พระเครื่อง

พระอู่ทอง 
กรุวัดศรีสะอาด จ.เพชรบูรณ์

พระอู่ทอง กรุวัดศรีสะอาด จ.เพชรบูรณ์

05 ส.ค. 2552

เมืองเพชรบูรณ์ เดิมชื่อว่า "เพชรบุร" หรือ "พืชปุระ" อันหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง สันนิษฐานว่า สร้างมา ๒ ยุค ยุคแรกสมัยสุโขทัย หรือพิษณุโลก เป็นเมืองหลวง สังเกตตามแนวกำแพงเมือง ซึ่งเอาลำน้ำไว้กลางเมือง

 และยุคสอง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีป้อม และกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลา สัณฐานคล้ายเมืองนครราชสีมา แต่เล็กและเตี้ยกว่า โดยเอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกัน เพื่อป้องกันข้าศึกที่ยกทัพมาจากฝ่ายเหนือ

 ปัจจุบัน มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ

 โบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ มีชื่อเดิมว่า "เมืองอภัยสาลี" สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

 เมืองส่วนใน มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม มีช่องทางเข้าออก ๘ ช่องทาง มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และซากโบราณสถานกว่า ๗๐ แห่ง

 เมืองส่วนนอก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต่อกับเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก ๗ ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายเช่นกัน

 โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยาน ได้แก่
 ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ

 โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง  สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

 มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับ เป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่า เป็นที่เก็บอาวุธ และทรัพย์สมบัติ จึงเรียกว่า "เขาคลัง"

 บริเวณทิศใต้ของเขาคลัง พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง และใบเสมาหิน บริเวณใกล้หลุมขุดค้น
 และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับ ในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา

 แสดงว่า บริเวณเมืองชั้นในเดิม น่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมร ในระยะหลังเพิ่มขึ้น

 นอกจากนี้ ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่า สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก

 ทั้ง ๒ สระนี้ มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่า เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  และมีการนำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน

 พระที่ขุดพบ ในบริเวณเมืองศรีเทพ จึงเป็นพระที่มีอายุสูง ทั้งด้านอายุและศิลปะ คือ ศิลปะสมัยทวารวดี และ ศิลปะลพบุรียุคต้น

 และยังมีการขุดพบพระเครื่องที่มีอายุยุคหลังลงมาอีก  แต่ถือว่า เป็นพระประเภท เนื้อชินตะกั่วสนิมแดงยอดนิยม ของเมืองเพชรบูรณ์ คือ  พระอู่ทอง กรุวัดศรีสะอาด

 ท่านอาจารย์สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์ บรรยายถึงศิลปะไว้ว่า ”ศิลปะเขมรสูง สมัยหลังบายน กับศิลปะสมัยหลังทวารวดี เคลื่อนตัวเข้ามาเป็นศิลปะร่วมสมัย ที่ผสมผสานกันจนกลายเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีความสวยงามเป็นเลิศ มีอารมณ์ศิลปะ ตรงข้ามกับศิลปะสุโขทัย  ศิลปะรูปแบบนี้ เรียกว่า 'ศิลปะอู่ทอง' เนื่องจากมีการค้นพบครั้งแรกที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ในประเทศไทย ก่อนที่ศิลปะอู่ทองจะกลายมาเป็น ศิลปะอู่ทองบริสุทธิ์ ได้มีแบบศิลป์ ๒ รูปแบบ ของชนชาติลูกผสมทั้ง ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มบริเวณเมืองละโว้ หรือ จ.ลพบุรี ในปัจจุบัน รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง ศิลปะหนักไปทางศิลปะเขมร เรียกเป็น 'อู่ทองเขมร' ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ในดินแดนของชาวมอญทวารวดี ที่เมืองสุพรรณปุระ หรือ จ.สุพรรณบุรี รวมบริเวณใกล้เคียง  เรียกว่า 'อู่ทองหน้าทวา' ศิลปะทั้ง ๒ กลุ่ม ไหลเข้ามาผสมผสานกันตามโครงสร้างทางการเมือง ก่อนการสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อาทิ หลักฐานสำคัญ เช่น พระประธาน วัดพนัญเชิง หน้ากากพระพุทธรูป ที่ค้นพบที่วัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา และพระประธานปางป่าเลไลยก์ ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี“

 พระอู่ทอง กรุวัดศรีสะอาด ที่ขุดค้นพบได้ที่ จ.เพชรบูรณ์ มีทั้ง พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก แบบพิมพ์ทรงทั้ง ๒ พิมพ์คล้ายคลึงกัน สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง

 พุทธลักษณะ เป็นพระแบบตัดชิดลอยองค์ พิมพ์ใหญ่ องค์พระประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ ตั้งพระชงค์ (เข่า) ชันมากจนเป็นสันตรง ในลักษณะปางมารวิชัย องค์พระประทับนั่งอยู่บนฐานชั้นเดียว

 พระรัศมีเป็นรูปบัวตูม หรือลูกแก้วกลม เม็ดพระศกขมวดเป็นเม็ดกลม แบบก้นหอย ขนาดเล็ก ไม่มีขอบไรพระศก

 พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงยาวจรดกัน คล้ายกับปีกกา พระเนตรเหลือบมองต่ำ พระนาสิกเป็นสันสูงตรง  มีพระโอษฐ์ชัดเจน พระหนุเป็นลอน คล้ายคางคน

 พระศอปรากฏกรองศอ (สร้อยสวมคอ) ๒ เส้น พระกรรณทั้ง ๒ ข้างยาวย้อยสวยงาม ลงมาจรดพระอังสา (บ่า) พระวรกายล่ำสันสมบูรณ์ได้สัดส่วน ชายสังฆาฏิทอดยาวจรดพระนาภี

 ด้านหลัง องค์พระมีลักษณะเรียบ บางองค์ปิดทองเก่าเดิมมาก่อนฝังลงกรุ จึงปรากฏผงทองเก่าติดตามองค์พระ

 ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ ๒,๕ ซม. สูงประมาณ ๔.๕ ซม.
 พระอู่ทอง พิมพ์เล็ก พุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ากันเล็กน้อย และต่างกันตรงที่กรองศอ ปรากฏมีเส้นมากกว่าถึง ๓ เส้น พระรัศมีลักษณะเรียวสูงยาว ไม่ใช่แบบลักษณะรูปบัวตูม

 ด้านหลังองค์พระมีลักษณะเรียบเช่นกัน  ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ  ๒,๒ ซม. สูงประมาณ ๔,๒ ซม.

 พุทธคุณ สูงด้วยพลานุภาพในด้านแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี อีกทั้งยังเสริมสิริมงคลแก่ผู้บูชาได้ดียิ่ง ตามแบบฉบับของตระกูลพระอู่ทอง

 พระพิมพ์นี้ เคยมีผู้ขุดพบที่ ต.นาเกลือ จ.ชลบุรี เป็นพระพิมพ์เดียวกันทุกประการ เข้าใจว่า สร้างพร้อมกัน แล้วแยกมาบรรจุกรุไว้แต่โบราณ 

 สนนราคาเช่าหา พิมพ์ใหญ่ สภาพปานกลาง หลักหมื่นต้นๆ ขึ้นไป ถ้าสภาพสวยสมบูรณ์ สนิมแดงจัด ไขสวยงาม อยู่ที่หลักหมื่นต้น ถึงหมื่นกลาง ส่วนพิมพ์เล็ก สนนราคา ถูกกว่ากันเล็กน้อย

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"