พระเครื่อง

เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น๓สร้างมากที่สุด'หลายครั้ง

เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น๓สร้างมากที่สุด'หลายครั้ง

13 ต.ค. 2558

เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น๓สร้างมากที่สุด'หลายครั้ง หลายพิมพ์ และหลายเนื้อ' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น๓สร้างมากที่สุด\'หลายครั้ง

              หลวงปู่ทวด (หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์) เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยจากตำนานท้องถิ่น ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่า พระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง

              ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ ๑ ใน ๒ มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

              สำหรับคาถาสักการบูชาหลวงปู่ทวด “นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา” ซึ่งมีความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีโชคซึ่งเข้ามาสถิตอยู่ในตัวของข้าพเจ้านี้” คำว่า อาคนฺติมาย ควรจะเป็น อาคนฺตีมาย เนื่องจากเป็นคำสนธิระหว่าง อาคนฺติ กับ อิมาย แต่คงเสียงสระสั้นไว้เพื่อความไพเราะของภาษา

              อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชะเอม แก้วคลาย (ป.ธ.๗) และอาจารย์สุวัฒน์ โกพลรัตน์ (ป.ธ.๙) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณของหอสมุดแห่งชาติ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า คาถานี้ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ภาษาบาลี แต่เป็นการผูกเงื่อนงำในทางความหมาย การผูกประโยคจึงต้องนำศัพท์เข้ามาเพิ่ม ประโยคที่สมบูรณ์จึงควรเป็นดังนี้

              “โย เถโร โพธิสตฺโต อิติภควา อิมาย ชนาย อาคนฺติ นโม ตสฺส โพธิสตฺตสฺส อิติภควโต เถรสฺส อตฺถุ” หมายถึง “อันว่าพระเถระรูปใดเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคย่อมมาสู่ชน (หรือบุคคล) ผู้นี้อันว่าความนอบน้อมขอจงมีแก่พระเถระ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้ชื่อว่าผู้มีโชครูปนั้น”

              เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่ท่านพระครูวิสัยโสภณ หรือ อาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้จัดสร้างขึ้นในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นมีมากมายหลายรุ่นหลายพิมพ์ ในบรรดาเหรียญทั้งหมดที่ท่านอาจารย์ทิมสร้างนั้น ท่านสร้างเหรียญรุ่น ๓ จำนวนมากที่สุด และมีพิมพ์มากที่สุด อีกทั้งเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากมายที่สุดและเป็นที่ยอมรับในวงการพระเครื่องพระบูชาไทย

              ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่า “เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น ๓ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งเป็นเหรียญปั๊มทั้งหมด อาจจะมีมากถึง ๔๐ พิมพ์ เนื่องจากเหรียญรุ่น ๓ นี้เป็นเหรียญที่มีแม่พิมพ์มากที่สุดจำยากที่สุดด้วย เพราะโรงงานเอาแม่พิมพ์ด้านหลังของเหรียญมาสลับสับเปลี่ยนกัน จึงทำให้ปั๊มเหรียญพระหลวงพ่อทวดรุ่น ๓ ออกมามีมากมายหลายพิมพ์"

              ขอบคุณภาพเหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น ๓ จากนายสุธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท แม็กกา อาร์.ดี. (กรุ๊ป) จำกัด นักสะสมพระหลวงพ่อทวดชุดทองคำมานานกว่า ๑๐ ปี และเจ้าของ "WWW.SOONPRARATCHADA.COM


๕ พิมพ์นิยมหลวงปู่ทวดรุ่น ๓

              นายวิจิตร ปิยะศิริโสฬส หรือ เจ้าของฉายา แพะ สงขลา ได้เคยจัดลำดับความนิยมพระหลวงปู่รุ่น ๓ ไว้ดังนี้

              ๑.พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดข้างเดียว (หรือที่บางท่านเรียกว่า พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดขาด) เหรียญนี้เฉพาะเนื้อทองแดงเป็นที่นิยมสูงสุดของเหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๓ เนื่องจากเป็นเหรียญที่มีน้อยและหายาก จุดเด่นของเหรียญรุ่นนี้คือ ที่จมูกหลวงพ่อทวดตรงกลางจะคดเล็กน้อย ซึ่งเป็นเฉพาะพิมพ์นี้พิมพ์เดียว ส่วนพิมพ์อื่นๆ จมูกจะตั้งตรงทั้งหมด และเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของเหรียญพิมพ์นี้ คือ ตรงเอวของหลวงพ่อทวด มีผ้ารัดประคดซ้ายเพียงข้างเดียว ข้างขวาไม่มี ทั้งนี้อาจจะเกิดมาจากความพลั้งเผลอของช่างแกะแม่พิมพ์ เมื่อปั๊มเหรียญออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง ถึงได้พบเห็นความผิดพลาดตรงจุดนี้ จึงได้แก้ไขแม่พิมพ์ใหม่

