
ยึดมั่นในอุปาทาน๔อาจตีกันตาย?
ยึดมั่นในอุปาทาน๔อาจตีกันตาย? : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา เรื่อง กิตตินันท์ รอดสุพรรณ ภาพ
จะว่าไปแล้ว คำสอนในพระพุทธศาสนาเรานั้น มีมากที่สุดในเรื่องให้ละอัตตา ให้เลิกยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่รู้เป็นไง ชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ยิ่งเข้ามาศึกษาธรรม จนคิดว่าตนพอจะรู้ธรรมะบ้าง กลับเป็นคน ยิ่งยึดมั่น ยึดติด เสียเองซะงั้น? การผิดทิศผิดทาง จากคำสั่งสอนของพระศาสดาไปนั้น มีด้วยกันในหลายระดับ ไม่เพียงแต่เรื่องนี้เท่านั้น มันหมายถึงไปซะแทบทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ ประมาณว่า สอนอย่างทำอย่าง
อย่างเช่น บางคน... แต่ก่อนจะหันมาสนใจธรรมะ ก็ขยันทำแต่ความชั่ว เพราะ “กาม” เป็นเหตุ ยึดติดในกาม หาเงินได้มา ก็เอาไปลงขวด ลงยา ลงสถานบันเทิงหมด ครั้นพอมีสติ ได้กัลยาณมิตรชักจูงให้สนใจธรรม จึงได้ละชั่ว เลิกทำเรื่องไร้สาระ หันมาทำความดีตามความเชื่อของตน แต่ก็ดันไปยึดมั่นในความคาดหวังจากการทำดีนั้น (ติดดี) ไปเสียอีก ปรารถนาจะเกิดใหม่ชาติหน้า ได้เป็นนางฟ้า-เทวดา สิงสถิตอยู่บนสวรรค์ ตามคำโฆษณาของหลายๆ สำนัก ที่เขาโหมกระพือกัน ชีวิตจะสบาย อิ่มทิพย์ ไม่ต้องลำบากทำงานทำการกันอีกต่อไป
หารู้ไม่ว่า ความดีที่ยึดนั้น คือ กลลวงของกิเลส ที่มันซ่อนอยู่ในจิตเรา ทำให้เราไม่หลุดจากการยึดติด “กาม” ไปได้ เพราะไม่ว่าจะเพลินต่อการทำชั่ว หรือติดดี จนสุขสบายหมายมั่นว่าได้ตักตวงบุญพอที่จะเดินทางไปเสพสุขในภพหน้าต่อนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “กามุปาทาน” (ติดยึดมั่นในกาม) อยู่ดี ซึ่งเป็นอุปาทานตัวที่ ๑ ซึ่งเป็นระดับชาวบ้านทั่วไป ซึ่ง การติดดี จะดีอยู่ก็ตรงที่ไม่ติดชั่วแล้ว
แต่ชาวพุทธที่แท้ต้องพัฒนาจิตต่อไปเพื่อความไม่ประมาท ในระดับต่อไป จะต้องหมั่นเพียรบำเพ็ญจิตตภาวนาให้มากขึ้น พัฒนาตน พัฒนาจิต ไม่จมจ่อมอยู่แต่การทำทาน บริจาคเงิน หรือยึดติดอยู่กับการทำดีจนมองเห็นคนอื่นว่า ไม่ดีเท่าตัว หลายคนถือศีลกินเจ กินมังสวิรัติกันเลยทีเดียว ดูเผินๆ แล้ว ก็น่าอนุโมทนาสาธุด้วยจริงๆ การละวางการขบฉันเนื้อสัตว์ โดยธรรมชาติแล้ว