พระเครื่อง

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรพระพุทธรูปที่แสดงถึงความสมานฉันท์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรพระพุทธรูปที่แสดงถึงความสมานฉันท์ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              พระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร หรือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพุทธลักษณธพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้ามเป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี

 
              พระพุทธจริยาที่ทรงแสดงตอนนี้เป็นมงคล แสดงอานุภาพของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรม เล็งเห็นเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเรียกว่า ปางห้ามสมุทร บ้าง เรียกว่า ปางห้ามญาติ บ้าง ดังนั้นปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติจึงเป็นปางเดียวกัน
 
              อย่างไรก็ตามมีบางท่านกล่าวค้านว่า ปางห้ามญาติยกมือเดียว ปางห้ามสมุทรยก ๒ และแล้วก็ถูกบางท่านกล่าวค้านว่าไม่ถูก ปางห้ามสมุทรยกมือเดียว ปางห้ามญาติยก ๒ มือ คือ ห้ามทั้งสองฝ่ายต้องยก ๒ มือ ถ้ายกมือเดียวก็ห้ามฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่ไม่ถูกห้ามก็จะได้ใจ แต่ฝ่ายถูกห้ามจะเสียใจ จะไม่เชื่อถือ แล้วสงครามก็จะไม่สงบ
 
              ตามเหตุผลเรื่องหลังนี้แยบคายดีกว่า ถ้าเรียกพระพุทธรูปปางนี้รวมกันเป็นชื่อเดียวว่า “ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร” เรื่องก็น่าจะยุติ ด้วยสมเหตุสมผล ควรแก่การเชื่อถือ ตามนัยนี้
 
              เรื่องพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติ เป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ ๒ ข้างนี้ เข้าใจว่ามีนักปราชญ์สันนิษฐานว่าเป็นความจริงมาแล้ว แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้ ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธจริยาตอนนี้ และทรงสร้างขึ้นไว้ด้วยพระราชศรัทธาก็มี ทั้งดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะทรงให้เป็นคุณประโยชน์ดังเรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ด้วย
 
              เมื่อพระบรมศาสดาทรงโปรดพระยสะแล้ว ต่อมาก็แสดงธรรม โปรดวิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ เสฏฐีบุตร รวม ๔ คน กับมาณพอีก ๕o คน ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนของพระยสะ ให้สำเร็จแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา รวมเป็นอริยสงฆ์สาวก ๖o องค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาทรงเห็นว่า บัดนี้ควรจะประกาศศาสนาได้แล้ว จึงตรัสเรียกพระสาวกทั้ง ๖o องค์มาแล้ว ทรงรับสั่งว่า
 
              “ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลายเช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ชุมชน เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์...”
 
              ครั้งทรงส่งพระสาวก ๖o องค์ไปประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ครั้งถึงไร่ฝ้าย ทรงพบภัทรวัคคีกุมาร ๓o คน ได้ทรงแสดงธรรมโปรดกุมารทั้ง ๓o คนนั้น ให้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุในพระศาสนาแล้ว ทรงส่งให้ออกไปประกาศพระศาสนาทั้ง ๓o องค์ เช่นเดียวกับพระสาวกทั้ง ๖o นั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลากัสสป หัวหน้าชฎิล ๕oo ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชนในมคธรัฐเป็นอันมาก
 
              ต่อมาก็ทรงทำปาฏิหาริย์นานัปการ เริ่มตั้งแต่ทรมารพญานาคในโรงไฟอันเป็นที่นับถือของชฎิลเหล่านั้นให้มีฤทธิ์แล้ว ประทับอยู่ที่โรงไฟนั้นโดยผาสุกวิหาร ให้ชฎิลทั้งหลายมีความเคารพนับถือในอานุภาพของพระองค์แล้ว ทรงทำปาฏิหาริย์อื่นๆ อีก ในครั้งสุดท้ายทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำ ซึ่งไหลบ่ามาจากทิศต่างๆ ท่วมสำนักท่านอุรุเวลากัสสปมิให้น้ำเข้ามาในที่พระองค์ประทับ พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน
 
              ครั้งนั้นชฎิลทั้งหลายพากันพายเรือมาดู ต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ในที่สุดก็สิ้นพยศทั้งหมดยอมเป็นศิษย์ตั้งอยู่ในพระโอวาท ถึงกับลอยบริขารของชฎิลลงทิ้งเสียในแม่น้ำแล้ว ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธจริยาที่ทรงทำครั้งนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร”
 
ตำนานแห่ง “ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร”
 
