หากพูดถึงสำนักความรู้ ไม่ว่าจะทางด้านศิลปศาสตร์ วิทยาต่าง ๆ รวมทั้ง วิชาอาคม หลายคนมีภาพจำของ สำนักตักศิลาเขาอ้อ เป็นภาพระลึกหลักในความคิด
แต่หากย้อนกลับมาดูในพื้นที่ภาคกลางนั้น ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมีวัดๆหนึ่ง ที่เป็นตักศิลาไสยเวท ที่โด่งดังไม่แพ้กัน
นั่นคือ "วัดประดู่ทรงธรรม"
วัดแห่งนี้ มีประวัติเท่าที่สืบค้นหาข้อมูลได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง บริเวณกลุ่มวัดในเขตอโยธยา เดินทางโดยรถยนต์ตามเส้นทางถนนจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มไปทางทิศเหนือ
"วัดประดู่ทรงธรรม" ในปัจจุบันเกิดจากการรวมพื้นที่วัดโบราณ 2 วัดคือ วัดประดู่ และ วัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) สำหรับวัดประดู่ ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ในคราวที่พระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่8รูป ได้ช่วยเหลือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ให้หลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ และในบันทึกของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ได้กล่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)) ได้ทำการบูรณะวัดหนึ่งซึ่งในบันทึกของหมอแกมป์เฟอร์เรียกว่า วัดพระยาพระคลัง ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าคือ วัดสมณโกฎฐาราม กับวัดกุฎีดาว
แต่จากการเทียบแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ พบว่าตำแหน่งวัดพระยาพระคลังตรงกับ วัดประดู่ และ วัดโรงทาน หรือ วัดโรงธรรม
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงในคราวที่ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ "ขุนหลวงหาวัด" ผนวชและพำนักที่วัดประดู่นี้เป็นวันสุดท้าย ก่อนถูกกวาดต้อนไปอังวะภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310
เมื่อแรกรวมวัดเข้ากันในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเรียกชื่อวัดว่าวัดประดู่โรงธรรม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดประดู่ทรงธรรม" จนถึงปัจจุบัน อนึ่ง พื้นที่ของ "วัดประดู่ทรงธรรม" ในปัจจุบันคือพื้นที่ของวัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) ส่วนวัดประดู่ที่เป็นที่ผนวชของพระเจ้าอุทุมพรนั้น ตั้งอยู่เหนือวัดโรงทาน(วัดโรงธรรม)โดยมีคลองวัดประดู่กั้นระหว่างทั้ง2วัด ปัจจุบันวัดประดู่ยังเหลือซากวัดร้างอยู่ ส่วนคลองวัดประดู่ถูกถมบางส่วน
ในพระวิหารเก่าแก่ของวัด มีประธานสำคัญ อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน มีนามว่า หลวงพ่อรวย หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเรือง มีความสำคัญพร้อมทั้งความงดงามและยังคงความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะบูชาของชาวกรุงศรีอยุธยาตลอดจนผู้นับถือศรัทธาจากทั่วประเทศที่ได้มีโอกาสเข้าไปกราบสักการะขอพร
โดยลักษณะของพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ ในอดีต "วัดประดู่ทรงธรรม" เป็นแหล่งศิลปศาสตร์หลายแขนง อาทิ เช่น วิชาพุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีวิชาความรู้รอบตัวต่างๆ เช่น สูติศาสตร์ ตำราฟังเสียงสัตว์ร้อง เป็นต้น วิชาสัมมติศาสตร์ ตำรารู้กำเนิดเกิดเขาและไม่รู้ว่าชื่อนั้นๆมีสรรพคุณและโทษอย่างไรใช้ทำยาได้อย่างไร
สังขยาศาสตร์ ตำราการคำนวณเลข โยคศาสตร์ ตำราการเป็นช่าง นิติศาสตร์ ตำรารู้ที่จะเป็นครู สอนแบบแผนราชการประเพณี วิเสริกศาสตร์ ตำราเลี้ยงฝูงชนให้จำเริญศิริมงคล คณิตศาสตร์ ตำรานักขัตฤกษ์ และตำรากาลต่างๆ คันธัพพศาสตร์ ตำราลำนำเพลงขับร้อง ติกิจฉศาสตร์ ตำราคัมภีร์แพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับในด้านวิชาอาคม ที่หลายคนสนใจใคร่รู้นั้น การลงวิชาตะกรุด เป็นเครื่องรางและวิชาเด่นของสำนัก เช่น การลงตะกรุดมหาระงับปราบหงสา การลงตะกรุดนะฉัพพรรณรังสี ยันต์จักรพรรดิตราธิราช เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง