
พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ศูนย์รวมแห่งพุทธศาสนาสมัยทวารวดี
พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ศูนย์รวมแห่งพุทธศาสนาและศิลปะสมัยทวารวดี : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ใช้เป็นที่รวบรวมและเก็บรักษาโบราณวัตถุหายาก ตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ซึ่งเดิมเก็บรวบรวมไว้ที่ระเบียงคตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๕๔ ได้ย้ายโบราณวัตถุเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาเรียกว่าพระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันยังคงเป็นพิพิธภัณฑสถานในความดูแลของวัดพระปฐมเจดีย์ และใน พ.ศ.๒๔๗๗ ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร
ต่อมาเมื่อจำนวนโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมคับแคบ ใน พ.ศ.๒๕๑๐ กรมศิลปากรจึงได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่ ภายหลังแล้วเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมมาจัดแสดงไว้ที่อาคารทรงไทยประยุกต์หลังปัจจุบัน โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นช่วงอดีตที่รุ่งเรืองของดินแดนนครปฐม ภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑ แนะนำลักษณะทั่วไปของจังหวัดนครปฐม ประวัติความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อรับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาพปูนปั้นรูปชาวต่างประเทศ ศิลาจารึกที่พบบริเวณเมืองโบราณนครปฐม
ส่วนที่ ๒ เสนอเรื่องราวด้านศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีในนครปฐม สะท้อนผ่านงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ โบราณวัตถุที่จัดแสดงในส่วนนี้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมประเภทต่างๆ เช่น พระพุทธรูป ภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ภาพปูนปั้นเรื่องชาดกประดับฐานเจดีย์และธรรมจักร
ส่วนที่ ๓ เรื่องราวของนครปฐมหลังความรุ่งเรืองสมัยทวารวดี จนถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์และเป็นงานสำคัญที่สืบเนื่องต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่นครปฐมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑลนครชัยศรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น เมืองนครปฐมได้รับการพัฒนาเรื่อยมา
พระศรีวิสุทธิวงศ์ หรือพระมหาสุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๕ ฝ่ายมหานิกาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร และเจ้าคณะอำเภอบางเลน บอกว่า ประมาณ พ.ศ.๒๓๖ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย
เหตุผลที่มีการสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่ จ.นครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับตามยุคสมัยต่อไปนี้" พระศรีวิสุทธิวงศ์ กล่าว
ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ มีบทบาทในการเก็บรักษามรดกอันมีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติเพื่อประโยชน์ในการศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐
พระขาว หลวงพ่อขาว
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร ชาวบ้านเรียกว่า พระขาว หรือหลวงพ่อขาว มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับองค์ที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ มณฑลลานชั้นลด ด้านทิศใต้องค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยทวารวดี (พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๖๐๐) เดิมอยู่ที่โบราณสถานวัดทุ่งพระเมรุ นครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณสองกิโลเมตร เป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูปศิลาขาว ๔ องค์
ทั้งนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวไว้ในหนังสือ “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่า พระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์ ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระเมรุจังหวัดนครปฐมนั้น ในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรได้ขนย้ายกันมาประดิษฐานไว้ในวัดพระยากง จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์ คงทิ้งไว้ที่เดิม ๑ องค์ กับชิ้นส่วนบางท่อน ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้นำองค์ที่คงอยู่ ณ ที่เดิมนั้นไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ กับในรัชกาลที่ ๕ ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ ระเบียงพระปฐมเจดีย์
ส่วนที่นำไปไว้ในวัดพระยากงนั้น ต่อมาราว ๒๐ ปีมานี้มีผู้ศรัทธานำบางส่วนมาประกอบเป็นองค์ไว้ที่วัดขุนพรหม ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากงก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร ๒ พระเศียร ให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย แล้วนำมาขายไว้ ณ ร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม และกรมศิลปากรได้นำมาคืนประกอบเข้าแล้วนำไปจัดตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตามด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้นำพระพุทธรูปองค์ที่วัดขุนพรหม กับชิ้นส่วนจากวัดพระยากง มาประกอบเต็มองค์โดยถูกลดส่วนสัดได้ ๓ องค์ จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาองค์หนึ่ง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครหนึ่งองค์ และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า “พระพุทธนรเชษฐ์เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
งานองค์พระกลางเดือนสิบสอง
องค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ หรือชาวบ้านเรียกว่า “กลางเดือนสิบสอง” และ “งานองค์พระ” เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน โดยในปี ๒๕๕๘ นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒-๓๐ พฤศจิกายน แต่ทางวัดจัดให้มีงานล่วงหน้า ๒ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ ๒ วัน
“งานองค์พระ” เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ครั้งใหญ่แล้วยังให้ขุด “คลองเจดีย์บูชา” ตั้งแต่บ้านท่านามาจนถึงกลางเมืองนครปฐม เพื่อใช้เป็นเส้นทางมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อีกด้วย พระมหาสุวิทย์ บอกว่าในช่วงเทศกาลมีผู้คนทุกสารทิศมาบูชาองค์พระปฐมเจดีย์ใหญ่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ดอกไม้ธูปเทียนและผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีความเชื่อกันว่าได้บุญกุศล ส่งให้มีชีวิตที่ดีในอนาคต
“งานองค์พระมิใช่เพียงแค่งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อย่างเดียว หากเป็นงานนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหารต่างๆ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ พระนอน พระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทุกปาง โดยเฉพาะก่อนงาน ๕ วัน หรือวันที่ ๒ พฤศจิกายน เป็นงานวันพระร่วงโรจนฤทธิ์” พระมหาสุวิทย์กล่าว