จะช่วยให้ความปรารถนาทางกามลดลง ร่างกายเบา น่าจะเอื้อต่อการปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้เป็นยังไง คนบางคนที่ถือศีลกินเจได้แล้ว กลับตาลปัตร พาลคิดว่าตัวเองนั้นวิเศษวิโสเกินเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่ยังกิน (ฉัน) เนื้อสัตว์อยู่ นานๆเข้า ก็กลายเป็นยกตนข่มท่านไปโดยปริยาย... แล้วก็คิดว่าแน่
บ้างก็มาข่มทับชาวพุทธที่กินเนื้ออยู่ว่า เธอยังกินหมูอยู่ จะบรรลุนิพพานได้อย่างไร? ใครยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็เข้าข่าย การยึดติดในศีลของตน “สีลัพพตุปาทาน” เป็นการยึดติดมั่นตัวที่ ๓ (ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าอันตรายน้อยกว่า ตัวที่ ๒ จึงนำมาเขียนไว้เป็นลำดับก่อน)
ระดับถัดมา ส่วนใหญ่จะเป็นอาจงอาจารย์ เป็นถึงนักธรรมถึก คิดว่าตัวเองรู้มาก บางคนปรุงแต่งจนคิดว่าตนเป็นพหูสูตรแล้วก็มีถม ถามอะไรไป ท่านรู้หมด ตอบได้หมด (แต่ยังไม่เริ่มปฏิบัติจิตภาวนาของตนซะที) ชาวพุทธเหล่านี้ ท่านจะมีความเห็นชัดเจน จนผูกพันเป็นของตนเองไปอย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เป็นคำสอนจากบรมครูพระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น พระองค์ไม่เคยเก็บค่าลิขสิทธิ์จากใคร ไม่เคยตีตราเป็นเครื่องหมายการค้า เอาไว้ใช้สำหรับพระองค์ หรือพุทธบริษัทแต่อย่างเดียวเสียเมื่อไหร่
คำสอนของตถาคต เป็นสากล ข้ามพ้นเส้นแบ่งศาสนา เหนือกาลเวลาทั้งสิ้น แต่ครูบาอาจารย์ เปรียญ ๘ เปรียญ ๙ หลายท่าน กลับไปยึดติดมั่น เอาตัวอักษรเหล่านั้น มาฟัดฟาดใส่กัน แบ่งเขา แบ่งเรา ฝ่ายที่เชียร์มหายานก็อาจจะกล่าวอ้างว่า คณะฉันเป็นยานใหญ่ สามารถนำพาสัตว์โลกข้ามไปฝั่งโน้น (พระนิพพาน) ได้มากกว่า ส่วนฝ่ายที่เชียร์เถรวาท ก็ภาคภูมิใจจนคลั่งไคล้ว่า คำสอนเถรวาทนั่นแหละ ของจริง ไม่มีเครื่องเครารกรุงรัง ในตำราก็มุ่งเพื่อการหลุดพ้น เป็นวิมุตติธรรม (พระนิพพาน) โดยถ่ายเดียว... ใครเล่าที่ยังเป็นอย่างนี้อยู่ ก็ถือว่าเข้าข่าย ยึดติดมั่นในความคิด-ความเห็นของตนอย่างแน่นเหนียว ซึ่งถือว่าเป็นอุปาทานตัวที่ ๒ “ทิฏฐุปาทาน”… ความคิด ความเห็นอันเหนียวแน่นนี้ต่างหาก ที่จะพาเราจมปรัก รากงอกอยู่ในสังสารวัฏเสียเอง...
