนผ่าน ย่อมแสดงในเห็นได้ว่า คำว่า ไม่ธรรมดา และมีปาฎิหารย์ ต้องเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน 

ในตำนานเรื่องราวชีวิตของ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์มีนามเดิมว่า คล้าย สีนิล เกิดวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2417 ซึ่งเป็นปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด จ.ศ.1238 ร.ศ.95 ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง 

บิดา มารดาชื่อ นายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาว 1 คน ชื่อนางเพ็ง  

ตามข้อมูลช่วงต้นของชีวิตที่ได้มีการระบุไว้นั้นได้เขียนเล่าอ้างตำนานชีวิตของพ่อท่านคล้ายไว้ว่าลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก

จากเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเมื่ออายุได้ 15 ปีที่ไปช่วยญาติตัดต้นไม้ถางป่าทางไร่ที่จังหวัดกระบี่บังเอิญในครั้งนั้นท่านได้ถูกต้นไม้ที่ญาติของท่านตัดโค่นลงมาล้มทับสายเท้าจนทำให้กระดูกแตกละเอียดและท่านได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและใช้มีดปาดตาลตัดช่วงเท้านั้นออก

ขณะที่ข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับเหตุต้นไม้ทับเท้าจนกระดูกแตกของพ่อท่านคล้ายนั้น ได้เล่าไว้ว่า ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเท้าของท่านไม่สามารถรักษาได้และท่านได้แสดงถึงความมานะอดทนได้ขี่ควายในขณะที่ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสกลับมารักษาตัวที่บ้านจันดี

ถึงจะเป็นเรื่องเล่าเรื่องใดก็ตามแต่ผลสุดท้ายพ่อท่านคล้ายก็ต้องเสียเท้าข้างซ้ายไป และนั่นจึงทำให้ท่านต้องใส่ปลอกเท้ามาตลอดชีวิตของท่าน

 

ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1 อาจารย์ดำ ธาตุน้อย ขณะกำลังกางตำราวิชาเกี่ยวกับการรักษาโรคของพ่อท่านคล้ายให้ชม

 

 

 

อาจารย์ดำ ธาตุน้อย ซึ่งมีเชื้อสายโดยตรงเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกับพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ได้เล่าให้ฟังว่าพ่อท่านคล้ายนั้น ตลอดชีวิตท่านต้องใส่ปลอกเท้า ซึ่งเป็นเสมือนเท้าปลอมมาโดยตลอด

วิธีการที่ท่านจะทำปลอกเท้าใส่นั้นท่านก็จะสั่งให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นต้นที่หันไปลำไผ่ ไปยังทิศตะวันออกจากนั้นท่านก็จะมาทำขั้นตอนในการทำให้เป็นปลอกเท้าของท่านเอง

 

 

ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1 หม้อยารักษาโรค และ ปลอกเท้า ของพ่อท่านคล้าย

 


ท่านจะมีอุปสรรคเรื่องเท้าของท่านแต่พ่อท่านคล้ายก็ยังได้เดินเข้าสู่เส้นทางพระศาสนาตั้งแต่อายุ 19 ปี โดยเริ่มต้นบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ที่วัดจันดี ต.หลักช้าง บรรพชาโดยอาจารย์ พระอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดจันดี (ทุ่งปอน) และว่ากันว่าพ่อท่านคล้ายนั้นสามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์จนได้แม่นยำ

เมื่ออายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ ณ วัดวังม่วง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี พระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี

เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วในเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังในด้านวิชาอาคมของพ่อท่านคล้ายไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนมากนักว่าท่านได้ศึกษา มีแต่เพียงที่ระบุไว้ว่าได้เรียนกับพระครูกรายหรือพ่อท่านกรายที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

แต่ที่แน่นอนชัดเจนนั้น นั่นก็คือ หลวงปู่หมุน แห่งวัดบ้านจาน เป็นหนึ่งในศิษย์ ที่มาเรียนร่ำเรียนวิชากับพ่อท่านคล้ายที่ วัดธาตุน้อย

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้มีโอกาสถามนอกเหนือจากอาจารย์ดำ ที่เป็นเชื้อสายของพ่อท่านคล้ายยังมีผู้ที่เคยได้ปฏิบัติรับใช้ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่มีอายุของท่านได้บอกเล่าสิ่งหนึ่งมาว่า ในความเป็นจริงแล้วภาพที่เราเห็นว่า พ่อท่านคล้าย เป็นคนที่ดูเคร่งขรึมเงียบๆแต่ในความเป็นจริงอุปนิสัยของท่านนั้นก็ถือว่าท่านเป็นคนที่มีความสนุกสนานแต่ท่านมักจะไม่ค่อยพูดมากนัก นั่นก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่าวาจาสิทธิ์ของท่านเอง

จึงทำให้เกิดความสงสัยต่อไปว่า แล้วคำว่า วาจาสิทธิ์ ที่พ่อท่านคล้ายได้มา เป็นเสมือนนามประจำตัวของท่านนั้นได้มาจากที่ไหน

อาจารย์ดิว เจ้าพยัคฆ์ จันดี หนึ่งในผู้ที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับพ่อท่านคล้ายเช่นกันได้พาผมขึ้นรถแล้วขับมุ่งตรงไปในทิศทางถนนเส้นเดียวกับวัดสวนขันและมุ่งไปยังสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นจุดกำเนิดในสิ่งที่ได้มาของวาจาสิทธิ์นั่นเอง


โปรดติดตามตอนต่อไป....

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