พระเครื่อง

ลูกผู้ชายต้องมีของดีติดตัวน.นทีคนรุ่นเก่าเล่าเรื่องพระ

ลูกผู้ชายต้องมีของดีติดตัวน.นทีคนรุ่นเก่าเล่าเรื่องพระ

09 ส.ค. 2552

ความเคลื่อนไหวของวงการพระเครื่อง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของผู้คนในวงการนี้ที่น่าสนใจใฝ่ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่นักพระเครื่อง หรือเซียนพระ (ที่สมัยนั้นนิยมเรียกว่า "นักเลงพระ") ย่อมมีอะไรหลายๆ อย่างที่คนรุ่นใหม่ควรจะทราบ

และดูเป็นแบบอย่าง เพื่อจะได้เก็บเอาส่วนที่ดีมาปฏิบัติตาม และหลีกเลี่ยงส่วนที่ไม่ดี (ที่อาจจะมี) ออกไป เพื่อช่วยกันจรรโลงให้วงการพระเป็นที่น่าศรัทธาเชื่อถือ อันจะส่งผลให้คนในวงการพระมีศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป

 ณ เวลานี้ เป็นที่น่ายินดีที่มี "คนรุ่นเก่า" ท่านหนึ่ง ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของวงการพระในอดีตที่ผ่านมา ในรูปของบทความหลากหลายมุมมอง และจัดพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง คือ น.นที (คนรุ่นเก่าเล่าเรื่อง) ผู้จัดทำหนังสือ รวมภาพและเกร็ดประวัติพระเครื่องและเครื่องราง พร้อมภาคผนวกเครื่องรางยอดนิยม ๓๐๐ ภาพ โดยได้รับเกียรติเขียนคำนิยมโดย ท่านเสถียร เสถียรสุต นักพระเครื่องอาวุโส ที่เซียนพระทุกยุคทุกสมัยต่างยกย่องในเกียรติประวัติอันงดงามของท่านมาโดยตลอด และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง สำหรับหนังสือพระเล่มนี้

 น.นที เป็นนามปากกาของ นนที นิพากรเมธ อดีตข้าราชการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เล่าย้อนถึงเส้นทางของชีวิตที่ผ่านมาว่า

 "ผมเป็นคนธนบุรีมาโดยกำเนิด บ้านอยู่แถวบางกอกใหญ่ ที่บ้านเป็นร้านขายของชำ สมัยวัยรุ่น อายุ ๑๗-๑๘ ปี มีชาวบ้านชอบมาซื้อเหล้าที่ร้าน บางครั้งก็เอาพระเครื่องมาขอแลกเหล้าก็มี ทำให้ผมเริ่มรู้จักพระเครื่องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก สมัยนั้นมีคนเอาพระกริ่งคลองตะเคียน มาแลกเหล้า ๑ ขวด โดยขอเงินเพิ่มอีก ๑๐๐ บาท แต่ผมไม่เอา เพราะดูพระไม่เป็น นอกจากนี้มีคุณลุงท่านหนึ่ง เอาเหรียญหล่อหลวงพ่อไหล่ วัดกำแพง มาขายไม่กี่ร้อยบาท โดยบอกว่าเป็นคนสูบเตาเผาโลหะที่ใช้หล่อเหรียญ ได้รับเหรียญนี้มาจากหลวงพ่อโดยตรง ผมก็ไม่เอาเช่นกัน"

 พอโตขึ้นมาหน่อย น.นที ไปเข้ากับเพื่อนกลุ่มวัยรุ่นแถวโรงหนังย่านวังบูรพา ที่เรียกว่า "โก๋หลังวัง" ซึ่งโด่งดังในสมัยมาก เช่น แดง ไบเล่, ดำ เอสโซ่, จ๊อด เฮาดี้ ฯลฯ

 บรรดา "โก๋หลังวัง" มักนิยมแขวนพระเครื่องกันทุกคน เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว สร้างขวัญกำลังใจ ยามมีปัญหากับคู่อริ ยกเว้น น.นที คนเดียวที่ไม่ได้แขวนพระกับเขาเลย

 ต่อมา มีเพื่อนบอกว่า ลูกผู้ชายต้องมี "ของดี" ติดตัว เอาไว้บ้าง จึงได้ถอดพระพิมพ์สมเด็จองค์หนึ่งให้ น.นที ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็น พระสมเด็จนายเผ่า (พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา และอดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ปี ๒๔๙๕ สร้างที่วัดอินทราวิหาร นับเป็นพระองค์แรกที่ น.นที ได้แขวนติดตัวตั้งแต่สมัยนั้น

