
คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชาสุขใดจะเท่า...สวดมนต์และแสวงบุญที่พุทธภูมิ
ตอนเช้าตรู่ประมาณตี ๓ และก่อนนอนทุกคืนจะสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำอย่างน้อย ๓๐ นาที เพื่อให้การทำงานตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความราบรื่น และก่อนเข้านอนทุกคืนจะสวดมนต์อีกครั้งประมาณ ๓๐ นาทีเพื่อให้เรา
นอนหลับสบาย ปล่อยวางกับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราเป็นทุกข์มาตลอดทั้งวัน สวดทุกบทที่คนเขานิยมสวดกัน และสวดมนต์กว่า ๑๐ ปีแล้ว ทุกวันนี้สวดได้โดยไม่ต้องเปิดหนังสือ” นี่คือคำบอกเล่าจากปากคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา ภริยานายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันอีกสิ่งหนึ่งที่คุณหญิงแจ่มใสยึดปฏิบัติจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันอีกเช่นกัน คือ การฝึกและเล่นโยคะ คุณหญิงแจ่มใส บอกว่า ตามหลักพระพุทธศาสนาก็สามารถนำมาอิงกับการฝึกโยคะให้เป็นสมาธิได้ เมื่อใจเรานิ่ง เรามีสมาธิจิต มีการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ตรงนี้ก็สามารถเกิดเป็น สมาธิขึ้นในใจจิตก็สงบ ฉะนั้นคนที่ฝึกโยคะก็เหมือนเป็นคนที่ได้ฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง หลายคนที่ฝึกโยคะก็ไม่ได้สนใจสิ่งที่อยู่รอบข้าง ทำได้แบบนี้เพราะเราได้มีการกำหนดจิต อยู่กับสิ่งที่กำลังทำตรงนั้น ใครก็ตามที่เล่นโยคะแล้วจิตใจไม่นิ่ง ก็ส่งผลให้จิตใจจะกระเจิง ความมั่นคงในการฝึกโยคะท่าต่างๆ ก็จะไม่นิ่งและไม่มั่นคง
นอกจากสวดมนต์ไหว้พระ และเดินสายทำบุญวัดในประเทศไทยเกือบครบทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน จ.สุพรรณบุรี ทำบุญเรียกว่าจะครบทุกวัดแล้ว ทั้งทอดผ้าป่าทอดกฐิน รวมทั้งสร้างวัด สร้างโรงเรียนบรรหาร-แจ่มใส ๗ แห่ง สร้างสถานีอนามัย ฯลฯ
หากสุขภาพแข็งแรง คุณหญิงแจ่มใสจะชวนกัลยาณมิตรอีกหลายท่าน เดินทางไปแสวงบุญที่ดินแดนพุทธภูมิ ที่ถือได้ว่าเป็นจุดหมายหลักของชาวพุทธ คือสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประกอบด้วย ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สารนาถ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คุณหญิงแจ่มใสบอกว่า เดินทางไปแสวงบุญที่พุทธภูมิ ๓ ครั้งแล้ว โดยครั้งแรกไปเมื่อกว่า ๑๐ ปี ที่แล้ว เดิมนั้นการเดินทางไปสักการะยังสถานที่ต่างๆ ในดินแดนพุทธภูมิเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องมีความศรัทธาตั้งมั่นอย่างมากจึงจะสามารถไปนมัสการได้ครบทุกแห่ง
ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกสบายขึ้น ด้วยบริการของทัวร์เอื้องหลวง ของบริษัทการบินไทย และมีวัดพุทธนานาชาติอยู่ในจุดสำคัญๆ ของพุทธสถานโบราณ
นอกจากไปสังเวชนียสถานแล้ว ยังได้เดินทางไปยังสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ทั้งที่เป็นมหาสังฆารามในอดีต หรือเมืองสำคัญในสมัยพุทธกาล ที่มีความเกี่ยวข้องปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งบางแห่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เช่นที่ พุทธคยา ถ้ำอชันตา-เอลโลล่า เป็นต้น
