พระเครื่อง

"ตะกรุดดอกไม้ทอง" เครื่องราง ด้านเสน่หามหานิยม ตำรับ วัดบ้านแพน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จักเครื่องราง ตะกรุดดอกไม้ทอง วิชาเด่นของ หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน เกจิดังอยุธยา พุทธคุณ เสน่หามหานิยม ช่วยเรื่องค้าขาย ทำมาหากิน

 พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ หรือ “หลวงพ่อพูน" ฐิตสีโล อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในเกจิอาจารย์ที่ผู้ที่เคารพศรัทธา ให้ความนับถือ แม้ท่านจะมรณภาพไปเมื่อ 17 มกราคม 2562 แต่นามของท่านนั้น ยังเข้มขลังไม่เสื่อมคลาย 


หลวงพ่อพูน ท่านได้มีวัตถุมงคลหลายชนิด ให้ผู้สนใจได้เช่าบูชาสะสม หนึ่งในวัตถุมงคลชิ้นสำคัญ ที่หลายคนรู้จักท่าน นั่นคือ "ตะกรุดดอกไม้ทอง" วัตถุมงคล ทางเสน่ห์เมตตามหานิยม 

 

พระปฏิภาณ สุรปฏิภาโณ หรือ พระอาจารย์เบ๊นซ์ วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ย่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดการทำตะกรุดดอกไม้ทองมาจาก"หลวงพ่อพูน" ซึ่งรับวิชามาจากการจดจำ และเป็นผู้ช่วยจารตะกรุดตั้งแต่หลวงพ่อพูนยังดำรงขันธ์

"ตะกรุดดอกไม้ทอง" เครื่องราง ด้านเสน่หามหานิยม ตำรับ วัดบ้านแพน

 

จุดเริ่มต้นของตะกรุดดอกไม้ทอง พระอาจารย์เบ๊นซ์ ได้บอกเล่าจากสิ่งที่ได้รับฟังจากหลวงพ่อพูนว่า เมื่อสมัยท่านเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเป็นคู่สวด เวลาที่มีพระเข้ามาบวช มีพระรูปหนึ่งที่บวชกับท่านจะลาสิกขา ก็ได้มาของวัตถุมงคลเครื่องรางจากท่าน หลวงพ่อบอกว่าไม่มี 

พระที่จะสึกจึงว่า ท่นบวชมานาน ทำไมไม่มีเครื่องรางของขลังบ้าง หลวงพ่อพูนท่านก็รู้สึกอายจากคำพูดครั้งนั้น 

"สมัยนั้น คนบ้านแพนนิยมไปหาหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ต.จำปาหล่อ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ตัวหลวงพ่อท่านก็เคยไปหา ไปเช่าเครื่องรางของหลวงพ่อสนั่น ซึ่งเรียกว่า ตะกรุดดอกทอง จึงอยากจะขอเรียกวิชานี้ วันหนึ่ง หลวงพ่อสนั่น ได้รับนิมนต์มางานเทศน์ที่วัดบ้านแพน เพราะท่านเป็นพระนักเทศน์ 


หลวงพ่อพูนจึงได้เอ่ยปากกับหลวงพ่อสนั่นว่า จะขอเรียนตะกรุดดอกทอง ครั้งแรกหลวงพ่อสนั่นไม่สอนให้ เมื่อไม่สอนก็ไม่ว่าอะไร เพราะหลวงพ่อท่านเป็นคนไม่ง้อใคร จากนั้นก็นั่งคุยกัน จนไม่รู้ว่าคุยกันถูกคออย่างไร หลวพ่อสนั่นจึงเอ่ยปากว่า ว่าง ๆ ให้ไปที่วัดท่าน (วัดเสาธงทอง) อยากได้ตะกรุดดอกทอง ให้ไปที่วัด 


จากนั้น "หลวงพ่อพูน"ท่านก็นั่งเรือไปกับอีกหลายคน ไปที่วัดเสาธงทอง ซึ่งในความเป็นจริง หลวงพ่อสนั่นท่านไม่ใช่เจ้าอาวาสวัด เป็นพระลูกวัด ส่วนเจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อเขียว ซึ่งท่านเป็นเกจิดัง แต่ชราภาพมากแล้ว เวลานั้น ทางวัดจะสร้างโบสถ์ แต่หลวงพ่อเขียวท่านทำวัตถุมงคลไม่ไหว จึงเป็นหน้าที่หลวงพ่อสนั่น ใช้วิชาที่หลวงพ่อเขียวสอน จึงเริ่มสร้างตะกรุดดอกทองหลวงพ่อเขียวนั้น  ท่านมีชื่อเสียงด้านคงกระพันชาตรี แต่หลวงพ่อสนั่นท่านไม่ชอบจึงรับวิชาตะกรุดดอกทองมาทำ

"ตะกรุดดอกไม้ทอง" เครื่องราง ด้านเสน่หามหานิยม ตำรับ วัดบ้านแพน

ในยุคแรกของตะกรุดดอกไม้ทอง หรือ ดอกทอง ไม้ใช่รูปลักษณ์แบบที่หลวงพ่อพูนทำ แต่จะเป็นตะกรุดสำหรับคาดเอวจำนวน สามดอก ร้อยเชือกไว้ วิธีใช้ก็ว่าคาถาปลุกเสก แล้วก็นำมาคาดเอว รวมทั้ง ผู้ที่ได้วิชาตะกรุดดอกทองนั้น ไม่ได้มีเพียงหลวงพ่อพูนเท่านั้น ยังมีหลวงพ่อกุหลาบ วัดรางจระเข้ ต.บ้านโพธิ์ อ.เสนา


และอีกหลายท่าน แต่ไม่มีใครทำตะกรุดนี้แล้วมีชื่อเสียงและทำมากเท่ากับ"หลวงพ่อพูน" ท่านทำจริงจัง จึงทำให้คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี นับจากวันที่ได้เรียนวิชานี้มา ท่านได้ใช้การทำตะกรุดดอกไม้ทอง มาพัฒนาวัดบ้านแพนจนเจริญมาถึงปัจจุบัน 
 

ที่มาที่ไปที่ว่า ทำไมพระอาจารย์เบ๊นซ์ จึงได้เป็นรอีกท่านหนึ่ง ที่มีวิชาตะกรุดดอกไม้ทอง ท่านเล่าให้ฟังต่อไปว่า ด้วยความที่ครอบครัวท่านเป็นญาติกับ หลวงพ่อแม้น วัดหน้าต่างนอก ยายท่านเป็นลูกผู้พี่ หลวพ่อแม้นเป็นลูกผู้น้อง เวลาไปวัดหน้าต่างนอก ก็จะได้พบหลวพ่อพูนตลอด


และรู้สึกว่าชอบท่าน เพราะท่านดูแลใจดี กินหมาก ปากแดง ตัวขาว คุยเฮฮา ดูใจดี เวลามีพิธีสวดมนต์พุทธาภิเษก ก็จะเข้าไปหา เข้าไปกราบท่าน จนมีความคุ้นเคยในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงนั่งรถไปเช่าตะกรุดท่านที่วัด จากสามโคกไปบ้านแพนไม่ได้ไกลมาก พอไปบ่อยเข้า ก็กลายเป็นความสนิทสนมไปเอง 


