
สมเด็จปรกโพธิ์ไม่ตัดปีกจากหนังสือ'ทำเนียบสมเด็จวัดระฆัง'
สมเด็จปรกโพธิ์ไม่ตัดปีกจากหนังสือ'ทำเนียบสมเด็จวัดระฆัง' : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
“พระไม่ตัดปีก” หมายถึง พระเครื่องที่พิมพ์ หรือปั๊มออกมาแล้วไม่มีการตัดขอบด้านข้าง เนื้อหรือมวลสารที่เกินก็ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีการตัดให้เป็นรูปลักษณ์ตามแบบแม่พิมพ์ที่กำหนด เช่น ทรงกลม รูปไข่ และสี่เหลี่ยม
พระกรุที่ไม่ตัดปีกหลายกรุ เช่น พระกรุวัดเชตุพน จ.สุโขทัย มีทั้งเนื้อชินและเนื้อดิน พระพิจิตข้างเม็ด กรุเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย พระกรุวัดชัยมงคล พิมพ์ใบพุธทรา จ.พระนครศรีอยุธยา มีทั้งเนื้อชินและเนื้อดิน พระท่ากระดาน หลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี ส่วนที่เป็นพระเกจิอาจารย์และพระพุทธมี เช่น เหรียญหลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ บางรุ่น พระชัยวัฒน์ปั๊ม หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีอยู่หลายรุ่น
ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพระลองพิมพ์ ทั้งนี้ กรรมการวัดจะเก็บไว้ หรือทางวัดออกให้เช่าบูชาในหมู่กรรมการเป็นพิมพ์พิเศษ ส่วนใหญ่จะมีราคาแพงกว่าพระทั่วๆ ไป ด้วยเหตุที่เป็นพระที่ขึ้นชื่อว่าแพงและหายาก ปัจจุบันนี้มีวัดหลายแห่งสร้างพระไม่ตัดปีกออกมาให้เช่าบูชาโดยเฉพาะ เช่น เหรียญหลวงหลวงพ่อคูณบางรุ่น
กรณีพระสมเด็จวัดระฆัง สภาพที่ยังไม่ตัดขอบทั้ง ๔ ด้าน หรือในวงการพระเครื่องเรียกว่า “พระไม่ตัดปีก” เป็นเรื่องสุดที่จะเหลื่อเชื่อว่ามีอยู่จริง และยิ่งกว่านั้นเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่าเป็นพระแท้
พระสมเด็จวัดระฆังไม่ตัดปีก ปรากฏโฉมครั้งแรกในหนังสือ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย” เล่ม ๓ ที่จัดพิมพ์ โดย “ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม” ซึ่งมีนายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ “เสี่ยกล้า” เป็นประธานชมรม ซึ่งมีความหนากว่า ๔๐๐ หน้า สี่สีทั้งเล่ม เข้าเล่มเย็บกี่อย่างดี มีความเป็นมาตรฐานในการจัดพิมพ์เช่นเดียวกับหนังสือพระทั่วๆ ไป
สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น “พระสมเด็จปรกโพธิ์ไม่ตัดปีก” จากหนังสือ “ทำเนียบสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังษี” เล่ม ๔ ที่จัดพิมพ์ โดย “ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม”
แม้ว่าเซียนพระของสมาคมพระเครื่องจะระบุว่าเป็นการเล่นพระผิดทาง รูปพระสมเด็จที่จัดพิมพ์ในหนังสือเป็นพระที่วงการไม่เล่นกัน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยสนใจการเล่นพระและซื้อหนังสือในแนวของชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม ทั้งนี้ ถ้าอ่านเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาพระสมเด็จโดยไม่มีอคติใดๆ บางส่วนของข้อมูลใน “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย” ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามมีเซียนพระจำนวนไม่น้อยทั้งเซียนเล็กเซียนใหญ่มักสวดว่า “การเล่นพระสมเด็จของชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม เป็นการเล่นพระสมเด็จผิดทาง” แต่ก็มีพระอยู่รุ่นหนึ่งที่ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยามไม่เล่นเหมือนกับเซียนเล็กเซียนใหญ่ที่ออกมาสวด คือ “พระขุนแผนกรุวัดอัมพวัน จ.นนทบุรี” โดยมีเหตุผลสั้นๆ ว่า “ทางใครทางมัน ผมไม่ถนัด”
ข้อคิดอย่างหนึ่งของการเป็นเซียนพระที่ดีนั้น แน่นอนที่สุดว่าการดูพระแท้เป็นสิ่งดีที่สุด แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่าคือต้องดูพระปลอมเป็น ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าฝีมือการปลอมพระมือถึงขั้นเทพ ชนิดที่เซียนเล็กเซียนใหญ่กลืนเลือดเป็นทิวแถว ยิ่งพระสมเด็จถ้าดูพลาดเมื่อไรต้องเสียค่าครูหลักแสน และที่ผ่านมามีเซียนใหญ่หลายคนเสียค่าครูซื้อพระสมเด็จปลอมมาดูในราคาหลักแสนบาท ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเซียนใหญ่ซื้อสมเด็จปลอมองค์ละเป็นแสนมีอยู่จริงและหลายคนด้วย ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ดูพระสมเด็จไม่เป็นแต่ด้วยเหตุผลเดียวคือ “ความโลภเข้าตา”