
พระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูดพ.ศ.๒๔๔๓หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว
01 พ.ย. 2558
พระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูดพ.ศ.๒๔๔๓ หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง
หลวงปู่บุญ หรือ พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านพุทธาคมและไสยศาสตร์อย่างแตกฉาน วัตถุมงคลที่ท่านสร้างจึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ทุกรุ่น และมีประสบการณ์ในทุกด้าน นอกจากนี้ ท่านยังมีวิชาพิเศษ ที่พระเกจิอาจารย์น้อยท่านที่จะทำได้ อาทิ ผงยาจินดามณี หรือ ผงยาวาสนา, ประคำนเรศวรปราบหงสาวดี เบี้ยแก้ ฯลฯ
ตามประวัติ ท่านมีความสนิทสนมกับ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนฯ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระศรีสมโพธิ์” โดยเจ้าประคุณสมเด็จได้เสด็จไปหา หลวงปู่บุญ ที่วัดกลางบางแก้วเสมอๆ
เมื่อ หลวงปู่บุญ มีดำริที่จะสร้าง พระชัยวัฒน์ ย่อมแน่นอนว่า สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ผู้ชำนาญการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ มีส่วนช่วยเหลือในการจัดสร้าง เพื่อให้ถูกต้องตามตำราทุกขั้นตอน
พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ จัดสร้างด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ เมื่อ ร.ศ.๑๑๘ ตามตัวเลขที่ปรากฏตรงฐาน พระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด องค์ยอดช่อ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๓
พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ชะลูด, พิมพ์ขัดสมาธิเพชร บัวชั้นเดียว, พิมพ์ป้อมใหญ่, พิมพ์ป้อมเล็ก (คอหนอก)
พิมพ์ที่ได้รับความนิยมสุด คือ พิมพ์ชะลูด พระรุ่นนี้ หลวงปู่บุญ ได้แจกสมนาคุณแก่ชาวบ้านที่มาทำบุญที่วัด และส่วนหนึ่งเก็บไว้บนเพดานมณฑป ภายในวัดกลางบางแก้ว
ต่อมาได้มีคนร้ายแอบขึ้นไปขโมยพระเครื่องต่างๆ บนเพดานมณฑป รวมทั้ง พระชัยวัฒน์ รุ่นนี้ด้วย เมื่อทางวัดทราบเรื่อง จึงได้มีการขนพระเครื่องส่วนที่เหลือลงมา เมื่อปี ๒๕๑๖ พร้อมกับนำส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านทำบุญบูชา รวมทั้งพระเครื่องอื่นๆ
สำหรับ พระชัยวัฒน์ ให้ทำบุญองค์ละ ๑๐๐-๑๕๐ บาท และที่เป็นช่อก็มี สมัยนั้นมีผู้ทำบุญเป็นช่อ แล้วนำไปตัดแบ่งให้บูชาองค์ละ ๒๐๐ บาท เฉพาะพิมพ์ชะลูด ๓๐๐ บาท (ปัจจุบันสนนราคาหลักแสน สำหรับพิมพ์ชะลูด และหลักหมื่นสำหรับพิมพ์อื่นๆ)
พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ มีพิมพ์ทรงคล้ายกับ พระชัยวัฒน์ ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม ซึ่งสร้างในช่วงเดียวกัน ท่านใดสร้างก่อนสร้างหลัง เป็นปัญหาที่มีผู้สงสัยกันมานาน
เรื่องนี้ อ.สุธน ศรีหิรัญ ศิษย์วัดกลางบางแก้ว ผู้มีข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องวัดนี้เป็นอย่างดี ได้เขียนไว้ในนิตยสาร “ลานโพธิ์” ตอนหนึ่งว่า
“พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ร.ศ.๑๑๘ ที่จารจารึกไว้องค์ปลายสุดของพุ่มช่อ พิมพ์ชะลูด เป็นข้อมูลที่บ่งบอกให้ทราบถึง ปีที่สร้าง ซึ่งเมื่อเทียบเป็น พ.ศ. แล้วก็คือ พ.ศ.๒๔๔๓
ในบรรดา พระชัยวัฒน์ ของ หลวงปู่บุญ หลากหลายพิมพ์นั้น พิมพ์ชะลูด และ พิมพ์ต้อ ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากกว่าพิมพ์อื่นๆ อาจเป็นด้วยเอกลักษณ์ ของพิมพ์ทรงก็คงจะเป็นได้
กรณีของ พิมพ์ชะลูด นั้น มีข้อถกกันบ้างว่าเป็น พิมพ์เดียวกันกับของ ท่านเจ้ามา พิมพ์ฐานสูง ซึ่งปรากฏ ร.ศ.๑๑๘ เช่นเดียวกันหรือไม่ คงเป็นปัญหาที่พูดถึงกันไม่รู้จักจบสิ้น หลักฐานชัดเจนของ ท่านเจ้ามา ที่มีต่อ พระชัยวัฒน์ พิมพ์นี้ จะมีอย่างไร ผู้เขียนเองก็ยังไม่สามารถสืบหาได้ชัดเจน และยังไม่มีท่านใดได้เขียน โดยอ้างอิงหลักฐานสนับสนุน ให้ปักใจเชื่อได้ชัดเจนเช่นกัน เพียงแต่กล่าวว่า เป็นพิมพ์เดียวกัน แต่ของ ท่านเจ้ามา นั้น เนื้อของพระออกกระแสแดง หรือ แก่ทองแดง ส่วนของ หลวงปู่บุญ เนื้อออกกระแสเหลือง
ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนจะกล่าวกันมากที่สุด ในการยืนยันว่าองค์ไหนเป็นของ ท่านเจ้ามา หรือองค์ไหนเป็นของ หลวงปู่บุญ
จะอย่างไรก็ตาม ในส่วนของ หลวงปู่บุญ นั้น ปรากฏหลักฐานทางการสร้างที่ชัดเจน องค์ที่ปรากฏอยู่ในพุ่มช่อ ก็คงหลักฐานทางรูปธรรมให้เห็น หากท่านจะเดินทางไปชม พิพิธภัณฑ์ พระพุทธวิถีนายก ณ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก็จะเห็น พระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด ที่ยังเป็นพุ่มช่อ (มิได้ตัด) สมบูรณ์แบบให้เห็นอยู่ไม่น้อยกว่า ๕ ช่อ (มากกว่า ๔๐๐ องค์)
สำหรับกรณีเนื้อกระแสแดงนั้น ของ หลวงปู่บุญ ก็มีจำนวนไม่น้อย ยิ่งกว่ากระแสแดง คือ เนื้อกลับดำสนิท ก็มีไม่น้อย ที่ออกกระแสสัมฤทธิ์ ก็มีอยู่มาก เพราะการหล่อพระจำนวนมากๆ กระแสโลหะย่อมมีหลากหลายเป็นธรรมดา....”
(ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก อ.สุธน ศรีหิรัญ, ภาพ “หลวงปู่บุญ” จากหนังสือ “พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว” และภาพพระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด จาก คุณยุทธชัย ปฐมวัฒนศิริ (อ้วน นครปฐม)