 หลังจากนั้นไปเช่าพระพิมพ์สมเด็จ ๒ หน้าจากหลวงปู่นาค วัดระฆัง พระพุทธชินราช อินโดจีน ที่พุทธสมาคมฯ รวมทั้งพระท่านเจ้าคุณนรฯ ที่ท่านเจ้าคุณอุดมฯ วัดเทพศิรินทร์ พระเหล่านี้ไม่มีปัญหา เพราะไปเช่าจากวัดโดยตรง

 ส่วนพระกรุพระเก่าอื่นๆ ก็เช่าอย่างสะเปะสะปะตามสนามพระ ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และที่อื่นๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นพระแท้หรือไม่ ?
 วันหนึ่ง ได้นำพระที่เช่าไว้มากพอสมควร ไปให้เซียนพระคนหนึ่งตรวจสอบให้ เขากำหนดค่าดูว่า พระ ๑ องค์ สายฝน ๑ ซอง (หมายถึงบุหรี่สายฝน ซองละ ๑๐ บาท) วันแรกต้องไปซื้อบุหรี่สายฝน ๓ ซอง หมดไป ๓๐ บาท ช่วงนั้นเสียเงินค่าบุหรี่แทบทุกวัน วันละหลายสิบบาท จนมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นเข้าก็บอกว่า สงสารมาก ที่ต้องเสียเงินทุกวัน จึงแนะนำให้ น.นที ไปหา อ.เภา ศกุนตะสุตร (เซียนพระรุ่นใหญ่) ซึ่งนั่งอยู่ในสนามพระเช่นกัน โดยไม่ต้องเสียเงินมาก แค่เลี้ยงโอเลี้ยง ๑ แก้ว (ไม่กี่บาท) ท่านก็สามารถดูพระให้ได้ทุกอย่าง

 ปรากฏว่า พระที่เช่ามานั้นส่วนใหญ่เป็น พระปลอม ทั้งนั้น และที่เซียนพระคนแรกดูให้นั้น ก็ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะไม่เก่งจริง งานนี้เท่ากับถูกเซียนพระแหกตาหลอกเงินค่าบุหรี่ไปหลายซอง

 จากการที่เอาพระให้ อ.เภา ดูบ่อยๆ ทำให้สนิทกับท่านมาก พร้อมกับได้รับความรู้เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสรู้จักเซียนพระตัวจริง และเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือหลายท่านด้วยกัน

 ตรงนี้ทำให้ น.นที มีโอกาสได้ส่องพระแท้องค์จริงอยู่เสมอๆ จนพอจดจำได้ว่า พระแท้แต่ละองค์ดูจุดตำหนิตรงไหนบ้าง ?

 ต่อมา สนามพระวัดมหาธาตุ ปิด บรรดาแผงพระจึงต้องโยกย้ายไปที่วัดราชนัดดา ส่วนหนึ่ง และที่ตลาดนัดท่าพระจันทร์ อีกส่วนหนึ่ง (คือสนามพระท่าพระจันทร์ในทุกวันนี้)

 "ช่วงนั้นผมฟิตมาก ทำให้อยากรู้อยากเห็นอะไรอยู่เสมอ เซียนพระบางท่านจึงพาไปตระเวนเดินสาย ซื้อขายพระตามที่ต่างๆ ครั้งหนึ่ง ได้ติดตามผู้ใหญ่ไปดูงานประกวดพระที่ อ.ท่าเรือ จ.กาญจนบุรี เพื่อดูพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ของเซียนพระใหญ่ท่านหนึ่ง เอาไปโชว์ในงานนี้ นับเป็นพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว องค์แรกที่ผมได้ดูพระแท้องค์จริง รวมทั้งพระหลักยอดนิยมอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้รู้เรื่องของการซื้อขายพระ การประมูลพระ ที่เซียนแต่ละท่านต่างก็มีชั้นเชิงกันเยอะมาก เป็นเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงเอาเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มาเขียนลงในนิตยสารพระฉบับหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของผู้อ่านจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนพระรุ่นใหม่ ที่หลายคนเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในสมัยนั้น" น.นที กล่าว

