พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-พระหลวงพ่อเงิน"ปี๑๕"...มากพุทธคุณ ราคามาก

ชั่วโมงเซียน-พระหลวงพ่อเงิน"ปี๑๕"...มากพุทธคุณ ราคามาก

21 ก.ย. 2552

"เงิน" เป็นชื่อของ หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๓๔๘ บิดาชื่อ นายอู๋ มารดาชื่อ นางฟัก เป็นชาวบ้านตำบลบางคลาน จ.พิจิตร มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันทั้งหมด ๖ คน (ในหนังสือประวัติของท่าน มีผู้เขียนไว้เป็น ๒ กร

 พออายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาและบรรดาญาติ มีความประสงค์จะให้ท่านอุปสมบทแต่ "หลวงพ่อเงิน” ไม่ยอม เพราะเกรงว่าอายุของท่านจะไม่ครบบริบูรณ์จริง บรรดาญาติก็อนุโลมตามกระทั่งหลวงพ่ออายุได้ ๒๒ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้กำหนดวันอุปสมบท ไม่ทราบว่าอุปัชฌาย์ชื่ออะไรเช่นกัน  ได้ฉายาว่า “พุทธโชติ”

 หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะจนแตกฉาน แล้วฝึกฝนวิปัสสนา จนมีญาณสมาธิแก่กล้า จึงมุ่งศึกษาพุทธาคมจาก หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จนมีความชำนาญทางพุทธาคมมาก มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เล่าลือกันในบรรดาชาวบ้านมากมาย นอกจากนี้แล้ว ท่านยังศึกษาวิปัสสนากรรมฐานต่ออีกด้วย

 ต่อมาอีก ๓-๔ ปี เมื่อโยมปู่ของท่านป่วยหนัก ท่านจึงเดินทางกลับมายังอำเภอโพทะเล ท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดคงคาราม ประมาณ ๑ พรรษา แล้วจึงย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดท้ายน้ำ ท่านเป็นพระเรืองวิชา ชอบเล่นแร่แปลธาตุ แต่หลวงพ่อเงินท่านเคร่งธรรมวินัย ชอบความสงบ ท่านจึงได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโก ลึกเข้าไปทางลำน้ำเก่า และต่อมาก็ได้สร้าง วัดหิรัญญาราม (วัดวังตะโก)

  หลวงพ่อเงินเป็นผู้สร้างวัดวังตะโกไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๗ ต่อมาวัดวังตะโก หรือวัดหิรัญญารามก็เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือ และถวายตัวเป็นศิษย์ มาขอฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา

 ในสมัยนั้น หลวงพ่อเงินท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีผู้คนมาให้ท่านช่วยรดน้ำมนต์ให้ไม่ขาดสาย  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเงินที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อมาก็มีหลายท่าน เช่น หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ที่มีชื่อเสียงในด้านตะกรุดคู่ชีวิต

 หลวงพ่อน้อย วัดคงคาราม ผู้สร้างตะกรุดหนังปลากระเบน และตะกรุดหนังอีเก้ง

 ปลัดชุ่ม วัดท้ายน้ำ หลวงพ่อหอม วัดหลวง หลวงพ่อนวล วัดหาดมูลกระบือ หลวงพ่อฟุ้ง วัดปากน้ำ หลวงพ่อขำ วัดโพธิ์เตี้ย หลวงพ่อไป๋ วัดท่าหลวงพล ผู้สร้างเหรียญหล่อหลวงพ่อเพชรจำลอง หลวงปู่ภู วัดท่าฬอ เป็นต้น

 นอกจากนี้ศิษย์ฆราวาสก็คือ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 ท้ายที่สุด หลวงพ่อเงินท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณ ฝ่ายวิปัสสนาจารย์

 หลวงพ่อเงินท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์เดือน ๑๐ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะแม เวลา ๐๕.๐๐ น. ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๒ รวมอายุได้ ๑๑๑ ปี พรรษา ๙๐ ณ วัดวังตะโก ต.บางคลาน อ.บางคลาน จ.พิจิตร

 คงทิ้งไว้แต่เรื่องราวอันเป็นปาฏิหาริย์มากมาย นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุยืนนานมากที่สุดรูปหนึ่ง

 อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับของวงการพระเครื่องในทุกวันนี้ว่าพระรูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อเงิน ที่สร้างในสมัยหลวงพ่อเงินยังมีชีวิตอยู่ มีสนนราคาเช่าหาที่แพงที่สุดในบรรดาพระรูปหล่อของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตด้วยกัน รวมทั้งเหรียญหล่อโบราณ พิมพ์จอบเล็ก และพิมพ์จอบใหญ่ ซึ่งมีของหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันไม่บ่อยนัก เพราะมีจำนวนสร้างไม่มาก แต่มีการเช่าหาที่แพงเป็นหลักแสนหลักล้านขึ้นไป

 สำหรับช่างผู้ทำการหล่อพระเหรียญจอบ และรูปหล่อลอยองค์ เป็นชาวบ้านจากชุมชนบ้านช่างหล่อ ธนบุรี ทั้งนี้ในหนังสือ พระเครื่องปริทัศน์ ที่เขียนโดย "มัตตัญญู" ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสร้างพระหลวงพ่อเงินว่า

 "ผู้สร้างพระหลวงพ่อเงิน บางคลาน เป็นลูกช่างหล่อผู้หนึ่งที่สืบเชื้อสายโดยตรง เป็นสตรีเพศ นามว่า วัณ นามสกุลหลังมีเรือนแล้ว คือ สุทัศน์ ซึ่งเป็นภริยาของ ม.ร.ว.เดช สุทัศน์ ในประมาณกลาง พ.ศ.๒๔๖๐ โดยวัดแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อ เป็นเนื้อทองเหลือง ในสองแบบด้วยกัน แบบหนึ่งเป็นรูปหล่อลอยตัว และอีกแบบหนึ่งเป็นแบบแบน ให้มีหูเพื่อสะดวกในการร้อยเชือกติดตัว โดยให้แต่ละแบบมี ๒ ขนาด"

 ผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสพระหลวงพ่อเงิน ในระดับชาวบ้านทั่วๆ ไป ที่มิใช่เศรษฐีผู้มีเงินเหลือกินเหลือใช้ จึงมองหาพระหลวงพ่อเงินที่สร้างในยุคหลังต่อมา หลังจากที่ท่านได้มรณภาพใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งมีการจัดสร้างกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดที่ท่านเคยพำนักจำพรรษามาก่อน หรือวัดอื่นๆ ในละแวก จ.พิจิตร

 หากจะสร้างวัตถุมงคลให้ชาวบ้านทำบุญบูชาก็สร้างพระหลวงพ่อเงินเท่านั้น ถึงจะมีผู้สนใจเช่าหา อันจะส่งผลให้วัดที่สร้างได้ปัจจัยทำบุญตามความประสงค์ต่อไป

 อย่างไรก็ตามแม้จะมีการสร้างพระหลวงพ่อเงินในสมัยต่อมามากมายหลายรุ่น แต่ที่ได้รับความศรัทธานิยมจากชาวบ้าน เพราะมีประสบการณ์มากมาย และโด่งดังสุดๆ ก็คือ พระหลวงพ่อเงิน ที่สร้างใน พ.ศ.๒๕๑๕ หรือที่วงการพระเรียกกันสั้นๆ ว่า "พ่อเงินปี ๑๕"

 การจัดสร้างพระหลวงพ่อเงินในครั้งนั้น ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในเมืองไทย ที่ต้องจารึกไว้ในความทรงจำจนทุกวันนี้

 ทุกวันนี้ พระหลวงพ่อเงิน พ.ศ. ๒๕๑๕ ทุกพิมพ์ได้รับความศรัทธาสนใจจากนักสะสมพระสายนี้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพระหลวงพ่อเงินรุ่นเก่าที่ทันหลวงพ่อเงินปลุกเสกนั้น มีสนนราคาเช่าหาองค์หนึ่งเป็นแสนเป็นล้านขึ้นไป สุดวิสัยที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะไขว่คว้าหามาสักการบูชาได้ ผู้ที่เคารพนับถือหลวงพ่อเงินจริงๆ จึงหันมาเช่าหาพระหลวงพ่อเงิน ปี ๒๕๑๕ มาใช้ทดแทน

 นอกจากนี้ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พระหลวงพ่อเงิน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีผู้แสวงหากันมาก คือ อานุภาพความขลังความศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อเกิดประสบการณ์เป็นเลิศในทุกด้าน...อยู่เสมอๆ นั่นเอง
 
 ทั้งนี้ เพราะการจัดสร้างพระหลวงพ่อเงินรุ่นดังกล่าวนี้มีจุดเด่นดีอยู่หลายประการ อาทิ เจตนาการสร้างดี เนื้อหามวลสารดี รูปแบบสวยงาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีการดี ถูกต้องตามตำรับตำราโบราณทุกอย่าง จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านโดยทั่วไป

ป๋อง สุพรรณ