พระเครื่อง

‘หลวงปู่ศรี’วัดพระปรางค์สุดยอดอมตเถราจารย์แห่งเมืองสิงห์

‘หลวงปู่ศรี’วัดพระปรางค์สุดยอดอมตเถราจารย์แห่งเมืองสิงห์

24 ก.ย. 2558

‘หลวงปู่ศรี’วัดพระปรางค์สุดยอดอมตเถราจารย์แห่งเมืองสิงห์ : ไพศาล ถิระศุภะ

            วัดพระปรางค์ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๗ บ้านโคกหม้อ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เนื้อที่ประมาณ ๔๐ ไร่เศษ อยู่ห่างจากที่ทำการ อ.บางระจัน ประมาณ ๖ กม. และอยู่ห่างจากตัว จ.สิงห์บุรี ประมาณ ๑๗ กม. ภายในบริเวณวัดมีพระปรางค์ศิลปะอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์พระปรางค์สูง ๓๐ วา ฐานกว้าง ๑๐ วา ก่อด้วยอิฐแบบปรางค์ไทย ทรงสูงชะลูด คล้ายฝักข้าวโพด ฐานเตี้ย ภายในพระปรางค์มีลักษณะกลวง มีคูหาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บนผนังคูหามีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังปรากฏอยู่เล็กน้อย ด้านหลังวัดมีวิหารเก่าแก่ ศิลปะแบบอยุธยา มีหน้าบันเป็นลายแกะสลักไม้รูปตัวสิงห์และคันทวยต่างๆ นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีร่องรอยของเตาเผาโบราณ ปรากฏอยู่ ๓–๔ เตา

            วัดพระปรางค์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๗๘

            วัดพระปรางค์มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักมักคุ้นของสาธุชนทั่วไปในยุคที่หลวงปู่ศรี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัด เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านไสยเวททุกแขนง มีวิทยาคมแก่กล้า เป็นเพชรน้ำเอกในลุ่มแม่น้ำน้อย มีพระคณาจารย์มากมายหลายรูป ทั้ง จ.สิงห์บุรี และจังหวัดใกล้เคียงมาฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาวิชาไสยเวทกับหลวงปู่ศรี เช่น หลวงพ่อแป้น วัดบ้านไร่ จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท, หลวงปู่เย็น วัดสระเปรียญ จ.ชัยนาท, หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก จ.สุพรรณบุรี, หลวงพ่อบัว วัดแสวงหา จ.อ่างทอง และยังมีพระคณาจารย์อื่นๆ อีกหลายรูป ซึ่งในยุคนั้นถือได้ว่า วัดพระปรางค์ เป็นตักศิลาแห่งวงการไสยเวทบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเลยทีเดียว

            ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่ศรี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาจารย์เหนืออาจารย์” เนื่องจากลูกศิษย์ของท่านในยุคต่อมาได้เป็นพระคณาจารย์ชื่อดังในวงการพระเครื่องแทบจะทุกรูป ในด้านชาติภูมิของ หลวงปู่ศรี นั้น ท่านเป็นชาว อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ชาตะ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๐ ในวัยเยาว์ท่านชอบศึกษาวิชาไสยเวท คิดจะเป็นคนกล้า คนจริงแบบ “วีรชนชาวบ้านบางระจัน” ในอดีต

            เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดสุวรรณราชหงส์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง โดยมี พระอาจารย์หิน วัดโบสถ์ อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “เกสโร” มีความหมายว่า “ต้นไม้”

            หลังจากนั้นได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์จนเชี่ยวชาญแล้วจึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระปรางค์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสและได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิริยะโสภิต”

            พระคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาไสยเวทให้หลวงปู่ศรีคือ หลวงพ่อไกร วัดใหญ่ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท หลวงปู่ศรีได้ศึกษาวิชาไสยเวทจนเจนจบจากหลวงพ่อไกร ผู้เป็นอาจารย์ ต่อมาหลวงปู่ศรีได้รับการยกย่องให้เป็นพระคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาไสยเวทเป็นอย่างสูง จนเป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่ได้รับกิจนิมนต์ให้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก เหรียญพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดสร้างขึ้นในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๕๐ ปี พิธีดังกล่าวยิ่งใหญ่และอลังการมาก มีพระคณาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นผู้ที่แก่กล้าด้านอาคมเข้าร่วมพิธีถึง ๔๓ รูป อาทิ หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ธนบุรี, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ, หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี, หลวงพ่อชม วัดพุทไธยศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ

            หลวงปู่ศรีเป็นพระภิกษุที่สำรวม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่น่าศรัทธาเลื่อมใส ถือการบิณฑบาตเป็นกิจวัตรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อออกพรรษาท่านจะออกธุดงควัตรเป็นประจำเพื่อฝึกพลังจิตให้เข้มแข็งและโปรดเวไนยสัตว์

            ท่านได้ให้ความอนุเคราะห์แก่สาธุชนทั่วไปอย่างเสมอภาค จนเกียรติคุณของท่านขจรขจายไปไกล นอกจากนี้ท่านยังเชี่ยวชาญภาษาขอมและสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีทำนองที่ไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่สุด

            หลวงปู่ศรีเป็นพระภิกษุที่มีตบะ เดชะและมีวาจาสิทธิ์ดั่งปากพระร่วง พูดอย่างไรก็มักจะเป็นอย่างนั้น ดังเช่นมีตำรวจนายหนึ่งมาจับลูกศิษย์ของท่านที่วัดพระปรางค์ ด้วยข้อหาเล็กน้อย (ต้มน้ำตาลเมาไว้ทาน) โดยไม่ขออนุญาตท่านก่อน ท่านได้พลั้งปากพูดไปว่า “จับไม่ดูตาม้าตาเรือ ระวังจะไม่มีตานะ” อีกสองวันต่อมา ตำรวจนายนั้นได้เกิดอาการบวมที่ตาทั้งสองข้าง มองไม่ค่อยเห็น จึงรีบมากราบขอขมาท่าน ทำให้รอดพ้นจากอาการตาบอดไปได้

            หลวงปู่ศรี ยังสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า แม้กระทั่งวันมรณภาพของท่านเอง

            นอกจากนี้ท่านยังสำเร็จวิชา “มหาจินดามนต์” สามารถเรียกสัตว์ได้ราวกับพระสังข์ในวรรณคดีไทยเรื่อง “สังข์ทอง” เลยทีเดียว น่าอัศจรรย์มาก

            ผลที่ตามมาทำให้บริเวณวัดในยุคของท่านมีสัตว์นานาชนิด เช่น ลิง ค่าง ช้าง ม้า ไก่ กระรอก กระแต ฯลฯ มาอาศัยใบบุญอยู่ในวัดพระปรางค์เป็นจำนวนมาก ใครเอาปืนผาหน้าไม้มายิงสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ จะยิงไม่ออก เนื่องจากท่านเสกคาถาคุ้มภัยไว้ให้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าแตะต้อง กลัวท่านสาปแช่งเอา

            แม้แต่ “น้ำลาย” ของท่านก็มีความศักดิ์สิทธิ์ ขนาดถ่มลงพื้นคอนกรีตแล้วพื้นคอนกรีตยังแตกได้เลย มีลูกศิษย์ของท่านได้ประจักษ์มาแล้ว

            ด้าน วัตถุมงคล ของหลวงปู่ศรีนั้น ท่านได้จัดสร้างไว้หลายประเภท ซึ่งมีจำนวนน้อยแต่มากไปด้วยพุทธคุณ อาทิ เชือกคาดเอว, ตะกรุด, สีผึ้งมหาเสน่ห์, น้ำมันมนต์, แหวน, ภาพถ่ายอัดกระจก, ภาพถ่ายบูชา, เหรียญรูปเหมือน ฯลฯ

