
'เมตตา'ของหลวงพ่อชุบเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ จ.กาญจนบุรี
'เมตตา'ของหลวงพ่อชุบเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ จ.กาญจนบุรี : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วัดวังกระแจะ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๘๘/๒ หมู่ ๖ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๔๘ ตารางวา เดิมวัดวังกระแจะเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวของพระธุดงค์ทั่วไป ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๑ ชาวบ้านมีมติให้ตั้งเป็นวัดของหมู่บ้านเพื่อสะดวกในการจัดพิธีกรรมทางศาสนา เริ่มจากการที่ชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆ หลังคามุงจาก ให้พระธุดงค์อยู่จำพรรษาแต่ปรากฏว่าบางปีก็หาพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ได้
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ มีพระธุดงค์ที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านได้เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำละว้า ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านช่วยสร้าง และมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำละว้า ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านช่วยสร้างวัดที่หมู่บ้าน
พระธุดงค์ที่ชาวบ้านนิมนต์ก็คือ พระครูอดุลพิริยานุวัตร หรือหลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ เจ้าอาวาสวัดวังกระแจะรูปปัจจุบัน เมื่อได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาสร้างวัดที่หมู่บ้านแล้วท่านก็เริ่มพัฒนาปรับพื้นที่ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้สร้างวัดได้ และได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด จากนั้นคณะปกครองสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีได้มีหนังสือแต่งตั้งให้หลวงพ่อชุบเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะรูปแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นวัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ วัดได้จัดพิธีผูกพันธสีมาฝังลูกนิมิต
หลวงพ่อชุบ เป็นพระเกจิยุคปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่ง มุ่งมั่นสืบทอดและจรรโลงพระบวรพุทธศาสนาตามเจตนารมณ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาว จ.กาญจนบุรี และใกล้เคียง จากนั้นไม่นานผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นผู้แทนพระองค์เป็นประธานประกอบพิธีประทานพระบรมสารีริกธาตุแก่หลวงพ่อ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดวังกระแจะ อันนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านวังกระแจะอย่างสูงส่ง
หลวงพ่อชุบ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล โยมบิดา-มารดา ชื่อนายปลื้ม-นางช่วงถินนาก พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดคู้สนามจันทร์ ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โดยมีพระอธิการกลึง ธมฺมโชติ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเจียม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการปิ่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ปัญญาวุโธ”
ด้วยเกียรติคุณในการสืบทอดและเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนา หลวงพ่อชุบได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในพระราชทินนามว่า “พระครูอดุลพิริยานุวัตร” ปัจจุบันท่านมีสิริอายุ ๘๙ ปี ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค
ล็อกเกตเหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก
ชีวิตในวัยหนุ่มของหลวงพ่อชุบก่อนที่จะบวชนั้น เป็นเช่นเดียวกับชายชนบททั่วไปจะต้องหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาอาคมต่างๆ ไว้ป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ใครมารังแกข่มเหงได้ ในสมัยนั้นเมืองแม่กลองมีฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วลุ่มน้ำแม่กลองด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ลูกศิษย์ของสำนักนี้เป็นที่รู้กันในหมู่นักเลงว่าหนังดี ขนาดแมลงวันต้องผอมโซเพราะไม่สามารถหาเลือดของลูกศิษย์สำนักนี้กินได้ ฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่กล่าวถึงก็คืออาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว แห่งสำนักสักบ้านหนองอ้อ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