"เราเป็นชาวพุทธ การเดินทางไปสัมผัสดินแดนพุทธภูมิ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา เป็นความปลื้มปีติและตื้นตันสุดจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้หมด มาแล้วก็อยากมาอีก ถ้าสุขภาพให้และสังขารยังไหวจะหาโอกาสเดินทางไปแสวงบุญเป็นครั้งที่ ๔ ที่ ๕ ทุกครั้งที่สวดมนต์ ณ สังเวชนียสถาน จะอธิษฐานขอให้พ้นทุกข์เท่านั้น ไม่ได้ขออะไรมากกว่านี้ โดยเฉพาะครั้งที่ ๒ ระหว่างสวดมนต์ที่พุทธคยา พยายามกลั่นน้ำตาไม่ให้ไหล แต่ก็กลั้นไว้ไม่อยู่ หากใครมีศรัทธา มีกำลังทรัพย์ รวมทั้งสังขารยังให้ ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากให้มาสัมผัสดินแดนพุทธภูมิ” คุณหญิงแจ่มใสเล่าทั้งน้ำตา ด้วยความคิดถึงแม่ที่ไม่มีโอกาสพาท่านมาด้วย
พร้อมกันนี้ คุณหญิงแจ่มใสยังบอกด้วยว่า ความสุขคิดได้แค่เป็นนาที ส่วนความทุกข์นั้นมีเป็นชั่วโมง เกิดขึ้นและอยู่กับเราตลอดเวลา ชีวิตของคนเราเต็มไปด้วยสารพัดทุกข์
การเป็นคุณหญิง และเป็นถึงภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี ใช่ว่าจะไม่มีทุกข์ เพราะทุกข์แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน บางคนทุกข์เรื่องการงาน บางคนทุกข์เรื่องครอบครัว แม้กระทั่งเรื่องสังขาร ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งทุกคนต้องน้อมรับ แต่ยังมิวายคนจำนวนไม่น้อยยังทุกข์เรื่องสังขารที่เสื่อมโทรม
โดยเฉพาะผู้หญิง อยากสวยใสเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่อายุมากขึ้น จึงต้องเสียเงินแต่งเสริมเติมแต่ง เพียงเพื่อรักษาภาพภายนอกเท่านั้น แต่ถ้าเราทำใจน้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยการปฏิบัติธรรม ทุกอย่างก็จบ วันนี้พบสัจธรรมชีวิตที่ว่า ทุกอย่างคงไม่มีอะไรที่ทำให้เราถาวรหรอก สักวันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนไป ในเรื่องของตัวเราเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือคนที่อยู่รอบข้างเรา เมื่อเรามีชีวิตอยู่ ณ วันนี้ ต้องทำให้ดีที่สุด และทำให้แก่คนที่รักเรา อะไรที่แน่นอน ก็คือ ความไม่แน่นอน ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้ทุกวินาที
เมื่อถามถึงพระเครื่องที่แขวนติดตัวเป็นประจำ คุณหญิงแจ่มใส บอกว่า ปกติแล้วจะแขวนพระเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเลือกแขวนพระของ จ.สุพรรณบุรี เพราะเมืองสุพรรณเป็นเมืองแห่งพระกรุ และพระเกจิอาจาร์ที่เลื่องชื่อ ทั้งนี้ ถ้าจะพูดไปแล้ว พระเครื่องที่มีอยู่หากแขวนสลับกันวันละองค์ตลอดชีวิต ก็แขวนไม่ซ้ำกัน จึงมาฉุกได้คิดว่า แขวนพระเครื่ององค์ไหนก็เหมือนกัน เพราะต่างก็เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น การแขวนพระเครื่องเพื่อให้ระลึกและเข้าถึงพระธรรม ซึ่งหมายถึง การให้มีสตินั่นเอง และการมีสตินี่เอง เป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดภัย อันตรายใดๆ แก่ชีวิต
ส่วนข้อแตกต่างของพระเครื่อง กับพระธรรมนั้น คุณหญิงแจ่มใส พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “พระเครื่องเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ และจะแสดงปาฏิหาริย์เฉพาะผู้ที่แขวน ตามโอกาสและกาลเวลาเท่านั้น ส่วนพระธรรม แม้ว่า จะเป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ แต่พระธรรมก็แสดงปาฏิหาริย์ได้ทุกโอกาส และกาลเวลา โดยไม่ต้องแขวน ที่สำคัญคือ ยิ่งปฏิบัติธรรมมากเท่าใดปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นกับผู้นั้นมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ จึงเลือกที่จะสวดมนต์ปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะคิดว่า วันนี้หรือพรุ่งนี้จะเลือกแขวนพระองค์ไหนดี”
ไตรเทพ ไกรงู