พระเครื่อง

โล่ประกวดพระ 
คุณค่าแห่งรางวัลที่..."แปรตามกาล"

โล่ประกวดพระ คุณค่าแห่งรางวัลที่..."แปรตามกาล"

09 ก.พ. 2553

“รายได้และความสำเร็จ” ของการประกวดและอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ มาจากหลายๆ ส่วนรวมกัน ทั้งนี้ หากจะพิจารณาความสำเร็จของการจัดงานประกวดที่แท้จริงแล้ว รายได้การจำหน่ายกล่องพระ หรือ ค่าส่งพระเข้าประกวด เท่านั้นที่จะบ่งบอกว่างานประกวดพระนั

 พ.อ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ หรือ จ่าโกวิท เจ้าของร้านและหนังสือพระเครื่องอภินิหาร ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือและวงการประกวดพระเครื่องมากว่า ๓๐ ปี บอกว่า โล่รางวัลงานประกวดพระเครื่องมีการพัฒนามาอย่าต่อเนื่อง ในระยะแรกของการจัดงานประกวดพระเครื่องนั้น จะมีการมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดทุกประเภท ทุกรายการ โดยจะบอกทั้งชื่อของพระที่ส่งเข้าประกวดและชื่อผู้ส่งพระเข้าประกวด ส่วนเหตุที่สามารถมอบโล่ให้ทุกรายการนั้น เพราะการประกวดพระมีประมาณ  ๓๐๐-๕๐๐ รายการเท่านั้น จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นถ้วยรางวัล ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นหนังสือรางวัล

 อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำหนังสือพระเครื่องเพื่อเป็นโล่รางวัลในระยะแรกๆ นั้น จะเป็นหนังสือพระเล่มเล็กๆ ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก เช่น หนังสือรวมภาพพระหลวงปู่ทวด พระหลวงพ่อสด ฯลฯ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นหนังสือรวมภาพพระชนะการประกวดแต่ละรายการ ทั้งนี้ผู้จัดงานจะมอบบัตรให้มารับหนังสือให้หลังจากงานประกวดประมาณ ๓ เดือน ในระยะหนึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้ส่งพระเข้าประกวดมาก แต่ปรากฏว่าผู้จัดงานส่วนใหญ่ไม่จัดทำหนังสือและส่งมอบให้ตามกำหนดเวลา นักล่าโล่จึงไม่ส่งพระเข้าประกวด ภายหลังผู้จัดงานต้องจัดพิมพ์หนังสือให้เสร็จสิ้นและมอบให้ภายหลังงานประกวดพระทันที นักล่าโล่จึงกลับมาส่งพระเพิ่มขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 “โล่รางวัลทุกชนิด ตั้งแต่ถ้วยพระราชทานฯ โล่บุคคลสำคัญ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ จักรยานยนต์ ทองคำ รวมทั้งหนังสือรางวัล ล้วนมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนส่งพระเครื่องเข้าประกวด ส่วนอะไรจะดีกว่ากันนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคสมัย แต่คงไม่มากกว่าเครื่องใช้ไม้สอยอย่างที่มอบกันในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดงานควรให้ความสำคัญของโล่รางวัล ถ้าอยากประสบความสำเร็จในการจัดงานประกวดพระ” จ่าโกวิทกว่า

 ทางด้านนายนำชัย กอบเกื้อกูล นักล่าโล่รางวัลงานประกวดพระเครื่องมากว่า ๒๐ ปี พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “โล่รางวัลในยุคแรกๆ ที่เข้ามาสู่วงการประกวดพระเครื่อง จะมีความภาคภูมิใจมากกับการได้รับโล่พระราชทานฯ จากนั้นก็กลายเป็นหนังสือรวบรวมภาพชนะการประกวดพระเครื่อง หนังสือรวบรวมภาพชนะการประกวดพระเครื่อง มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นการฟ้องหรือบอกกับสาธารณชนว่า กรรมการตัดสินพระเครื่องแต่ละรายการนั้น มีความเป็นกลาง และเป็นธรรมต่อการตัดสินพระมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นการโชว์ทั้งรูปพระและบอกว่า เจ้าของพระเป็นใคร ขณะเดียวกันยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ส่งพระเข้าประกวดด้วย แต่หนังสือประเภทนี้ได้รับความนิยมอยู่ในหมู่ของผู้ส่งพระเข้าประกวดเท่านั้น การจะนำไปขายเป็นทุนเพื่อส่งพระเข้าประกวดในครั้งถัดๆ ไปเป็นเรื่องยาก สู้หนังสือโล่รางวัลที่จัดทำในยุคนี้ไม่ได้ บางเล่มมีการหาซื้อกันหลักพันในขณะที่ค่าส่งพระเข้าประกวดรายการละ ๓๐๐ บาท เท่านั้น นักล่าโล่จึงอยากส่งพระเข้าประกวด”