เมื่อเข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รื่น ด้วยอุปนิสัยเด็ดเดี่ยวรักษาสัจจะ อ่อนน้อมถ่อมตน รักการศึกษาเล่าเรียน ทำให้เป็นที่รักของอาจารย์รื่น นายชุบจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์รื่นจนเชี่ยวชาญทุกแขนง อาจารย์รื่นเป็นลูกศิษย์พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระอาจารย์ผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาด้านไสยเวทแขนงต่างๆ ให้อาจารย์รื่น แล้วอาจารย์รื่นได้ถ่ายทอดวิชาไสยเวทแขนงต่างๆ ของหลวงปู่ศุข ให้นายชุบอีกทอดหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่านายชุบเป็นศิษย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยผ่านต่อจากอาจารย์รื่น ฆราวาสจอมขมังเวทย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
เมื่อบวชเป็นพระแล้วได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์ได้ ๔ พรรษา ได้รับถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้อีก ทำให้ความรู้ด้านไสยเวทวิทยาคมต่างๆแกร่งกล้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่วัดเพชรสมุทร ศึกษาพระปริยัติธรรมและยังศึกษาสรรพวิชาสาย “หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม” จากพระมหาสิทธิ การทอง ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อคง จากนั้นออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อปลีกวิเวกและฝึกกรรมฐาน
ครั้นเมื่อหลวงพ่อชุบสร้างวัตถุมงคลรวมทั้งเครื่องรางของขลังเพื่อหาปัจจัยพัฒนาศาสนาสถาน ศาสนวัตถุ และเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดวังกระแจะ อาทิ ล็อกเกต รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๔๙, เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ฉลองอายุครบ ๘๓ ปี พ.ศ.๒๕๕๒ และตะกรุดเงินพอกผงพุทธคุณผสมผงแร่เหล็กน้ำพี้เป็นต้น ปรากฏว่าผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมบริจาคทรัพย์และได้รับวัตถุมงคลไปต่างประจักษ์ในพุทธคุณและพลานุภาพทั้งด้านเมตตามหาอุด แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มขจรไกล มีลูกศิษย์ลูกหามากมายจากทั่วประเทศ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกศิษย์เชื่อมั่นในพุทธคุณวัตถุมงคลหลวงชุบ คือ เมื่อสืบสาวราวเรื่องปรากฏว่าหลวงพ่อชุบท่านได้ร่ำเรียนวิทยาอาคมจนสำเร็จแตกฉาน ทั้งสายหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และสายหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมสองพระเกจิชื่อดังของไทย
เมตตาสร้าง‘ศาลาอเนกประสงค์
ปีนี้ หลวงพ่อชุบดำริสร้าง “ศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ วัดวังกระแจะ” จึงตัดสินใจจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นอีกรุ่นให้ชื่อว่ารุ่น “เมตตา” เพื่อเปิดโอกาสให้สาธุชนได้ร่วมบุญสร้างศาสนสถานทางพุทธศาสนา อันถือเป็นกุศลยิ่งใหญ่ ประกอบพิธีบวงสรวงเททองนำฤกษ์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ท้องฟ้าโปร่งใส ในขณะประกอบพิธี เป็นที่ปรากฏแก่ผู้ร่วมพิธี ต่างพากันปลื้มปีติและกล่าวขานกันปากต่อปาก พากันมาจับจองคับคั่ง
ปัจจุบันแจ้งข่าวคราวกันมาว่าแทบทุกเนื้อใกล้หมดแล้วถ้าเทียบระยะเวลาการดำเนินการนับได้ว่ารวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ เพราะกำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษกจะจัดในปลายปีนี้วันเสาร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ณ มณฑลพิธีวัดวังกระแจะ โดยมีหลวงพ่อชุบ เป็นประธานจัดสร้างฝ่ายสงฆ์ นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานอุปถัมภ์ และนายธนน เวชกรกานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ประธานจัดสร้างฝ่ายฆราวาส
วัตถุมงคลรุ่น “เมตตา” หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธประกอบด้วย “เหรียญเมตตา” เนื้อทองคำ, เนื้อเงินหน้ากากทองคำ, เนื้อเงิน หลังแบบ, เนื้อเงิน ไม่ตัดปีก, เนื้อเงิน ลงยาสีน้ำเงิน, เนื้อเงิน, เนื้อนวโลหะ, เนื้ออัลปาก้า, เนื้อทองทิพย์ และเนื้อทองแดง “พระปิดตามหาลาภ” ชุดเนื้อทองคำ (๑ ชุดมี ๓ องค์), เนื้อเงิน และเนื้อนวโลหะ “พระปรกใบมะขาม” เนื้อเงิน, เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดง
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดวังกระแจะ โทร.๐๘-๑๙๐๙-๘๘๘๔, ๐๘-๕๔๔๔-๒๐๙๙