
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดพระแก้วน้อย
วันนี้ เป็นพระอารามหลวง วัดพระราม 9 เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐโปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีแห่งการครองราชย์ ครบ 60 ปีพอดี
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นในยุคบ้านเมืองวิกฤติในความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย พระองค์ทรงเห็นว่าการสร้างวัดในสมัยโบราณที่ผ่านมานั้น มักจะคำนึงถึงความอยู่เย็นเป็นสุข มีเงินมีทองเหลือใช้ บ้านเมืองไม่มีศัตรูหมู่ไพรี อยู่กันอย่างมีเงินทองมีความสุขก็มีการสร้างวัดเกิดขึ้น ลักษณะนี้คือลักษณะที่หนึ่ง ลักษณะที่สองในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากการที่บ้านเมืองเราได้รับชัยชนะสงครามต่างๆ ในปีนั้นๆ ก็จะสร้างวัดเป็นอนุสรณ์ขึ้น เพื่อแสดงว่าได้ชัยชนะสงครามไม่ว่ากับใครก็แล้วแต่ก็จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
แต่วัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววัดนี้ วัดพระราม 9 ไม่อยู่ในภาวะทั้งสอง แต่อยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทางการเมือง ก็มีการคิดค้นกันแบบทั่วๆ ไป พสกนิกรร่วมกันคิดว่าจะสร้างวัดเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ต่างก็คิดที่จะหาที่หาทางเพื่อการที่จะสร้างวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครก็จะหาที่ทางได้ยาก ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะไกลพระเนตรพระกรรณ ท่านก็คิดว่าถ้าได้ที่ในกรุงเทพมหานครเป็นที่สร้างวัดก็จะเหมาะ ก็คิดกันอยู่ ขณะนั้นก็มีการคิดการออกแบบวัดที่จะสร้างวัดขึ้นจะต้องเป็นวัดที่สวยงามทางด้านศิลปวัตถุ โบราณสถานต่างๆ นั้น อย่างน้อยต้องสวยงามอย่าง "วัดพระแก้ว" เป็นต้น ก็คิดไปจำลองวัดพระแก้วมาเป็นวัดกาญจนภิเษก เลยได้ชื่อว่า "วัดพระแก้วน้อย" ในช่วงที่คิดกันอยู่นี้ก็คงจะเข้า พระเนตรพระกรรณที่ว่าจะมีการสร้างถาวรวัตถุน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์ท่านก็เลยทรงเห็นว่าน่าจะสร้างเองโดยทรงกำหนดให้เป็นวัดที่เล็ก สงบเงียบ เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา ไม่วิจิตรพิสดารเหมือนกับวัดทั้งหลาย เพราะมีพระราชประสงต์ให้เกิดการประหยัดในการสร้างวัดโดยให้คำนึงถึงประโยชน์เป็นที่ตั้ง หมายความว่า สร้างเป็นวัดแล้วต้องยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นภายในวัด ให้ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ จึงเหมาะต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายที่มาวัด ที่ไปวัดต่างๆ มีผู้มาถามว่าโบสถ์วัดพระราม 9 อยู่ที่ไหน บางคนนึกว่าเป็นเพียงศาลาปฏิบัติธรรม ธรรมดาทั่วไป ข้างในพระอุโบสถมีพระประธานองค์โตเป็นสัญลักษณ์ของพระอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ทางวัดไม่ได้สร้างลักษณะแบบนี้
เนื่องด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้การสร้างวัดนั้นต้องมีประโยชน์ใช้สอยให้ได้ ก็สร้างในลักษณะประหยัด เรียบง่ายไม่มีลวดลายใดๆ มากมายนัก บานประตู หน้าต่างพระอุโบสถ แต่พอหลังนี้มีบานอะลูมิเนียมกระจกเป็นของที่เรียบง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่าเรียบง่ายได้ประโยชน์เป็นสิ่งที่สร้างที่สวยงามเช่นกัน โรงธรรม สังฆกรรม การบวชนาค การทำปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์จำนวนก็ไม่ต่ำกว่า 30-50 รูปขึ้นไป ก็สามารถนั่งในโบสถ์ได้ ด้วยราคาเพียงเล็กน้อย คำว่าราคาเพียงเล็กน้อย ถ้าโบสถ์เราสร้างทั่วไปเราสร้างหลังหนึ่งต้อง 30 ล้านขึ้น แต่หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าให้ได้ประโยชน์เหมือนกับโบสถ์ที่ใช้เงินมากๆ เราใช้เงินแค่ 3 ล้านก็ต้องให้ใช้ประโยชน์เท่ากับ 20 -30 ล้านเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องของความแปลกก็ต้องยอมรับว่าแปลก สิ่งที่แปลกแต่เป็นไปเพื่อความประหยัด โดยเฉพาะเป็นไปเพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ท่าน เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนี้รู้จักพอเพียง รู้จักประหยัด รู้จักการใช้รู้จักการออมว่าอะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้อะไรที่ไม่ควรจ่าย ถ้าจำเป็นที่ต้องสมควรจ่ายก็ต้องใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผล คือชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย พระองค์ท่านก็เลยทรงสร้างวัด วัดนี้เป็นวัดที่เสียเงินน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก ถ้าถามว่าวัดนี้ใช้งบประมาณในการสร้างเท่าไหร่ บอกได้ว่าไม่เกิน 10 ล้านบาท สร้างได้ทั้งวัดเลย โบสถ์ ศาลาการเปรียญ วิหาร กุฏิ ที่อยู่อาศัยของพระ เณร ห้องน้ำ สระน้ำ ห้องครัว ใช้งบไม่เกิน 10 ล้านบาท และใน 10 ล้านไม่ใช่เงินที่ได้รับเรี่ยไรหรือบริจาค เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งแบบง่ายๆ บอกว่า ฉันมีเงิน ฉันจะสร้างเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยในโอกาสที่ครองราชย์ครบ 60 ปี (พูดภาษาชาวบ้านคือ ให้เป็นรางวัลประชาชน) จึงเกิดวัดพระราม 9 ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2539 ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง-แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539-2540 ก็พร้อมให้พระสงฆ์อยู่ได้ โปรดให้ไปนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศมา เพื่อมาเป็นประธานสงฆ์ (สมัยนั้นเป็น พระราชสุมนต์มุนี) พอมาอยู่ที่วัดได้ 2 ปี ก็เลยเป็น พระเทพญาณวิศิษฏ์ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระบัญชาโปรดให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัด โดยให้นำพระสงฆ์มาอีก 5-6 รูป รวมเป็น 6 รูป เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ประมาณ 12 ปีแล้ว