พระเครื่อง

พระร่วงนั่งเข่ากว้าง เนื้อชินเงิน  
กรุวัดเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย

พระร่วงนั่งเข่ากว้าง เนื้อชินเงิน กรุวัดเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย

03 มี.ค. 2553

เมืองศรีสัชนาลัย เป็นเมืองลูกหลวง หรือเมืองมหาอุปราช นับเป็นเมืองที่ใกล้ชิดกับสุโขทัยมากที่สุด กษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ที่ปกครองต่อมา ล้วนเคยครองเมืองนี้มาแทบทุกพระองค์

 พื้นที่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย มีเนินเขาย่อมๆ อยู่ ๒ เนิน ชื่อ เขาพนมเพลิง และ เขาสุวรรณคีรี บนยอดเขาได้สร้างวัดขึ้นมา เรียกชื่อว่า วัดเขาพนมเพลิง และวัดเขาสุวรรณคีรี

 วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดสูงประมาณ ๒๔ เมตร แต่เดิมมีสภาพเป็นป่าไม้รกทึบ มีทางขึ้นอยู่ ๒ ทาง คือ ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก  

 ทางขึ้นทั้ง ๒ นี้ ปูลาดด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง ๖ เมตร บริเวณวัดประกอบด้วยเจดีย์ทรงลังกา ฐานสูง ด้านหน้าเป็นวิหารขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๐.๕๐ เมตร ด้านหลังมีเจดีย์รายเล็กอีก ๓ องค์

 ถัดจากเจดีย์รายลงไป มีทางเดินลงมายังลานกว้าง ซึ่งมีมณฑปก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม ขนาดใหญ่พอสมควร แบบซุ้มพระขนาดเขื่อง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี

 วัดเขาพนมเพลิง เป็นวัดโบราณ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นแหล่งค้นพบโบราณวัตถุ ประเภทพระพุทธรูป และพระเครื่องชนิดต่างๆ จำนวนมาก โดยคนร้ายได้ยกขบวนลอบเข้าไปขุดกรุ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ พระเครื่องที่ขุดพบ มีทั้งเนื้อชิน และเนื้อดิน ร่วมร้อยแบบพิมพ์ หลากหลายด้วยศิลปะ

 พระเนื้อชิน ที่ขุดพบ ส่วนมากเป็น เนื้อชินเงิน มีคราบปรอทขาววาววับ สวยงามมาก ในกรุนี้มีพระพิมพ์นั่งพิมพ์หนึ่ง ที่มีความแตกต่างกับพระพิมพ์นั่งกรุอื่นๆ ที่ขุดพบมากมายหลากหลายพิมพ์ โดยมีความแตกต่างกันในด้านรูปทรงขององค์พระ ซึ่งผิดจากพระพิมพ์นั่งทั่วๆ ไป คือ พระร่วงนั่งเข่ากว้าง กรุวัดเขาพนมเพลิง

 พระร่วงนั่งเข่ากว้าง กรุวัดเขาพนมเพลิง มีพุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งแบบปางมารวิชัย โดยไม่มีฐานรองรับ พระพิมพ์นี้มีพระเพลา (เข่า) ด้านซ้ายขององค์พระยาวกว่าฝั่งด้านขวา จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ว่า พระร่วงนั่งเข่ากว้าง

 พุทธศิลป์องค์พระเรียบง่าย ไม่มีเครื่องทรงใดๆ ประดับ แลเห็นเพียงเส้นสังฆาฏิเท่านั้น พระพักตร์คมชัด ลักษณะเรียวยาว เหนือพระขนงถึงไรพระศก (หน้าผาก) มีช่วงสูงยาวมาก พระเกศมีเม็ดพระศกแบบเม็ดใหญ่ชัดเจน

 ด้านหลังแบบเรียบตรง พร้อมมีลายผ้าแบบลายใหญ่ ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๒.๙๐ ซม. ความสูงประมาณ ๓.๓๐ ซม.

 พระพิมพ์นี้มีการขุดพบอีกแห่งหนึ่งที่เมืองกำแพงเพชร กรุวัดมหาธาตุ (ชากังราว) เป็นพระพิมพ์เดียวกัน แต่เนื้อหาองค์พระของเมืองกำแพงเพชร จะขาวสู้ของกรุวัดเขาพนมเพลิงไม่ได้

 พุทธคุณ เน้นทางด้านความสมบูรณ์พูนสุข โชคลาภ และแคล้วคลาดปลอดภัย
 สนนราคาเช่าหา พระสภาพปานกลาง อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ถ้าสวยสมบูรณ์ อยู่ที่หลักหมื่นกลาง พระพิมพ์นี้ของทั้ง ๒ เมือง มีความนิยม และราคาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้สุดแท้แต่ความสวยงามของสภาพองค์พระเท่านั้น

 ในจำนวนพระหลากหลายพิมพ์ของกรุวัดเขาพนมเพลิง ยังได้พบ พระพิมพ์นั่ง อีกพิมพ์หนึ่ง ที่มีขนาดเล็กมาก เหมาะสำหรับสุภาพสตรีและเด็กเล็กไว้บูชาประจำตัว เนื่องจากมีน้ำหนักเบา และมีพุทธคุณเทียบชั้นพระหลักยอดนิยมต่างๆ ของกรุนี้ได้ดีทัดเทียมกัน คือ พระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดเขาพนมเพลิง เนื้อหาองค์พระจะเต็มไปด้วยสนิมตีนกา และผิวเกล็ดกระดี่ อยู่ทั่วทั้งองค์พระ

 พระพิจิตรข้างเม็ด พุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัย ไม่มีฐานรองรับ อยู่ในซุ้มขีดเว้าสามเหลี่ยมรอบองค์พระ และนอกซุ้มองค์พระประดับด้วยเม็ดไข่ปลาเล็กๆ ทั่วองค์พระ จึงเป็นที่มาของชื่อพระว่า พระพิจิตรข้างเม็ด เป็นพระที่มีขนาดบางมาก ทำให้พระมีน้ำหนักน้อยและเบามาก ด้านหลังองค์พระมีรอยหลังลายผ้าแบบลายละเอียดเล็กๆ พร้อมขี้กรุบางๆ สวยงามมาก

 พระพิจิตรข้างเม็ด เมืองสุโขทัย เป็นพระพิมพ์เดียวกับ พระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดบ้านกล้วย เมืองพิจิตร ผิดกันที่ของวัดบ้านกล้วยพิจิตร จะมีความหนากว่า และเป็นพระสนิมตีนกา ผิวเกล็ดกระดี่ ส่วนของกรุเขาพนมเพลิงบางกว่า และมีผิวปรอทมากกว่า

 ด้านพุทธคุณ ไม้แพ้กับของกรุวัดบ้านกล้วย คือ ยอดเยี่ยมทางด้านคงกระพัน และแคล้วคลาด ขนาดองค์จริงสูงประมาณ ๑.๕ ซม. กว้างประมาณ ๑.๒ ซม.

 ราคาเช่าหา สภาพปานกลาง หลักพันกลางถึงพันปลายๆ สภาพสวยสมบูรณ์ หลักหมื่นต้นๆ ขึ้นไป

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"