              ในพระนครกบิลพัสดุ์ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าศากยะ ซึ่งพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธบิดา กับพระนครเทวทหะ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินี ชาวนาของเมืองทั้งสองนี้อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหินีทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข สมัยหนึ่งฝนน้อย น้ำในแม่น้ำก็น้อยชาวนาทั้งหมดต้องกั้นทำนบทดน้ำในแม่น้ำนี้ขึ้นทำนา แม้ดังนั้นแล้วน้ำก็หาเพียงพอไม่ เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำทำนากันขึ้น
 
              ชั้นแรกก็เป็นการวิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี การวิวาทก็ลุกลามมากขึ้น จนถึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าประหารกัน และด่าว่ากระทบถึงชาติโคตร และลามปามไปถึงราชวงศ์ในที่สุด กษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระนคร ก็กรีธาทัพออกประชิดกันยังแม่น้ำโรหินี เพื่อสัมประหารกัน โดยหลงเชื่อคำเพ็ดทูลของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้นกัน มิทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่องแท้ว่า เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้วควรจะทรงระงับเสียด้วยสันติวิธี อันชอบด้วยพระราโชบายที่รักษาสันติสุขของประเทศ
 
              พระบรมศาสดาทรงทราบ ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสอง โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์ โดยไม่พอที่จะต้องพากันล้มตายทำลายเกียรติของกษัตริย์เพราะเหตุแย่งน้ำเข้านาเล็กน้อย ครั้นพระญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจคืนดีกันแล้วก็เสด็จพระพุทธดำเนินกลับ
 
              พระพุทธจริยาที่ทรงทำครั้งนี้ ได้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนที่นิยมในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าถือเป็นมงคลอันสูงเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า “ปางห้ามญาติ”
 
 
พระกริ่งปวเรศสุดยอดแห่งพระกริ่ง
 
              ประวัติการสร้างพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศ สร้างครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ โดยสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ทรงสร้างเพื่อทดแทนพระกริ่งปวเรศทองคำที่หายไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ ในพระราชพิธีมุรธาภิเษกและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ (ร.๔) และขณะรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๙ พระชันษา เพื่อใช้ในพระราชพิธีเจริญน้ำพระพุทธมนต์ พิธีรับพระสุพรรณบัฏ (พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๕๐-๕๑) จำนวนการสร้าง ๓ องค์
 
              สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ โปรดให้สร้างพระกริ่งปวเรศขึ้น โดยฝีมือของช่างสิบหมู่ หรือช่างหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๒-๒๔๓๔ ตามประวัติมีการจัดสร้าง ๖ ครั้ง ระบุจำนวนให้ทราบเพียง ๒ ครั้ง รวมแล้วได้ ๑๒ องค์ แต่ก็สร้างเพื่อพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์เท่านั้นมีเพียงครั้งที่ ๖ เพื่อฉลองสมณศักดิ์สมเด็จกรมพระยาปวเรศ ที่อาจสร้างแจกเป็นที่ระลึกให้ข้าราชบริพาน พระสกนิกร ในสมัยนั้นแต่ก็ไม่ระบุจำนวนการสร้าง และก็มีหลายแบบพิมพ์ทรง
 
              พระกริ่งปวเรศ ถือว่ามีพลังพุทธนุภาพแรงที่สุด เริ่มมีชื่อเสียงในวงแคบๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาถึงยุคของรัชกาลที่ ๕ พระกริ่งที่โด่งดังในอดีตล้วนแต่เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต ในวงการพระเครื่องรางที่นับถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่องปัจจุบัน มีราคาซื้อขายสูงที่สุดในประเภทพระโลหะ
 
              พุทธลักษณะของพระกริ่งปวเรศ เป็นรูปหล่อลอยองค์ ประทับนั่งสมาธิเพชร (วัชรสานะ) เหนืออาสนะบัลลังก์ บัวคว่ำ บัวหงาย ๒ ชั้น ชั้นละ ๗ กลีบ ฐานด้านหลัง ยื่นเล็กน้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ชั้นละ ๑ กลีบ พระเกศแบบตุ้มหรือบัวตูม ฐานพระเมาลี ด้านหน้า ปรากฏรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระศกแบบตอก “รอยตุ๊ดตู่” ปราศจากไรพระศก ใต้ฐานไม่ปะก้น หรือรอยเจาะก้นสำหรับบรรจุลูกกริ่งเหมือนทั่วๆ ไป แต่กว้านก้นลึก และกว้าง (กว้าง ๑ ซม. ยาว ๑.๖ ซม.)
 
              ขอบคุณภาพ “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร” และ “พระกริ่งปวเรศทองคำ” ในความรอบครองของนายสุขธรรม ปานศรี หรือที่ “เฮียกุ่ย รัชดา” เจ้าของ “WWW.SOONPRARATCHADA.COM” หากใครอยากชมบารมีองค์จริงได้ที่ โทร.๐๘-๑๘๑-๗๗๗๗๗
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