
"มหาพิธีพุทธาภิเษก" หรือ...จะเป็นเพียงตำนานการสร้างพระ
พิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกวัตถุมงคล คือ การปลุกเสกสิ่งของต่างๆ ให้ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังด้วยพุทธานุภาพ ส่วนมากเป็นพิธีหนักไปทางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปนกับทางพุทธอยู่แบบแยกกันไม่ค่อยได้ โดยมีเกจิอาจารย์นั่งปรก สวดมนต์ภาวนาปลุกเสกอธิษฐานจิต เพื่อสร้างพระ วัตถุมงคลต
สำหรับพิธีพุทธาภิเษกที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การสร้างพระนั้น นายวันชัย สอนมีทอง ประธานประสานงานฝ่ายสื่อมวลชนของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า ถ้าเป็นการสร้างพระในอดีต ต้องยกให้การจัดสร้างพระของพุทธสมาคมพิษณุโลก โดยเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ได้จัดพิธี "จักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก" ขึ้น ณ พระวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
ตามประวัติ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธี "จักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก" นี้ ครั้งแรกได้กระทำพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีการกระทำพิธีนี้อีก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๙ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่า มีการกระทำพิธีนี้อีกเลย
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นในปัจจุบัน ซึ่งคนส่วนใหญ่เกิดทันยุคมหาพิธีพุทธาภิเษก ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน ต้องยกให้พิธีจัดสร้างพระกริ่งจักรพรรดิ พ.ศ. ๒๕๔๖ ถือเป็นพิธีที่ใหญ่สุดของวัดสุทัศนเทพวราราม เพราะมีมหาพิธีพุทธาภิเษก ๙ ชาติ นาน ๙ วัน ๙ คืน โดยพระมหาเถระจากประเทศจีน เกาหลี ศรีลังกา พม่า เนปาล ภูฏาน ทิเบต เขมร และลาว
รวมทั้งได้นิมน์พระเกจิอาจารย์ดังจากทุกภาค ๗๖ จังหวัด ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า จะหาพิธีใดที่เสมอเหมือนได้ยาก
ส่วนอีกพิธีหนึ่ง คือ มหาพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธโสธรเหรียญนามสกุล ประจำตระกูล พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ พระอุโบสถวัดโสธรวราราม นาน ๓ วัน ๓ คืน โดยพระมหาเถระจากนครล้านช้าง, นครจำปาสัก, นครหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ได้มาร่วมปลุกเสกพร้อมพระสงฆ์จากทั่วประเทศนับหมื่นรูป จัดว่าเป็นพิธีการสร้างพระเครื่องที่มีพระสงฆ์ร่วมพิธีพร้อมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์
สำหรับมหาพิธีพุทธาภิเษกในปีอื่นๆ นายวันชัย บอกว่า การจัดสร้างพระพุทธชินราชหมื่นยันต์ เพื่อเป็นที่ระลึกการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครบรอบ ๗๒ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีการปลุกเสกพระเครื่องรุ่นนี้ ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม มีพระเกจิอาจารย์ดังทั่วแผ่นดิน ๑๒๙ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๙ ตรงกับปีฉลองครองราชย์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดสร้างพระกริ่งหลวง ๗๖ จังหวัด โดยประกอบพิธีที่วัดป่าแก้ว พระนครศรีอยุธยา, วัดสามปลื้ม, วัดสุทัศนเทพวราราม ทำพิธีเททองหล่อ ณ พุทธมณฑล นครปฐม ทำพิธีกวนสีผึ้งเสกเจิมพระกริ่ง ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง
และพ.ศ. ๒๕๕๐ มูลนิธิศูนย์มะเร็ง จ.ลพบุรี ได้จัดสร้างพระพุทธชินราชจำลอง เมื่อพิธีปลุกเสกและเททองแล้วได้นำแผ่นยันต์มาปั๊มเป็นองค์พระพุทธชินราช “เหรียญแม่” เพื่อนำเข้าพิธีปลุกเสก ณ วัดเบญจมบพิตร เป็นวัดที่ ๑ จากนั้นได้อัญเชิญเหรียญแม่ไปปลุกเสกจนครบ ๑๐๐ วัด ๑๐๐ เมืองทั่วประเทศ โดยพิธีสมโภช ๑๐๐ เมืองจัดขึ้นอย่างอลังการ ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม
"พิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกวัตถุมงคลในยุคเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี คงเป็นเรื่องยากที่ผู้สร้างวัตุมงคลจะกล้าลงทุนนิมนต์พระจำนวนมาก บางงานใช้เงินหลายล้านเป็นค่าใช้จ่ายนิมนต์พระ การนิมนต์พระมาปลุกเสกจำนวนมากๆ ทำให้วัตถุมงคลมีพุทธคุณครอบจักรวาลดีทุกด้าน ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน เรียกว่ามวยหมู่ ซึ่งย่อมดีกว่ามวยเดี่ยว อย่างน้อยต้องต่อยถูกสักหมัด
ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายนิมนต์พระสูง ผู้สร้างจึงไม่พร้อม ทุกวันนี้ หากใครอยากได้วัตถุมงคลที่เข้าพิธีใหญ่ในอดีต ซึ่งมีอยู่หลายรุ่นที่ยังพอหาเช่าเก็บไว้ใช้เอง ที่สำคัญ คือ ราคาเช่าซื้อไม่แพงอย่างที่คิด โดยเฉพาะวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ" นายวันชัยกล่าว
ตำนานเทวาภิเษกจตุคามฯ
นายวันชัย สุพรรณ นักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ เซียนชื่อดัง บอกว่า พุทธาภิเษก-เทวาภิเษก ที่จัดว่าใหญ่ล่าสุดคือ พระพิฆเณศวร รุ่นเบญจมคล ครบรอบ ๕๐ ปี ของช่อง ๕ ปลุกเสกที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ก่อนหน้านี้ คือ พุทธาภิเษก-เทวาภิเษก จตุคามฯ รุ่นประทานพร ปลุกเสกที่โบสถ์มหาอุด วัดขุนพนม อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช วาระต่อมาคือ ที่ศาลหลักเมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ๑๐๙ รูป ในช่วงจตุคามฯ ขาขึ้น มีพิธีใหญ่หลายพีธี แต่ที่ใหญ่เป็นที่เล่าขาน คือ พิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษก จตุคามฯ รุ่นขุมทรัพย์สี่แผ่นดิน ที่จัดสร้างโดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยเฉาะที่พระธาตุยาคู อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
ทั้งนี้ หากเป็นพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกจตุคามฯ ใหญ่สุดๆ ต้อยกให้การจัดสร้างจตุคามฯ รุ่นปาฏิหาริย์ ที่จัดสร้างโดยวัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการปลุกเสก ๓ วาระ วาระที่ยิ่งใหญ่ได้นิมนต์พระมาร่วมพิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษก กว่า ๕,๐๐๐ รูป ส่วนอีก ๒ วาระนิมนต์พระไม่ต่ำกว่าวาระละ ๒,๕๕๐ รูป (ตาม พ.ศ.)
การนิมนต์พระจำนวนมาก ส่งผลให้จตุคามฯ รุ่นนี้โด่งดังได้รับความนิยมจากผู้เช่าอย่างล้นหลาม ได้ปัจจัยไปช่วยสาธารณประโยชน์ต่างๆ มากมาย
ส่วนอีกรุ่นหนึ่ง คือ รุ่นสัจจะอธิษฐาน บุโรพุทโธ ก็เป็นรุ่นที่มีการเสกที่เป็นประวัติศาสตร์เช่นกัน ทั้งมวลสารและพิธีกรรม ทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน อ.โสภณ พัฒน์ชนะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอักขระเลขยันต์ ซึ่งมักเดินทางไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกอยู่เป็นประจำ บอกว่า ในอดีตการจัดสร้างวัตถุมงคลสายวัดบวรนิเวศ จะขึ้นชื่อเรื่องการนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมพิธีแต่ทุกวันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ก็เช่นกัน ในอดีตทุกครั้งที่มีการปลุกเสก ไม่ว่าใครจะสร้างอะไร ผู้สร้างจะมิมนต์เกจิที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องเล่า
การไม่นิมนต์เกจิดังๆ มาร่วมพิธีพุทธาภิเษก ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ขณะเดียวกันผู้จัดสร้างไม่มีทุนจริงๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ การจัดสร้างวัตถุมงคลของวัดใหญ่ๆ หลายแห่ง สร้างแบบสุกเอาเผากิน ไม่กล้านิมนต์พระเกจิมาปลุกเสก แต่กลับเกณฑ์พระเณรในวัดมาร่วมกันมากๆ เพียงเพื่อบันทึกภาพประกอบการโฆษณาเท่านั้น
"ทุกวันนี้ หากใครอยากได้วัตถุมงคลที่เข้าพิธีใหญ่ในอดีตซึ่งมีอยู่หลายรุ่นที่ยังพอหาเช่าเก็บไว้ใช้เอง ที่สำคัญ คือ ราคาเช่าซื้อไม่แพงอย่างที่คิด โดยเฉพาะวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"