พระเครื่อง

พระยอดอัฏฐารสกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจ.พิษณุโลก

พระยอดอัฏฐารสกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจ.พิษณุโลก

06 ม.ค. 2553

ในวงการพระเครื่อง นักนิยมสะสมพระเครื่องต่างรู้จัก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก กันเป็นอย่างดี ในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องยอดนิยมที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยเฉพาะ พระพุทธชินราชใบเสมา อันถือว่าเป็นพระยอดนิยมชั้นนำ ๑ ใน ๕ ของพระชุดเบญ

นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่องยอดนิยมอีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งขุดพบจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. พิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะพิเศษตรงที่เป็น พระเนื้อชินเขียว และเป็นสุดยอดของพระประเภทเนื้อชินเขียว ที่วงการยกย่องให้เป็นอันดับหนึ่ง นั่นคือ  พระยอดอัฏฐารส พระเครื่องศิลปะสุโขทัย โดยขุดพบจากยอดพระเศียรพระอัฏฐารส และบริเวณฐานขององค์พระ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของวิหารคดของพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. พิษณุโลก

 พระอัฏฐารส องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางห้ามญาติ สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏศักราชที่แน่นอน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๗

 พระอัฏฐารส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ที่เห็นในทุกวันนี้ บางส่วนขององค์พระโดยเฉพาะพระเศียร พระพักตร์ เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะก่อนหน้านี้ องค์พระได้ถูกทำลายจนเสียหาย การซ่อมแซมในครั้งนั้น ทำให้ความงดงามของพระพุทธรูปเดิม ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง

 เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๐ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีคนร้ายจำนวนหนึ่งลอบเข้าไปขุดหาของเก่าในบริเวณวัด และที่องค์พระอัฏฐารส  คนร้ายได้ปีนขึ้นไปทำลายพระเกศ เจาะพระเศียรเพื่อเอาพระเครื่อง พระบูชาที่บรรจุบนพระเศียรไปเป็นสมบัติของตัวเอง

 ในสมัยโบราณ นอกจากบรรจุพระไว้ในกรุเจดีย์แล้ว ยังนิยมบรรจุไว้ภายในพระเศียรพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ด้วย แม้แต่ที่บริเวณฐานหรือบางส่วนขององค์พระก็ยังมีผู้ขุดพบพระเครื่องอยู่ด้วย จึงเกิดการลักลอบเจาะทำลายค้นหาพระเครื่อง เป็นเหตุให้พระอัฏฐารสต้องชำรุดเสียหาย

 การที่ได้พบพระเครื่องบนยอดพระเศียรพระอัฏฐารส ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อพระเครื่องพิมพ์นี้ พระยอดพระอัฏฐารส เป็นพระที่มี ๒ หน้า ขนาดขององค์พระ มีทั้ง พิมพ์ใหญ่  พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก

 พุทธลักษณะ เป็นพระ ๒ ด้าน ด้านหน้าเป็นพระปางลีลา ด้านหลังเป็นพระซุ้มอรัญญิก บางองค์เป็นพระลีลาทั้ง ๒ ด้านก็มี บางองค์ด้านหน้าเป็นพระลีลา ด้านหลังเป็นพระพุทธ ก็มี        
 
   กรอบองค์พระ เป็นรูปโค้งมนแบบยาวรี บางพิมพ์จะตัดชิดเว้าเข้าหาซุ้มองค์พระ ด้านหน้าเป็นพระปางลีลา ประทับยืนบนฐานตรงแบบเอียงข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายประทับตรง ส่วนปลายพระบาทขวาไขว้เอียงไปด้านหลัง

 พระกรและพระหัตถ์ซ้าย ทอดวางแนบลงมาตรงๆ ส่วนพระกรและพระหัตถ์ขวา ยกสูงขึ้นเสมอพระอุระ รอบองค์พระประดับด้วยจุดเม็ดกลมเล็กคล้ายเม็ดไข่ปลาล้อมรอบเป็นซุ้ม ด้านหลังทำเป็นซุ้มอรัญญิก แบบซุ้มเสมาทิศ ที่มีองค์พระพุทธประทับปางมารวิชัย บนฐานตรง อยู่ในซุ้มเสมาทิศยอดมหาอุณาโลม นับว่าเป็นประติมากรรมแบบพิเศษในสมัยโบราณกาล บรรจงประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรงดงามมาก

 พระยอดอัฏฐารส ทุกพิมพ์สร้างด้วย เนื้อชินเขียว หรือ ชินแข็ง เป็นเนื้อโลหะผสม ระหว่าง ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี พลวง เหล็ก ปรอท และเงิน ทำให้เนื้อพระมีความแข็ง คงทน ไม่สึกง่าย และไม่มีรอยระเบิด หรือรอยรานแตกร้าวปรากฏให้เห็น

 พระเนื้อนี้จะมีสนิมไขมันใสเป็นเม็ด คล้ายไข่แมงดา เรียกว่า สนิมไข่แมงดา เกาะติดฝังลึกแน่น ไขชนิดนี้เกิดจากภายในเนื้อองค์พระออกมา พร้อมมีฝ้าสีเหลืองอ่อนปกคลุมทั่วองค์พระ และมีสนิมปานดำ หรือ กระ ที่มีสีเข้มเป็นจุดดำเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เป็นปื้นกินลึกเข้าไปในเนื้อโลหะ กระ ที่ว่านี้ไม่สามารถขัดถูออกได้  

 พระเนื้อชินเขียว มีการเช่าหากันมาตั้งแต่ดั้งเดิม พิมพ์ที่ได้รับการยอมรับ และเล่นหาสะสมกันมานานปี ถือเป็นมาตรฐานสากลนิยม มีอยู่เพียง ๒ พิมพ์เท่านั้น คือ พระร่วงยืนทรงเกราะ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย และ พระยอดอัฏฐารส กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อันเป็นพระเนื้อชินเขียวที่คนรุ่นเก่านิยมกันมาก กล่าวกันว่า ราคาเช่าหาในสมัยก่อนสูงมาก เทียบเท่ากับพระสมเด็จ วัดระฆัง สุดยอดแห่งชุดเบญจภาคี  

 นอกจากนี้ พระพิมพ์อัฏฐารส ยังมีการขุดพบที่ จ.สุพรรณบุรี อีกด้วย แต่ลักษณะพิมพ์ทรงองค์พระ และเนื้อหามวลสารแตกต่างกัน

 พระอัฏฐารส ของเมืองพิษณุโลก เป็นพระที่เยี่ยมยอดในพุทธคุณทุกด้าน โบราณเชื่อถือมาช้านาน บูชาขึ้นคอได้อย่างมั่นใจแน่นอน ราคาเช่าหา ทุกพิมพ์หลักหมื่นขึ้นไป สุดแล้วแต่พิมพ์ที่นิยมเล่นหากัน บางพิมพ์ที่เป็นพิมพ์ใหญ่นิยม ราคาสูงถึงหลักแสนขึ้นไป

 บางท่านที่ชื่นชอบ "พระยอดอัฏฐารส" พิมพ์นี้ เนื้อนี้  ถึงกับไม่ยอมปล่อยต่อก็มี
 
ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