พระเครื่อง

'พระร่วงเจ้า' จักรพรรดิพระเครื่องเนื้อชิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักสะสมพระเครื่องหลายท่าน ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่า โดยเฉพาะผู้ที่พิสมัยพระกรุนั้น ต้องมีความใฝ่ฝันที่จะได้พระเครื่องกรุหนึ่ง ที่ถูกขนานนามว่า “พระร่วง” ไม่ว่าจะเป็นพระร่วงนั่ง พระร่วงยืน กรุนั้น จังหวัดโน้น ก็ยังเรียกพระร่วงเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว จะ

 “พระร่วง” มีตัวตนทั้งในพงศาวดารและประวัติศาสตร์ หากจะยกประวัติศาสตร์มาอ้างอิง ต้องยกจากพงศาวดารโยนก ที่กล่าวถึงตอนพญาเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ในคราวนั้น ได้เชิญกษัตริย์ต่างๆ ซึ่งเป็นพระสหาย ๒ พระองค์ คือ พระร่วง จากเมืองสุโขทัย กับพญางำเมือง จากเมืองพะเยา  ไปเพื่อปรึกษาบูรณะเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ ทั้งนี้จากการเทียบเคียงแล้ว พระร่วงจากเมืองสุโขทัย ก็คือ พ่อขุนรามคำแหง นั่นเอง

 อย่างไรก็ตาม คำว่า “พระร่วง” นี้ นักประวัติศาสตร์เมื่อรวบรวมหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็มักพบว่า ผู้คนภายในเขตสุโขทัย หรือบ้านเมืองแว่นแคว้นอื่น มักเรียกพระมหากษัตริย์ของสุโขทัยในนามว่า "พระร่วง" ซึ่งเป็นนามที่รู้จักไปอย่างกว้างขวาง ของผู้คนกลุ่มไทย ในสมัยโบราณ

 เชื้อสายของวงศ์พระร่วงนี้ สืบทอดยาวนานตลอดสมัยสุโขทัย จนตกอยู่ใต้ปกครองของอยุธยาแล้ว ก็ยังปรากฏอยู่ ผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างอาณาจักร

 สัญลักษณ์ หรืออนุสรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์พระร่วง ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่า คือรูปพระร่วง-พระลือ ในซุ้มพระร่วง-พระลือ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ตามความเชื่อของคนรุ่นเก่าแก่ใน จ.สุโขทัย ระบุว่า “ที่นี่คือ นิวาสถานดั้งเดิม หรือต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วง” จึงทำให้มีโบราณสถานหลายแห่ง ที่ถูกขนานนามว่า “พระร่วง” เช่น กุฏิพระร่วง สวรรคโลก  ถนนพระร่วง จากสุโขทัย ถึงกำแพงเพชร 

 นอกจากนี้แล้ว โบราณสถานหลายแห่ง รวมทั้งวัดวาอาราม ที่พบพระเครื่อง ทั้งนั่ง ทั่งยืน จึงได้ถูกขนานนามว่า พระร่วงนั่ง และพระร่วงยืน และต่อมาก็มีการพบพระที่มีลักษณะพิมพ์ทรงคล้ายๆ กัน อีกหลายกรุ หลายจังหวัด จึงมีการเรียกพระที่มีพุทธลักษณะดังกล่าวว่า “พระร่วง” ต่อๆ กันมาเกือบทุกจังหวัด

 จากข้อมูลดังกล่าว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ที่มาของคำว่า “พระร่วง” นั้น มาจากสุโขทัย ซึ่งมีพระเครื่องมากมายหลายพิมพ์ทรง และในจำนวนนี้มีสุดยอดพระเครื่องที่นักสะสมยกให้เป็นจักรพรรดิพระเครื่องเนื้อชิน นั่นคือ พระร่วงยืนประทานพร หลังรางปืน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของพระร่วงยืนทั้งหมด และยังมีอีกหลายกรุ ที่มีรูปลักษณะ มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกัน คือ

 ๑. พระร่วงยืนประทานพร หลังรางปืน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย  เป็นพระที่พบจากพระปรางค์องค์ใหญ่ ของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ไม่น่าจะเกิน ๒๐๐ องค์

 พุทธลักษณะ เป็นพระร่วงยืนปางห้ามญาติ (บางท่านเรียกปางยืนประทานพร) มีซุ้มเรือนแก้วครอบอยู่รอบองค์พระ เป็นแบบพิมพ์ที่คล้ายๆ กับพระร่วงยืนสนิมแดงหลายๆ กรุ

 แต่เอกลักษณ์สำคัญของพระร่วงหลังรางปืน คือ ด้านหลังเป็นลายกาบหมากหยาบๆ ประทับติดกัน ๒ แบบ คือ แบบร่องลึก กับ แบบร่องตื้น

 ในครั้งแรกของการเรียกชื่อพระกรุนี้จะเรียกว่า พระร่วงหลังกาบหมาก แต่ต่อมาเห็นว่า ร่องด้านหลังคล้ายกับร่องปืนแก๊ป

 ขณะเดียวกัน หลายคนไปลองใช้ หรือทดลอง ปรากฏเห็นพุทธคุณได้อย่างชัดเจนด้านมหาอุด แคล้วคลาดจากอันตราย จากปืนผาหน้าไม้ จึงพร้อมใจขนานนามว่า “พระร่วงหลังรางปืน” ซึ่งเป็นพระที่สร้างด้วยเนื้อตะกั่ว ผิวพรรณเป็นสนิมแดง ออกสีลูกหว้าสลับเนื้อแดงเข้ม พบไขขาวปกคลุมหนาๆ อยู่บริเวณองค์พระมากกว่ากรุอื่น ส่วนเนื้อชินก็มีพบบ้างเล็กน้อย องค์จริงมีขนาดสูงประมาณ ๘ ซม. กว้างประมาณ ๒.๕ ซม.

