พระเครื่อง

‘พระบูชาหลวงพ่อทวด’เนื้อโลหะรุ่นที่ทัน‘พระอาจารย์ทิม’ปลุกเสก

‘พระบูชาหลวงพ่อทวด’เนื้อโลหะรุ่นที่ทัน‘พระอาจารย์ทิม’ปลุกเสก

04 ต.ค. 2558

‘พระบูชาหลวงพ่อทวด’เนื้อโลหะรุ่นที่ทัน‘พระอาจารย์ทิม’ปลุกเสก : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

             คอลัมน์ ปกิณกะพระเครื่อง วันนี้ยังคงได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบภาพพร้อมข้อมูล พระบูชา หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อโลหะ รุ่นที่ทัน พระอาจารย์ทิมปลุกเสก ซึ่ง ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช กล่าวว่า...เป็นที่ทราบกันดีว่า ในบรรดา พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทั้งหมดที่ทัน พระอาจารย์ทิม ปลุกเสกนั้น กลุ่มพระหลวงพ่อทวด ประเภทพระบูชา ดูเหมือนว่า มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่มีการนำเสนอและตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มพระเนื้อว่าน พระหล่อโบราณ พระปั๊ม และเหรียญ ไม่ว่าประวัติการสร้าง วัสดุที่ใช้ทำ รุ่นที่สร้าง และจำนวนที่สร้าง

             ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พระบูชาหลวงพ่อทวด มีการจัดสร้างแทบทุกปี ในสมัยที่ พระอาจารย์ทิม ยังไม่มรณภาพ

             พระบูชา หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ พระบูชาประเภทเนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ (มีรุ่นเดียว และมี ๒ ขนาด เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๖), พระบูชาประเภทเนื้อปูนผสมน้ำว่าน (เคยนำเสนอไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗) และพระบูชาประเภทเนื้อโลหะ

             การริเริ่มสร้างพระบูชาประเภทเนื้อปูนผสมน้ำว่านนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พระบูชาเนื้อว่าน มีกรรมวิธีการสร้างที่ยุ่งยากและทำได้น้อยองค์ เพราะปั้นด้วยมือคราวละ ๑ องค์ ประกอบกับต้องใช้มวลสารเนื้อว่านมากในแต่ละองค์

             ต่อมาภายหลังทางวัดได้ปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตใหม่ เป็นแบบกระบวนการหล่อ โดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งสามารถสร้างได้คราวละหลายๆ องค์ จึงเป็นที่มาของการสร้าง พระบูชา โดยใช้ แม่พิมพ์ ซึ่งเนื้อพระมีทั้งประเภทเนื้อปูนผสมน้ำว่าน และเนื้อโลหะ

             ในประเภท พระโลหะ นั้น สร้างติดต่อกันตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ พระอาจารย์ทิม มรณภาพ

             พระชุดนี้เป็นพระหล่อดินไทยแบบโบราณ สังเกตใต้ฐานองค์พระมี “ดินไทย” ปรากฏอยู่ โดยปกติเกือบทุกรุ่น เค้าโครงองค์พระโดยรวมจะคล้ายๆ กันกับ พระบูชาเนื้อปูนผสมน้ำว่าน เพราะสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน

             พระบูชาหลวงพ่อทวด เนื้อโลหะ ในแต่ละรุ่นปี มีเค้าโครงที่คล้ายๆ กัน แต่มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด อาทิ รูปทรงของจีวร, ชายรัดประคด, เส้นร่องหน้าผาก, เส้นร่องรอยเหี่ยวย่น, ตำหนิเล็กๆ ในเบ้าตา และดวงตา เป็นต้น

             อย่างไรก็ตาม ในบางรุ่นปีก็มีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจน เช่น ปี ๒๕๐๒(รุ่นแรกเนื้อโลหะ ซึ่งมีค่านิยมเช่าบูชาสูงสุด) จะมีขนาดหน้าตัก ๗ นิ้ว ในขณะที่รุ่นปีอื่นๆ ทั้งหมดมีขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว เท่านั้น

             นอกจากนี้ในรุ่นปี ๒๕๐๓, ๒๕๐๕ และ ๒๕๐๘ จะมี ๒ พิมพ์ที่สังเกตเค้าโครงองค์พระที่ต่างกันชัดเจน อีกทั้งบางรุ่นปีไม่ได้มีการสร้าง แต่นำพระที่เหลือจากปีก่อนๆ มาตอกตัวเลขปีใหม่เข้าไป เช่น รุ่นปี ๒๕๐๗ ได้จากการนำรุ่นปี ๒๕๐๖ มาตอกตัวเลขใหม่เป็นปี ๒๕๐๗ (กลายเป็นว่า รุ่นปี ๒๕๐๗ ค่านิยมเช่าบูชาแพงมาก รองจากรุ่นปี ๒๕๐๒ เท่านั้น เพราจำนวนสร้างมีน้อย)

             พระบูชาหลวงพ่อทวด เนื้อโลหะ มีทั้งแบบผิวรมดำ และน้ำตาล รวมทั้งมีการลงน้ำรักปิดทอง, การสลักตัวหนังสือ และตัวเลข แบบตัวเล็ก และตัวใหญ่

             หลักการพิจารณา แท้เก๊ ให้ดูพิมพ์ทรงถูกต้อง ความคมชัด ริ้วรอยเหี่ยวย่นของผิว และธรรมชาติผิวโลหะ แบบหล่อโบราณ

             โดยเฉพาะองค์ที่วางบนหิ้ง ก็สามารถดูคราบเขม่าควันธูปจากการบูชา

             และที่สำคัญ อันเป็น “จุดตาย” คือ ให้พิจารณาใต้ฐานที่มี “ดินไทย” ตรึงด้วยเส้นลวดเก่า จากกระบวนการหล่อดินไทยโบราน ลักษณะดินนี้ต้องเก่าได้อายุ ปกติจะมีหลายสี ทั้งสีเหลือง หรือขาวนวล หรือสีทึมดำ เป็นต้น ขึ้นกับอุณหภูมิความร้อนในการหล่อ พระบางองค์ใต้ฐานมีเหลือดินอุดอยู่มาก บางองค์ก็มีน้อย เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง สำหรับองค์โชว์ที่ ๑ และ ๒ เป็นพระบูชาเนื้อโลหะ รุ่นปี ๒๕๐๖ และ ๒๕๑๐ ซึ่งเป็น พระแท้ดูง่าย ถือเป็น องค์ครู ได้เลย

             ส่วนพระโชว์องค์ที่ ๓ เนื้อปูนผสมน้ำว่าน ปี ๒๕๐๔ ลงโชว์เพื่อเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของโครงร่างองค์พระกับพระเนื้อโลหะ

             ภาพพระบูชา หลวงพ่อทวด ทั้งเนื้อโลหะ และเนื้อปูนผสมน้ำว่าน ทั้ง ๓ องค์นี้เป็นของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลประกอบคอลัมน์นี้...จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

             “พระบูชาหลวงพ่อทวด เนื้อโลหะ ในแต่ละรุ่นปี มีเค้าโครงที่คล้ายๆ กัน แต่มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด อาทิ รูปทรงของจีวร, ชายรัดประคด, เส้นร่องหน้าผาก, เส้นร่องรอยเหี่ยวย่น, ตำหนิเล็กๆ ในเบ้าตา และดวงตา เป็นต้น”

 

‘พระบูชาหลวงพ่อทวด’เนื้อโลหะรุ่นที่ทัน‘พระอาจารย์ทิม’ปลุกเสก