เวลาเขาทำตะกรุดกันก็ไปดู ไปเป็นลูกมือเขาบ้าง จำยันต์ที่เขียนจารในตะกรุดไว้ แต่ยังไม่มีใครรู้ตนนั้น อ่าน เขียน อักขระขอมได้ จนมาช่วงหนึ่งที่มีละครเรื่อง คมแฝก ดัง และที่วัดบ้านแพนกำลังจะบูรณะกุฏิ ช่างได้เอาไม้สักมาบากเป็นคมแฝก ให้หลวงพ่อพูนลงยันต์ ซึ่งคนนิยมมาก เล่มละ 300 บาท นิยมกันจน"หลวงพ่อพูน" กับคณะพระในวัด จารคมแฝก และฝังตะกรุดสองดอกไม่ไหว จึงได้มาถามตนให้ช่วยงาน ตนจึงเริ่มจารให้เห็น และต่อมาก็กลายเป็นมือจารยันต์ให้หลวงพ่อพูน ในการจารตะกรุดดอกไม้ทอง 

สำหรับขั้นตอนพิธีการทำตะกรุดดอกไม้ทองนั้น พระอาจารย์เบ๊นซ์อธิบายว่า ของประกอบพิธีนั้นจะมี กล้วย 7  หวี เทียน 7 เล่ม ดอกไม้ 7 สี วัสดุสำหรับจารตะกรุด เทียนชัย 1 เล่ม ธุป 5 ดอก ระหว่างพิธี ธูปและเทียนต้องติดอยู่ตลอดเวลา ห้ามดับเด็ดขาด ส่วนผู้จารตะกรุด หากยังไม่ได้ทำพิธีเสกให้เสร็จสิ้น  ห้ามลุกจากพิธี ห้ามเข้าห้องน้ำเลย หากลุกออกจากการทำพิธี ของทั้งหมดถือว่าใช้ไม่ได้ทันที

ส่วนในปัจจุบันที่ทำออกมาเพื่อให้กับลูกศิษย์ของท่านนั้น ก็มีจำนวนมากไม่สามารถนับเป็นรุ่นได้ เพราะมีจำนวนมาก พุทธคุณของตะกรุดดอกไม้ทองนั้น เน้นทางด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย ทำมาหากิน พกไปไหนใครไม่เกลียด 
ส่วนในสมัยก่อน ที่ทำออกมานั้น เน้นหนักไปเรื่องผู้หญิง เรื่องทางเจ้าชู้ แล้วสมัยก่อนั้น จะเป็นดอกคาดเอว โดยหลวงพ่อพูนเล่าให้ฟังมาว่า ที่มีรูปลักษณ์พะนเชือกนี้ เป็นเพราะในสมัยที่หลวงพ่อสนั่นท่านทำเสร็จ ท่านก็จะผูกแบบเงื่อนลูกเสือ รวมแขวนไว้ข้างฝา ใครจะเช่าก็หยิบไป คลี่เชือกออก เสกคาถาแล้วคาดเอว ใช้เเสร็จก็พันเก็บไว้                                                                                                                                                                                                             
ยุค"หลวงพ่อพูน" ก็ยังมีการทำแบบคาดเอวอยู่ แต่คนที่ศรัทธาเริ่มไม่เอามาคาดเอว ไม่เป็นที่นิยม จึงใช้ทั้งดุ้นเชือก ใช้ทั้งที่พันเชือกไว้ จึงกลายเป็นตะกรุดดอกไม้ทองในรูปแบบอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ 

ด้านยันต์ที่ลงในตะกรุดสามดอกที่รวมเป็นตะกรุดดอกไม้ทองนั้น ดอกแรก จะเขียนยันต์ที่เกี่ยวกับการผูกจิตคน  ดอกที่สอง เป้นเรื่องเกี่ยวกับเสน่หา ดอกที่สาม ให้คนทั้งหลายรักใคร่ สำหรับข้อห้ามที่สำคัญของตะกรุดดอกไม้ทองนั้น หลวพ่อพูนห้ามคือห้ามลอดรูเข็มเย็บผ้า กับ ห้ามด่าคำหยาบคาย  สามารถนำติดตัวลอดใต้ถุน เข้าสถานที่อโคจร ใส่ร่วมประเวณี ไม่มีเสื่อม 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