 ๒.พระร่วงยืนหลังลายผ้า เมืองลพบุรี มีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ซึ่งเรียกว่า พิมพ์นิยม และพิมพ์เล็ก ส่วนพระร่วงพิมพ์อื่นๆ ที่แตกกรุขึ้นมาพร้อมกัน ที่มิใช่พระร่วงหลังลายผ้า ก็มีพุทธลักษณะ พระร่วงยืนหลังลายผ้า เป็นศิลปะลพบุรีโดยแท้ องค์พระยืนประทานพร ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ พระกรซ้ายทอดลงสู่เบื้องล่าง พระพักตร์แลดูเคร่งขรึม  และดุดัน

 พระร่วงยืนหลังลายผ้า นามอมตะแห่งพระกรุเมืองละโว้ นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งตำนานพระร่วงยืนประทานพร และเป็นหนึ่งในจักรพรรดิพระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง ที่ทุกคนต่างแสวงหาเอาไว้ในครอบครอง แตกกรุออกมาครั้งแรก พ.ศ.๒๔๓๐ ต่อมาได้แตกกรุออกมาอีก ๒ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๔๕๕ และ พ.ศ.๒๔๕๘ โดยขุดพบในบริเวณใกล้ๆ กับที่พบครั้งแรก

 พระที่พบนี้ มีทั้งเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และเนื้อชินเงิน แต่มีไม่มากนัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ก็มีการขุดพบที่โรงเรียนช่างกล ซึ่งเคยเป็นบริเวณวัดเก่ามาก่อน

 พระร่วงหลังลายผ้า ที่ขุดพบในครั้งหลังนี้ มีประมาณ ๒๐๐ องค์ นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระร่วงกรุนี้ คือ ด้านหลังขององค์พระเป็นลายผ้าหยาบๆ ลึกๆ ประทับไว้ แต่ก็มีส่วนน้อยที่พบเป็นแบบเรียบๆ ที่เรียกว่า “พระร่วงหลังตัน” ปรากฏรวมอยู่ในกรุด้วย

  พระร่วงหลังลายผ้า ที่พบบริเวณโรงเรียนช่างกล เป็นพระพิมพ์เดียวกับของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทุกประการ จะผิดกันที่สนิมขององค์พระ จะแดงเข้มกว่า และองค์พระมีขนาดบางกว่าของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เข้าใจว่า เป็นพระที่สร้างพร้อมกัน แต่แยกกันบรรจุคนละที่ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  ขอมเป็นผู้สร้างพระร่วงหลังลายผ้า เพราะฉะนั้น ศิลปะขององค์พระจึงอลังการเป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่า ถ้ามิใช่กษัตริย์ในสมัยนั้นสร้าง ก็คงจะไม่มีใครสร้างได้

 มีผู้สันนิษฐานกันว่า พระร่วงหลังลายผ้า ของเมืองลพบุรี กับ พระร่วงหลังรางปืน ของเมืองสวรรคโลก น่าจะสร้างในยุคพร้อมๆ กัน เพราะเป็นฝีมือสกุลช่างเดียวกัน

 ฉะนั้น หากท่านผู้ใดมี พระร่วงหลังลายผ้า อยู่ในครอบครอง ก็เหมือนกับมี พระร่วงหลังรางปืน เช่นเดียวกัน

 ส่วนขนาดของ พระร่วงหลังลายผ้า พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์นิยม) กว้างประมาณ ๒.๒ ซม. สูงประมาณ ๗.๗ ซม. สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนขึ้นไปทุกองค์   ถ้าหากเป็นองค์พระที่สวยสมบูรณ์คมชัดมากๆ ราคาอาจจะถึงหลักล้านก็มี

 ๓.พระร่วงยืนประทานพร หลังกาบหมาก กรุศรีโสฬส จ.สิงห์บุรี เป็นพระร่วงยืนที่จัดอยู่ในชุดเดียวกับ พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย และพระร่วงยืนหลังลายผ้า จ.ลพบุรี แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๕๒๒ บริเวณวัดศรีโสฬส เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีเอกลักษณะด้านหลังเป็นรอยกาบหมากทิวเล็กๆ ละเอียดกว่าพระร่วงหลังรางปืน พระส่วนใหญ่จะสมบูรณ์ ที่พบมี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก พบเป็นคราบไขขาวปกคลุมอยู่ทั่วองค์พระ แต่เมื่อล้างไขขาวออกมาแล้ว จะเห็นเป็นสนิมแดงสดใส

 ถึงแม้ว่า พระร่วงยืนทั้ง ๓ กรุนี้ ขุดพบจากสถานที่ห่างกัน กว่าร้อยๆ กิโลเมตร แต่พุทธลักษณะนั้นไม่แตกต่างกันแม้แต่น้อย

 ด้านพุทธคุณ ทั้งพระร่วงหลังรางปืน และพระร่วงหลังลายผ้า พุทธคุณไม่แตกต่างแม้แต่น้อย เพราะพุทธลักษณะและอายุของพระนั้น สันนิษฐานว่าสร้างในวาระเดียวกันทั้งหมด พระร่วงทั้ง ๓ กรุ จึงจัดได้ว่า เป็นสุดยอดพระเครื่องชุดยอดขุนพล ที่คนในวงการพระเครื่องแสวงหา และอยากมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

"เต้ สระบุรี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