พระเครื่อง

เสือปลอม-ปลอมเสือ
หลวงปู่แย้ม วัดตะเคียน จ.นนทบุรี

เสือปลอม-ปลอมเสือ หลวงปู่แย้ม วัดตะเคียน จ.นนทบุรี

11 มี.ค. 2552

จากกระแสความแรงของเสือวัดตะเคียน รุ่น ๑ ของ หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ เจ้าอาวาสวัดตะเคียน ถนนนครอินทร์ (พระราม ๕) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

  ที่มีพุทธคุณมากหลาย ทั้งคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น จึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมวัตถุมงคลเป็นอย่างมาก

 แต่จากที่ราคาเล่นหาแพงขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนของเสือรุ่น ๑ ก็มีไม่มาก จึงเกิดการเรียกร้องให้ทางวัดตะเคียนจัดทำรุ่น ๒ ขึ้น

 คณะกรรมการวัด จึงขออนุญาตจากหลวงปู่แย้ม ขอจัดสร้างเสือรุ่น ๒ นี้ขึ้นเพื่อนำรายได้ไปใช้ในการทำนุบำรุงอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งตอนปี ๔๙ นั้นได้ถูกน้ำท่วม มีดำริให้ยกอุโบสถขึ้นให้สูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมได้อีก

 เสือรุ่น ๒ นี้ ถอดแบบออกมาจากเสือรุ่น ๑ แต่ว่าลำตัวจะผอมกว่าเสือรุ่น ๑ เล็กน้อย ยังคงมีห่วงที่กลางหลังเหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุจากตะกั่วมาเป็นเนื้อทองเหลือง เพื่อลดการชำรุดของเสือ

 จำนวนที่จัดสร้างในครั้งนั้น ประมาณหนึ่งพันองค์เศษ ราคาที่เปิดให้เช่าบูชาที่วัดอยู่ที่องค์ละ ๕๐๐ บาท

 ส่วนที่มาของการเรียกขานเสือวัดตะเคียนว่า “เสือปืนแตก” นั้น ก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเสือรุ่น ๒ นี้เอง ก็จากที่ว่ามีลูกศิษย์ของหลวงปู่ได้อาราธนาเสือรุ่น ๒ ใส่ขึ้นคอ แล้วไปพบกับคู่อริเข้าในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง คู่อริได้ชักปืนคู่กายออกมาหมายจะปลิดชีวิตของชายผู้นั้น แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเขาลั่นไกปืนในมือของเขา กระบอกปืนก็ได้แตกกระจายออก เป็นที่น่าตื่นตะลึงแก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งนัก

 เรื่องราวในครั้งนั้นก็ได้ส่งให้เสือของวัดตะเคียนได้รับการขนานนามว่า “เสือปืนแตก” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ราคาขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว

 จากความแรงแบบฉุดไม่อยู่ของเสือวัดตะเคียน ทั้งรุ่น ๑ และรุ่น ๒ ก็ทำให้เกิดกระแสเสือปืนแตก ฟีเวอร์ขึ้น ทั้งที่ว่า เสือรุ่น ๒ ราคาสูงกว่าเสือรุ่นแรกมากถึงเกือบห้าเท่า แต่ก็ไม่ทันไร เสือรุ่น ๒ ก็หมดไปจากวัดตะเคียนในเวลาอันรวดเร็ว

 คณะกรรมการวัด จึงขอนุญาตหลวงปู่ ขอจัดสร้างเสือรุ่นที่ ๓ ขึ้น แต่จากรูปแบบที่ออกมาใน ๒ รุ่น ก่อนยังไม่ค่อยมีเอกลักษณ์ใดๆ ว่า เป็นเสือของหลวงปู่แย้ม ดั่งเช่นเสือของคณาจารย์ท่านอื่นๆ

 คณะกรรมการจึงให้ช่างศิลป์มาออกแบบเสือให้ใหม่ ก็ได้มีการปั้นหุ่นเสือรุ่น ๓ นี้ออกมา แล้วก็มีการแก้ไขอีกหลายต่อหลายครั้ง กว่าจะได้ออกมาสวยสมใจคณะกรรมการ

 เสือวัดตะเคียนรุ่น ๓ เนื้อทองเหลือง ไม่แช่น้ำมนต์ เป็นเสือรุ่น ๓ ที่นำออกให้บูชาตั้งแต่เริ่มแรก หลวงปู่แย้มท่านได้อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว ราคาที่ให้เช่าบูชาครั้งแรก ๑๙๙ บาท
 
 ส่วนเนื้อทองเหลืองแบบแช่น้ำมนต์ เมื่อตอนหลังของใกล้จะหมดจากวัดไปนั้น ให้เช่าบูชาอยู่ที่ราคา ๓๐๐ บาท และเสือรุ่น ๓ เนื้อนวโลหะ เนื้อนวโลหะนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้ในการยกศาลาการเปรียญ จำนวนการสร้างในครั้งนั้น อยู่ที่ ๗๙๙ ตัว มีหมายเลขตอกที่ขาหลังข้างขวาของเสือทุกตัว ราคาจองตอนนั้น องค์ละ ๔๙๙ บาท