            เหรียญหลวงปู่ศรี เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมทำบุญสร้างศาลาการเปรียญวัดพระปรางค์

            ลักษณะเป็นรูปพัดยศ (หยดน้ำ) หยักมุม ห่วงหูในตัว เนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ศรี นั่งเต็มองค์อยู่ในกรอบ ๒ ชั้น มีช่อชัยพฤกษ์ซ้าย–ขวา ในช่อจะมีรอยขีดปรากฏอยู่ ที่แปลกคือการวางมือของหลวงปู่จะเป็นแบบสะดุ้งกลับ มือซ้ายจะพาดที่หัวเข่าซ้าย มือขวาจะวางตรงหน้าตัก ด้านล่างมีตัวหนังสือ ๓ แถว เขียนว่า “หลวงพ่อพระครูศรี” ส่วนด้านหลังเหรียญเขียนว่า “ที่ระลึกในงานสร้างศาลาวัดพระปรางค์ พ.ศ.๒๔๗๖” ตรงกลางมีคาถาเป็นภาษาขอมอ่านได้ว่า “อิติมานิ”

            เหรียญหลวงปู่ศรีจัดสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันโดยการนำแผ่นทองแดงชนวนมาลงอักขระเลขยันต์ก่อนแล้วปลุกเสกเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นนำแผ่นทองแดงชนวนนั้นไปหล่อหลอมกับทองแดงที่จะปั๊มเป็นเหรียญ แล้วนำทองแดงที่ได้ไปรีดเป็นแผ่น จากนั้นนำไปปั๊มเป็นเหรียญ เสร็จแล้วปลุกเสกเหรียญนั้นอีกครั้งหนึ่ง

            เหรียญดังกล่าวจึงเป็นวัตถุมงคลที่ดีทั้งนอกและใน ผู้ที่นำไปสักการบูชาติดตัวจึงมีประสบการณ์สูงทางด้านคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เช่น แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มหาอุด เป็นต้น

            จำนวนสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ จึงค่อนข้างหายาก มีการเช่าหาในวงการพระเครื่องค่อนข้างสูง ถ้าสภาพสวยอยู่ในเกณฑ์หลักแสนต้นขึ้นไป

            ในด้านประสบการณ์จริงเคยมีลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่งได้รับมอบเหรียญไปจาก หลวงปู่ศรี ต่อมาภายหลังเห็นผิดเป็นชอบกลายเป็น “เสือ” ปล้นฆ่าผู้คนมากมาย ถูกตำรวจตามจับตาย แต่ยิงไม่เคยออก และหนีรอดไปได้ทุกครั้ง เนื่องจากมี เหรียญหลวงปู่ศรีบูชาติดตัวอยู่ แต่ภายหลังกรรมตามทัน ลืมบูชาเหรียญติดตัว จึงถูกตำรวจยิงตายอย่างน่าอนาถ

            หลวงปู่ศรี มรณภาพ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริรวมอายุ ๗๒ ปี พรรษา ๕๒ หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ๖ เดือน ทางวัดพระปรางค์จึงได้จัดงานฌาปนกิจสรีระสังขารของท่าน ในวันนั้นได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์คือ ได้ปรากฏดาวดวงหนึ่งสุกปลั่งบนท้องฟ้าในเวลากลางวัน จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนลับตาไปในที่สุด เชื่อกันว่าเสมือนเทพดาผู้เป็นใหญ่บนชั้นฟ้าได้มารับดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ศรีให้ไปสถิตยังสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

            (ขอขอบคุณ คุณวรรณณีย์ เจริญรอย ที่ให้ความอนุเคราะห์ภาพเหรียญหลวงปู่ศรี ประกอบบทความนี้)

‘หลวงปู่ศรี’วัดพระปรางค์สุดยอดอมตเถราจารย์แห่งเมืองสิงห์