พระเครื่อง

เหรียญทรงผนวช'ที่สุด!'แห่งพุทธคุณและค่านิยม

เหรียญทรงผนวช'ที่สุด!'แห่งพุทธคุณและค่านิยม

01 ธ.ค. 2558

เหรียญทรงผนวช'ที่สุด!' แห่งพุทธคุณและค่านิยม : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม-๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙

             ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช อีกทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า

             “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน”

             วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศาโดย สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมี สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ซึ่งทรงได้รับสมญาจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล”

             นายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญพระคณาจารย์ของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า เหรียญที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง อันเป็นที่นิยมสูงสุดและเป็นที่แสวงหาของนักสะสม คือ เหรียญทรงผนวช เป็นเหรียญที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘

             ความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวช ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง ด้วยจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึง ๙ ปี การสร้างเหรียญทรงผนวช มีอยู่ว่า ใน พ.ศ.๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๓๘ พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

             ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วัดบวรนิเวศวิหารสร้างเหรียญทรงผนวชเป็นที่ระลึก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยมีข้อความด้านหลังเหรียญว่า “เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา”

             การจัดสร้างซึ่งเป็นเหรียญที่เชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง

             “เหรียญทรงผนวช” แยกได้เป็น ๒ บล็อก คือ บล็อกธรรมดา และบล็อกนิยม ส่วนค่านิยมนั้นเหรียญทองคำซึ่งเป็นบล็อกธรรมดา ปัจจุบันที่การเช่าหากันหลายล้านบาท ที่เห็นมีเวียนอยู่ในตลาดน้อยมากน่าจะไม่เกิน ๑๐ เหรียญ ซึ่งจะเป็นการซื้อเก็บมากกว่า นานๆ ครั้งจะมีการชื้อขาย ส่วนเนื้ออื่นๆ นั้น เนื้อเงินหลายแสนบาท เนื้อทองแดง ๑-๒ แสนบาท ส่วนเนื้ออัลปาก้า ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ต้องเป็นบล็อกนิยมเท่านั้น

             ขอคุณภาพพระจากรังพระ ของ “นายสุขธรรม ปานศรี” หรือ ที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย”และเจ้าของ “WWW.SOONPRARATCHADA.COM” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดชุดทองคำมานานกว่า ๑๐ ปี และ ผู้ซึ่งครอบครองพระสวยแชมป์องค์ในตำนาน

            

พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กมี ๔๐ องค์


             พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร และพิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒.๐ เซนติเมตร สูง ๓.๐ เซนติเมตร มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน

             พุทธลักษณะพระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุด อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย

             มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิ่น และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผงรวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน 1 คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มี ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก สำหรับพระราชทานให้เด็ก มีจำนวน ๔๐ องค์ โดยสี่องค์แรก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์ ฉะนั้นจึงมีเพียง ๓๖ องค์เท่านั้นที่อยู่ในความครอบครองของพสกนิกร และตามประวัติพระราชทานให้เพียง ๒ ปีเท่านั้น คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘-พ.ศ.๒๕๐๙


พระกำลังแผ่นดินค่านิยมแรง

             “มีพระสมเด็จจิตรลดาถือว่ามีพระบารมีในหลวงคุ้มครองตัว มีความเข้มขลังทุกอณู โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด และค้าขาย ไม่ต้องแขวนเต็มองค์เพียงแค่ชิ้นส่วน หรือฝุ่นผงที่กะเทาะจากองค์พระใครมีไว้ครอบครองก็ถือว่าสุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล ไม่บ่อยครั้งนักของการจัดสร้างวัตถุมงคลที่เส้นพระเกศาของในหลวงเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์”

             ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อในพุทธคุณของ “พระสมเด็จจิตรลดา” หรือ “พระกำลังแผ่นดิน” นั้น เข้าใจว่าท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า “ภูมิ” แปลว่า “แผ่นดิน” ส่วนคำว่า “พล” แปลว่า “กำลัง” จึงเป็นที่มาของพระนาม “พระสมเด็จจิตรลดา” ว่า “พระกำลังแผ่นดิน”

             พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กประมาณ ไม่เกิน ๓,๐๐๐องค์ พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ตั้งแต่ใน พ.ศ.๒๕๐๘ จนสิ้นสุดใน พ.ศ.๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ”

             ณ เวลานี้ พระสมเด็จจิตรลดา ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของคนในวงการพระเครื่อง แต่ต้องแลกมาด้วยเงินไม่ต่ำกว่า ๑.๕ ล้านบาท ซึ่งนับวันตัวเลขดังกล่าวจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ หาเป็นปีที่จัดสร้าง พ.ศ.๒๕๐๘ และ พ.ศ.๒๕๐๙ ค่านิยมจะอยู่ที่ ๒-๓ ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพิมพ์เล็กล่าสุดเท่ามีมีการเช่าซื้อกันสูงถึงเกือบ ๑๐ ล้านบาท

             ด้วยเหตุที่พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระที่มีค่านิยมที่สูง มากด้วยพุทธคุณ รวมทั้งมีความต้องการในตลาดเช่าซื้อสูงมาก ทำให้มีการทำปลอมขึ้นทุกปี ส่วนฝีมือการทำปลอมนับวันจะดีขึ้น โดยเฉพาะพระที่ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ และพ.ศ.๒๕๑๓ รวมทั้งใบกำกับที่พระราชทานมากับองค์พระก็มีการทำปลอมด้วย เรียกว่า “ปลอมทั้งองค์พระ ปลอมทั้งใบกำกับพระ"

             ปัจจุบันที่มี่การเช่าซื้อพระสมเด็จจิตรลดา มีทั้งให้เช่าทั้งที่มีใบกำกับพระ และไม่มีใบกำกับพระ ทั้งนี้ หากขายพระสมเด็จจิตรลดาพร้อมๆ กับใบกำกับพระจะได้ราคาสูงกว่า