 อย่างไรก็ตาม หลังจากเสือรุ่น ๓ บางเนื้อได้หมดไปจากวัด โดยเฉพาะเนื้อทองเหลือง แบบแช่น้ำมนต์และไม่แช่น้ำมนต์ ราคาก็ขยับขึ้นไปถึง ๘๐๐-๑,๕๐๐ บาท

 ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ เสือหลวงปู่แย้มของปลอม มีออกมาวางขายในตลาดพระใหม่ เช่น ที่ตลาดพระพญาไม้ พิมพ์ได้เหมือนมากพิมพ์ชัด โดยผู้เช่าเข้าใจว่า ได้ตัวต้นแบบไปจากวัด ราคาเล่นกันที่ ๑,๒๐๐ บาททีเดียว มีสองร้านอยู่ที่ตลาดแห่งนี้

 นอกจากนี้ ยังพบเสือหลวงปู่แย้มของปลอม ที่ตลาดน้ำไทรน้อย (วัดไทรใหญ่) อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี แผงพระใหม่ที่สวนจตุจักร กทม. และที่ไกลสุดต้องยกให้แผงพระใหม่ใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    พระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือ หลวงพี่สงบ เลขานุการหลวงปู่แย้ม บอกว่า การจะเอาผิดคนปลอมเสือหลวงปู่แย้มเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ที่ถูกปลอมมาแล้ว แน่นอนที่สุดว่า ด้วยเหตุนี้จึงอยากแนะนำให้ผู้เช่าพิจารณาให้ดี เพราะอย่างไรเสีย ฝีมือการทำปลอมยังห่างไกลของจริงมาก

 เช่าของแพงแต่ได้ของแท้ ดีกว่าเช่าของถูก แต่ได้ของปลอม เมื่อเช่าของปลอมวัตถุมงคลนั้นย่อมไม่มีพุทธคุณ ไม่ต่างจากการแขวนโลหะหรือดิน

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู" 
    


   คำแนะนำจากเซียนพระ


 “พระเครื่องทั้งที่เป็นเนื้อผง และเนื้อโลหะ รวมทั้งเครื่องรางของขลัง เมื่อใดก็ตามที่ได้รับความนิยม และมีราคา ก็จะต้องมีของปลอมตามมาเป็นธรรมดา ส่วนรุ่นใดมีการทำปลอมมากที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับความนิยมขณะนั้นๆ กรณีการทำเสือหลวงปู่แย้มรุ่น ๓ ของปลอมนั้น เป็นไปลักษณะเดียวกับการทำจตุคามรามเทพปลอมในกระแสจตุคามขาขึ้น เมื่อคนทำปลอมเห็นว่า อะไรขายได้ก็ทำขึ้นมา"

 นี่คือความเห็นของ นายเสมอ งิ้วงาม หรือ ป๋อง สุพรรณ เลขานุการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

 อย่างไรก็ตาม ป๋อง สุพรรณ ยังบอกด้วยว่า การทำพระปลอม หรือพระเก๊ ออกมาให้เช่าบูชานั้น มีกันมาตั้งแต่พระเครื่องเริ่มมีราคาเช่าหากัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พระบางองค์มีอายุปลอมเฉียดๆ ๑๐๐ ปี

 ด้วยเหตุนี้ ภาษาเซียนพระ โดยเฉพาะในหมวดของคำที่เกี่ยวข้องกับ "พระเก๊" หรือ "พระปลอม" จะมีการคิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมามากที่สุด ที่นิยมใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ชุกซัว ซาลูตู้ ดุ๊ย พระไม่มีพุทธคุณ พระไม่ถึงยุค ไม่ถนัด และ กระตู้ฮู้

 สำหรับผู้ที่อยากได้พระเครื่องและเครื่องรางสร้างใหม่นั้น หากเกจิอาจารย์รูปนั้นๆ ยังมีชีวิตอยู่ อยากจะแนะนำ ให้เช่าวัตถุมงคลประเภทอื่นๆ ที่เสกในคราวเดียวกัน อย่างน้อยก็สามารถรับประกันเรื่องพุทธคุณได้ว่ามีแน่ หรืออาจขอให้อดใจรอรุ่นถัดไป รวมทั้งเช่าเนื้ออื่นๆ แทนได้ เพระอย่างน้อยก็ขึ้นชื่อว่า เป็นของแท้ ที่สำคัญ คือ การเช่าจากวัดโดยตรงนอกจากเงินเข้าวัดเต็ม ๑๐๐% ยังได้ของแท้ ๑๐๐% ด้วย