 ปี ๒๕๒๙ คุณคำรณ สัยยะนิธี เปิดร้านพระที่ปากซอยจรัญฯ ๑๓ (ซอยวัดนก) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านปัจจุบัน จึงได้แวะเข้าไปขอดูพระจากที่นี่ บางครั้งก็เช่าพระที่ถูกใจ จากการที่เข้าไปร้านนี้บ่อยๆ ทำให้สนิทสนมกับคุณคำรณมาก และได้มีโอกาสรู้จักกับ เสี่ยลิ้ง หาดใหญ่ ที่ร้านคุณคำรณด้วย  เพราะที่นี่มีลูกค้าและเซียนพระมาเช่าพระอยู่เสมอๆ

 ขณะเดียวกัน หน้าที่การงานที่แบงค์ชาติ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งสูงด้วย ทำให้ได้รู้จักกับผู้ใหญ่ระดับบริหารอีกหลายท่าน โดยเฉพาะ คุณสุทธิพันธุ์ นิมมานเหมินท์ (คุณติ่ง) อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเพิ่งมาจากเมืองนอกใหม่ๆ และสนใจเรื่องพระเครื่อง จึงชวนไปเช่าพระกันบ่อยๆ จากเซียนพระรุ่นใหญ่หลายท่าน อาทิ คุณสมชาย มาลาเจริญ คุณไพศาล กสิวัฒน์ หม่อมฉลองลาภ ร.ต.ท.อนุชิต โปษยานนท์ (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พ.ต.อ. (พิเศษ) ฯลฯ และที่สำคัญ คือ ท่านเสถียร เสถียรสุต เซียนพระอาวุโส

 ตรงจุดนี้ทำให้ น.นที มีโอกาสได้ดูพระแท้องค์สวยระดับแชมป์อย่างมากมาย ซึ่งหลายองค์มีภาพอยู่ในหนังสือ "จอมสุรางค์อุปถัมภ์" ที่ท่านเสถียรจัดทำขึ้น และเป็นที่ยกย่องของคนในวงการพระตลอดมาว่า พระทุกองค์ในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นพระสุดยอดจริงๆ ที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของด้วยกันทั้งนั้น และใครที่ได้ไปก็จะเกิดความภาคภูมิใจเป็นพิเศษ

 "เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา ในแวดวงพระเครื่อง ผมได้นำมาเขียนรวมไว้หนังสือรวมภาพและเกร็ดประวัติ พระเครื่องและเครื่องราง เล่มนี้ โดยผมได้ตั้งใจอย่างที่สุด ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ในการจัดทำ เพื่อให้ได้หนังสือทอง เล่มหนึ่งของวงการพระ ที่น่าสนใจศึกษา โดยมีข้อเขียน ๑๐๐ เรื่อง ภาพพระเครื่องและเครื่องราง ๘๐๐ ภาพ พร้อมกับเกร็ดประวัติในแง่มุมอันหลากหลาย ที่ยังไม่มีใครเขียนถึง และภาคผนวกภาพเครื่องรางต่างๆ ที่เพิ่มเป็นพิเศษอีก ๓๐๐ ภาพ รวมมีภาพทั้งสิ้น ๑,๑๐๐ ภาพ และยังมีข้อคิดจากสำนวนนิยายภายในของ 'โกวเล้ง'  อีก ๑๐๐ สำนวน จากนิยายจีนชื่อดังหลายเล่ม ที่ล้วนน่าสนใจยิ่ง" น.นที กล่าว

 หนังสือเล่มนี้ มีขนาด ๘ หน้ายก หนา ๒๗๐ หน้า พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ด้วยกระดาษอาร์ตด้านอย่างดี หนา ๑๓๐ แกรม ปกแข็งสีทอง เป็นสิริมงคลตั้งแต่ปกหน้าถึงปกหลัง รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ในวงการพระที่หาอ่านที่อื่นไม่ได้

 เปิดจองวันนี้ ในราคาเล่มละ ๑,๑๐๐ บาท (ค่าจัดส่ง ๑๐๐ บาท) เฉลี่ยภาพละ ๑ บาทเท่านั้น (วางตลาดเล่มละ ๑,๕๐๐ บาท) พิมพ์จำนวนจำกัด สอบถามได้ที่โทร.๐-๒๕๖๑-๑๖๓๑-๒, ๐-๒๔๑๕-๘๕๘๕

 น.นที กล่าวในตอนท้ายว่า "ผมจัดทำหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นในทางธุรกิจ แต่เพื่อให้เป็นผลงานชิ้นหนึ่งในชีวิตของผม ที่มีโอกาสได้ทำงานด้วยใจรัก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผมอย่างแท้จริง"

ตาล ตันหยง