 ในขณะที่ นายวิศักดิ์ ลิ้มปิติเรืองกิจ ประธานชมรมพระเครื่อง จ.น่าน และเพื่อน บอกว่า รางวัลรวมผู้ชนะงานประกวดพระเครื่องทุกรายการ รวมทั้งโล่รางวัลและรายการที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือพระเครื่องถือว่าเป็นรางวัลที่นักล่าโล่ต้องการ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการจัดทำหนังสือพระเครื่องเพื่อเป็นโล่รางวัลมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ หนังสือพระเครื่องหลายเล่มทำดีเยี่ยม ส่งผลให้นักล่าโล่อยากส่งพระเข้าประกวด นอกจากนี้ ยังสามารถจำหน่ายได้ราคา บางเล่มขายได้ถึง ๕,๐๐๐ บาทต่อเล่ม เงินจำนวนนี้สามารถนำไปเป็นทุนประกวดพระในงานต่อๆ ไป

ตำนานแห่งหนังสือรางวัลประกวดพระ
 หนังสือ สุดยอดพระยอดนิยม ที่จัดทำโดย ชมรมพระเครื่องท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นโล่รางวัลในงานประกวดพระเครื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ ถือว่าเป็นการสร้างความฮือฮาให้วงการจัดทำหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง หลังงานประกวดพระเสร็จสิ้นลง มีการซื้อหากันในราคาเล่มละกว่า ๑,๐๐๐ บาท และปัจจุบันนี้ มีการซื้อหากันในราคาสูงถึง ๓,๕๐๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องแพงที่สุด

 แต่ถ้าเป็นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องที่มีการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ โดย อาจารย์ช่าง สะพานพุทธ ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ชนะเลิศงานประกวดพระสนามต่างๆ และได้รับความนิยมอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาหนังสืออยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท จากนั้นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

 น.ส.อรวรรณ แสนประเสริฐ หรือ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ เจ้าของแผงขายหนังสือพระเครื่อง และวัตถุมงคลที่เปิดดำเนินการมากว่า ๓๐ ปี บอกว่า เหตุผลที่ทำให้หนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องได้รับความนิยมไม่เท่ากันนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของคณะผู้จัดพิมพ์เป็นหลัก หนังสือพระที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ใด หรือใครเป็นผู้จัดพิมพ์

 เหตุผลแรกที่ผู้อ่านให้ความสำคัญ คือ ต้องเป็นภาพพระแท้ทั้งเล่ม หากหนังสือเล่มใดมีภาพพระปลอมปรากฏ ซึ่งบางเล่มมีภาพพระปลอมนับสิบภาพ ผู้อ่านจะเข้าใจว่า ผู้จัดทำนั้นไม่มีความรู้เรื่องพระจริง โดยมีการพูดกันแบบปากต่อปาก ในที่สุดก็ทำให้หนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ได้รับความนิยม

 นอกจากนี้แล้ว การทำหนังสือต้องทำขึ้นมาเพื่อเป็นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องเท่านั้น บางรายเห็นว่าตลาดหนังสือประเภทนี้ไปได้ดี จึงพิมพ์เผื่อออกมาขายด้วย คนจึงไม่ค่อยสนใจซื้อกันเท่าใดนัก

 “หนังสือรวบรวมภาพชนะการประกวดพระเครื่อง มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นการฟ้อง หรือบอกกับสาธารณชนว่า กรรมการตัดสินพระเครื่องแต่ละรายการนั้น มีความเป็นกลาง และเป็นธรรมต่อการตัดสินพระมากน้อยเพียงใด”

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"