              ๒.พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดเต็ม เหรียญพิมพ์นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผ้ารัดประคด ที่เอวของหลวงพ่อทวด มีครบทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เหมือนกับเหรียญทั่วๆ ไป แต่ที่พิเศษของเหรียญพิมพ์นี้ คือ มี ๒ จุด เหมือนกับ เหรียญพิมพ์รัดประคดข้างเดียว ๒ จุด ซึ่งเหรียญทั่วๆ ไปไม่มี ๒ จุดดังกล่าว (มีเพียงจุดบนเท่านั้น) ทำให้ เหรียญพิมพ์ ๒ จุด รัดประคดเต็ม มีน้อยและหายากเช่นกัน ๓.พิมพ์หน้าผาก ๒ เส้น ยาว รัดประคดข้างเดียว พิมพ์นี้ค่อนข้างหายากพิมพ์หนึ่งในบรรดาเหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๓ สนนราคาค่านิยมจึงสูงกว่าเหรียญทั่วๆ ไป ไม่หนีห่าง เหรียญพิมพ์ ๒ จุด ทั้งรัดประคดข้างเดียว และรัดประคดเต็ม อีกทั้งเหรียญพิมพ์นี้ด้านหน้ารูปหลวงพ่อทวดมีใบหน้ากลม อิ่มเอิบ

              ๔.พิมพ์กิ่งไผ่ (หรือ พิมพ์ ๓ ขีดใน) แบบไม่มีเม็ดผด ในวงการพระ ราคาค่านิยมเล่นหากันใกล้เคียงกับ เหรียญรุ่น ๓ พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดข้างเดียว, เหรียญรุ่น ๓ พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดเต็ม และเหรียญรุ่น ๓ พิมพ์หน้าผาก ๒ เส้นยาว แสดงว่า เหรียญพิมพ์กิ่งไผ่ (๓ ขีดใน) เป็นที่นิยมของวงการพระอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความสวยงามคมชัด และหายากก็ได้

              ๕.พิมพ์ลึกข้างขีด พิมพ์นี้ถือเป็น เหรียญรุ่น ๓ พิมพ์ลึก ที่หาดูได้ยากพิมพ์หนึ่ง เป็นการเรียกขานกันในหมู่นักสะสมพระรุ่นอาวุโส เอกลักษณ์พิเศษของเหรียญรุ่นนี้ พิจารณาจากด้านหน้าเหรียญ ตรงบริเวณเส้นคั่นระหว่างขอบลายกนก และตัวอักขระขอม จะมีขีดคมๆ สั้นๆ คล้ายหนามทุเรียน เกือบเต็มทั้งด้านหน้าเหรียญ อันเป็นที่มาของชื่อ พิมพ์ลึกข้างขีด และใบหน้าหลวงพ่อทวดมีลักษณะยิ้มเล็กน้อย อย่างเห็นได้ชัดเจน และที่น่าสังเกตคือ ด้านหลังของเหรียญพิมพ์นี้ เป็นแม่พิมพ์เดียวกับ เหรียญพิมพ์ ๒ จุด รัดประคดข้างเดียว และรัดประคดข้างเต็ม


พิมพ์ช้างปล้องนิยมสุด

              ในบรรดาเหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ พบว่า เหรียญรุ่น ๓ ส่วนใหญ่สร้างเป็นรูปทรงเสมา เหรียญรูปไข่ก็มี แต่มีน้อย นับได้ว่าเหรียญรุ่น ๓ เป็นเหรียญที่มีจำนวนสร้างมากที่สุด หลายครั้ง หลายพิมพ์ และหลายเนื้อ อาทิ เนื้อทองแดงรมดำ หรือลงกะไหล่ หรือผิวไฟ, เนื้ออัลปาก้า, เนื้อเงิน (ลงยาและไม่ลงยา) และเนื้อทองคำ เป็นต้น

              เหรียญรุ่น ๓ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และหายากที่สุด (หากไม่นับเหรียญเนื้อทองคำ และเนื้อเงินลงยาซึ่งมีน้อยมาก) ในลำดับค่านิยมที่ใกล้เคียงกัน คือ เหรียญเสมา พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดข้างเดียว, เหรียญเสมา พิมพ์ ๒ จุด รัดประคดเต็ม, เหรียญเสมา พิมพ์หน้าผาก ๒ เส้น รัดประคดข้างเดียว และเหรียญเสมา พิมพ์ ๓ ขีดใน (หรือที่บางคนเรียกว่า “พิมพ์กิ่งไผ่”) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะ เหรียญรุ่น ๓ ที่สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าแล้ว ถือได้ว่า เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์ช้างปล้อง จัดเป็นพิมพ์นิยมสุด

              สำหรับเหตุผลที่เรียกว่า พิมพ์ช้างปล้อง ดูได้จากบนงวงของช้างที่หมอบอยู่ข้างเข่าองค์หลวงพ่อทวด ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จะมีเม็ดไข่ปลาเรียงอนุกรมดูเป็นปล้องๆ จะเห็นได้ชัดที่งวงช้างซ้ายมือของหลวงพ่อทวด ลักษณะพิเศษเช่นนี้จะไม่ปรากฏในเหรียญเสมารุ่น ๓ พิมพ์อื่นๆ คือ งวงช้างจะราบเรียบ ไม่มีลักษณะเป็น “ปล้อง” เหมือนเหรียญพิมพ์นี้