
ร่วมบุญสร้างโบสถ์วัดพิพัฒน์มงคล
ร่วมบุญสร้างโบสถ์วัดพิพัฒน์มงคล
วัดพิพัฒน์มงคล ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖๔ หมู่ ๙ บ้านท่าชุม ต.ทุ่งเสลี่ยม (ตำบลกลางดง เขต ๑ ในเขตปกครองคณะสงฆ์) อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล หรือครูบาญาณทิพย์ เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยมเป็นเจ้าอาวาส
ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ครูบาญาณทิพย์ ได้จาริกธุดงค์มาพักค้างแรมตรงบริเวณที่สร้างวัด โดยได้ริเริ่มสร้างวัดพัฒนาเรื่อยมา โดยมีท่าน ร.ต.ชาญชัย ใจใส ปลัดจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ช่วยกันดำเนินการยกเป็นวัดได้สำเร็จ รวมระยะเวลาเพียง ๓๐ ปี ที่ครูบาญาณทิพย์เริ่มพัฒนาวัดสร้างกลางทุงนาบนเนื้อที่ ๒๒ ไร่ จากปัจจัยเพียง ๑๘๐ บาท จนปัจจุบันมีเนื้อที่ ๑๙๙ ไร่
อาคารเสนาสนะภายในวัดประกอบด้วย รัตนอุโบสถ (โบสถ์แก้ว) พุทธวิหารลายคำ วิหารล้านนา เจดีย์ อาคารสุวรรณหอคำหลวง กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาอบรมธรรม ศาลาอเนกประสงค์ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารพิพิธภัณฑ์โบราณ ศาลาราย โรงครัว พุทธมณฑจำลอง สวนปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ หอประชุมคณะสงฆ์ และธรรมศาลา (ศาลาปฏิบัติธรรม) ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เนื้อทองคำ นาก เงิน พระพุทธรัตนมณี ซึ่งขุดพบได้บริเวณสร้างวัด และพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
“ครูบาญาณทิพย์” ได้สร้างและพัฒนาวัดพิพัฒน์มงคลให้เจริญรุ่งเรื่องด้วยเสนาสนถาวรวัตถุ เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมที่หาได้ยากในภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน เจริญด้วยแสงสว่างแห่งธรรม เป็นสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัดที่มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของสาธุชนทั้งหลาย
ทั้งนี้ “ครูบาญาณทิพย์” มีนโยบายในการบริหารจัดการวัดว่า “เจ้าอาวาส หรือเจ้าสำนักที่พักสงฆ์ จำต้องมีสภาวะเป็นผู้นำที่สูงส่ง เสียสละเป็นเบื้องต้น วัดจึงจะพัฒนาไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เจ้าอาวาส หรือเจ้าสำนักที่พักสงฆ์ จะต้องเป็นพระของชาวบ้านจริงๆ เป็นที่พึ่งพิง ทั้งในทางโลกและทางธรรม เป็นผู้นำจิตวิญญาณ เข้ากับชาวบ้านได้ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างวัดกับบ้านได้ สร้างศรัทธาให้ชาวบ้าน เพราะถ้าหากชาวบ้านเกิดศรัทธาแล้วจะทำสิ่งใดก็จะง่ายขึ้น”
อย่างไรก็ตามด้วยที่โบสถ์หลังเดิมมีขนาดเล็กไม่สามารถรับจำนวนพระสงฆ์และญาติโยมในการทำสังฆกรรมได้ “ครูบาญาณทิพย์” จึงดำเนินการสร้างโบสถ์หลังใหม่ศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างเกือบ ๑๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ ได้วางศิลาฤกษ์ไปแล้ว ท่านมีความตั้งใจก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน ๕ ปี
การเดินทางไปวัดพิพัฒน์มงคล ออกจากกรุงเทพมหานคร โดยเส้นทางหลักที่ใช้คือ วิ่งถนนสายเอเชีย (ทางหลวง ๓๒) ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ จากนั้นตัดไปทางถนนหลวงหมายเลข ๑๑๗ ผ่าน จ.พิจิตร และจ.พิษณุโลก ก่อนตัดเข้าถนนหลวงสาย ๑๒ เข้า จ.สุโขทัย ทาง อ.กงไกรลาศ ผ่าน อ.ศรีสำโรง อ.เมือง (ทางไป จ.ตาก)
มีป้ายวัดที่ทางการท่องเที่ยวติดบอกตลอดทาง โทร.๐-๕๕๖๕-๙๐๗๒, ๐-๕๕๖๕-๙๑๖๔ และ ๐๘-๑๒๘๐-๖๓๓๐ อีเมล [email protected]