บางทีผมเองก็อดคิดไม่ได้นะครับว่า ชาวนาที่อ่านหนังสือก็ไม่ออก แต่ทั้งชีวิตขลุกเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับธรรมชาติ และพิจารณาเห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต จนน้อมใจ มีโอกาสรับฟังพระสัทธรรมไปนิดหน่อยแค่นั้น แต่เกิดซึ้งใจหันมาทำจิตภาวนาเป็นจริงเป็นจัง อาจมีโอกาสบรรลุ มากกว่า พระด็อกเตอร์ทั้งหลาย ที่กำลังถกเถียงกันในเชิงตัวอักษร อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำนะครับ
และการยึดติดมั่นตัวสุดท้าย (ตัวที่ ๔) ที่มีกันได้ทุกชนชั้น ทุกหมู่เหล่า อันแกะให้หลุดได้ยากที่สุด คือความยึดมั่นในอัตตาตัวตน หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “ตัวกู-ของกู” (อัตตวาทุปาทาน) ฝรั่งว่า การเห็นแก่ตัวเอง (Egoism) ที่มักคิดว่า ตัวเราเป็นใหญ่ ฉันเป็นคนมีชื่อเสียง ร่างกายเป็นของเรา มันจะยังคงทนอยู่อีกนาน เราคงยังไม่ตายภายใน ๑๐-๒๐ ปีนี้แน่นอน? ใครที่คิดแบบนี้ ก็ถือว่ายังประมาทอยู่โข
ยิ่งหลายคน ดันเอาอุปาทานทั้ง ๔ มาผสมรวมกันเป็นยำใหญ่ ยิ่งออกทะเลไปเลย จึงทำให้เดินหลุดออกนอกเส้นทางแห่งมรรคาไปมากมาย เพราะ “ยึดในความหลง” สถานเดียว... บ้างก็หันไปถือศาสนพิธีกรรม จะตัดกรรม หั่นเวร ด้วยเครื่องสแกนกรรม ฯลฯ ก็มี บ้างก็เทใจทั้งหมดให้กับ บางสำนัก บางลัทธิ เพ้อฝันไปว่าได้ถวายทองแท่งกับมือหลวงพ่อที่ตนรักใคร่บูชา ตื่นขึ้นมาก็ทุ่มทำบุญกันจนสุดโต่ง ถึงกับหมดตัวไปเลยก็มี บ้างก็พึงพอใจในคำสอนของพระอาจารย์ของกู จนใครไม่อาจแตะต้องหรือวิจารณ์ท่านได้ เข้าทำนอง อาจารย์ข้า ใครอย่าแตะ สุดท้ายก็กลายเป็นพระอาจารย์บังพระพุทธเจ้าซะมิด ก็มี
บางคนก็ผิดเพี้ยน มัวแต่ไปไล่ล่าหาพระอรหันต์ จนลืมคำสอนของพระพุทธองค์ไป พระอรหันต์ที่ไหนจะอุ้มท่านจนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ ก็ขนาดแม้แต่พระตถาคตเจ้าเอง ยังทรงตรัส แม้พระองค์ก็เป็นเพียงผู้ชี้ทาง การเดินนั้นท่านต้องลงมือทำเอง
หากเราไม่ทำความเข้าใจ และ พิจารณาจิตเราเอง ว่ากำลังยึดติดมั่น อยู่ในอุปาทานทั้ง ๔ หรือตัวหนึ่งตัวใดนี้หรือไม่ อาจเผลอถกเถียง จนตีกันตายทางความคิดได้ เผลอไปสร้างเวรสร้างกรรม สร้างภพสร้างชาติขึ้นมาอีก แม้จะเริ่มต้นกันด้วยเจตนาดีก็ตาม ...
คิดไปคิดมาแล้ว สู้หันกลับสู่ด้านใน น้อมจิตสู่ความสงบ และมีสติในทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จนเห็น ‘ความคิด’ ว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราก็จะเกิดปัญญาที่ไปพ้นลัทธิทั้งหลายทั้งปวง
หนทางนี้แล คือการเดินตามรอยพระพุทธบาททั้งสิ้น ไม่ว่าจะสายไหนก็ตาม และเส้นทางนี้เมื่อได้ก้าวเข้ามาแล้ว ก็มีแค่เพียงการเดิน เท่านั้น แต่หามี “ผู้เดิน” ไม่
ท่านผู้อ่านล่ะ เห็นอย่างไรครับ !
อุปาทาน ๔ มีไว้ ให้สังวร
จิตมนุษย์ มันยอกย้อน อ่อนไหว
เคลื่อนที่เร็ว กว่าแสง ช่างว่องไว
จึงชอบจับ ยึดไว้ อุปาทาน
บ้างยึด “กาม” สุขยิ่ง ทั้งดี-ชั่ว
แต่กลับกลัว มีจิตว่าง เป็นวิหาร
บ้างยึดมั่น ถือมั่น ใน “สีละ” (ศีล)
ยกว่าข้า เหนือกว่าท่าน อยู่หลายชั้น
บ้างยึดติด ฝังแน่น ทาง “ความคิด”
คนอื่นผิด หากคิดเห็น ต่างกับฉัน
บ้างยึดกู เป็น “อัตตา” บ้าพอกัน
๔ ยึดมั่น ทำลายฐาน แห่งมรรคาฯ