พระเครื่อง

พระราชวังจันทน์พระราชวังโบราณแห่งเมืองพิษณุโลก

พระราชวังจันทน์พระราชวังโบราณแห่งเมืองพิษณุโลก

04 ก.ย. 2558

พระราชวังจันทน์พระราชวังโบราณแห่งเมืองพิษณุโลก : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

           พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ติดกับค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ ๓ ถนนวังจันทน์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอดีตยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะค้นหาแนวเขตพระราชวังจันทน์ ระยะที่ ๑ เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

           ภายหลังพระราชวังจันทน์ได้ร้างลงและไม่มีใครสนใจอีก จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ โปรดให้ขุนศรเทพบาล สำรวจรังวัดจัดทำผังพระราชวังจันทน์

           ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสังเวยเทพารักษ์ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๔ มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน ๒-๓ ศอกเศษ มีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี มีกำแพงวัง ๒ ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง ภายหลังปรักหักพังเป็นป่ารกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก

           พ.ศ.๒๔๗๕ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมได้ย้ายมาจากบริเวณวัดนางพญามาตั้งในพื้นที่พระราชวังจันทน์ จึงมีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ มาเป็นลำดับ

           พ.ศ.๒๕๓๕ โรงเรียนจะก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ที่บริเวณสนามบาสเกตบอลใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ขณะที่คนงานก่อสร้างขุดหลุมเสาฐานรากได้พบซากอิฐเก่า กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๖ มีพื้นที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ตามหนังสือ ที่ ศธ ๐๗/๔๙๕๔ เพื่อให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะพระราชวังจันทน์เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ โรงเรียนจึงต้องจัดหาสถานที่แห่งใหม่ เพื่อเตรียมการย้ายโรงเรียนเป็นครั้งที่ ๓ ออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ต่อไป

           ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ทั้งหมดได้ย้ายออกจากเขตพระราชวังจันทน์ไปบริเวณบึงแก่งใหญ่จนแล้วเสร็จ เริ่มรื้อถอนอาคารเรียนในเขตพระราชวังจันทน์ออกทั้งหมด และปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อดำเนินการบูรณะพระราชวังจันทน์ต่อไป

ตำนานแห่งพระราชวังจันทน์

           พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เป็นพระราชโอรสในพระยาเลอไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วง ของอาณาจักรสุโขทัย ทรงครองกรุงสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๐๔ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๖ ของราชวงศ์พระร่วง

           พระมหาธรรมราชาที่ ๑ เสด็จครองราชสมบัติ กรุงสุโขทัย ณ เมืองพิษณุโลก และทรงครองเมืองพิษณุโลกระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๕-๑๙๑๒ เป็นเวลา ๗ ปี พระองค์ทรงสร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงอยุธยา

           เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลกใน พ.ศ.๒๐๐๖ ทรงใช้พระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับตลอด เชื่อว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระองค์ด้วย จากนั้นพระราชวังจันทน์ก็มักจะเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุธยาในสมัยต่อๆ มาจนถึงสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จฯ ไปประทับอยู่ ณ ที่นั่น จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดไปเสด็จฯ ไปประทับอยู่ ณ พระราชวังจันทน์อีก

           ประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันให้กรมศิลปากรสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น ลักษณะสถาปัตยกรรมของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นรูปทรงไทยโบราณตรีมุข ภายในมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าพระองค์จริงในพระราชอิริยาบถประทับ พระหัตถ์ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระราชอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง อย่างไรก็คาม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดศาล ความตอนหนึ่งว่า

           “...ในการกอบกู้เอกราชและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองเป็นลำดับมานั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพบุรุษของเราทั้งหลาย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการมาด้วยความเหนื่อยยากและความเสียสละแล้วเพียงไรก็ทราบกันอยู่แล้ว ฉะนั้นควรที่เราทั้งหลายจะพยายามช่วยกันรักษามรดกอันล้ำค่า ซึ่งได้ตกทอดมาถึงเราไว้ให้ดี อย่าให้สูญสลายไปได้...”

โครงการอนุรักษ์และพัฒนา

           “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังสนามจันทน์” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ ๓ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีการเปิดโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย ๑.การสร้างพระที่นั่งจำลอง ๒.การก่อสร้างหอพระ ๓.การก่อสร้างอาคารอนุรักษ์ ๒ หลัง ๔.ลานจอดรถ ๕.การสร้างประตูทางเข้า ๖.การสร้างป้ายทางเข้า ๘.การสร้างเส้นทางจักรยาน ๘.การสร้างอาคารประวัติศาสตร์ ๙.ป้ายไฟโบราณสถาน ๑๐.การก่อสร้างร้านจำหน่ายสินค้า ๑๑.การก่อสร้างห้องน้ำ ๑๒.ปรับปรุงภูมิทัศน์ และ ๑๓.ระบบไฟฟ้า ประปา

           ทางกองทัพภาคที่ ๓ โดย พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ และพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ร่วมกันจัดสร้างวัตถุมงคลแห่งความสามัคคีพลัง สร้างพระราชวังถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีพิธีมหาจักรพรรดิพุทธาภิเษก วัตถุมงคล รุ่น “อนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์” ณ พระวิหารพระพุทธชินราช

           เมื่อวันที่ ๑๘-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา โดยพระเกจิอาจารย์ เช่น พระธรรมเสนานุวัตร วัดพระศรีมหาธาตุ หลวงพ่อรักษ์ วัดวิปัสสนาสุทธาวาส ครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล ครูบาอริยชาติ วัดแสงแก้วโพธิญาณ พระราชวิทยาคม วัดท่าไม้แดง ครูบาครอง วัดท่ามะเกว๋น และพระเกจิอาจารย์กว่า ๓๐ รูป ร่วมพิธี

           สำหรับวัตถุมงคล ประกอบด้วย พระพุทธชินราช ขนาด ๙ นิ้ว สร้าง ๔๑๐ องค์ ขนาด ๕.๙ นิ้ว สร้าง ๑,๔๑๐ องค์ เหรียญทรงกลมเนื้อทองคำพระพุทธชินราช หลังสมเด็จพระนเรศวร สร้างตามจำนวนสั่งจอง เนื้อเงิน สร้าง ๒,๐๘๕ เหรียญ เนื้อนวโลหะ สร้าง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เนื้อแดงรมมันปู สร้าง ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญ และเนื้ออัลปาก้า (กรรมการ) สร้าง ๑.๙๙๙ เหรียญสนใจ

           นอกจากนี้ยังมีการสร้าง เหรียญเสมาครูบาบุญชุ่ม เหรียญเสมาหลวงปู่แขก และเหรียญเสมาหลวงจามัย เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ร่วมบูรณะเขาสมอแครง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองทัพภาคที่ ๓ โทร. ๐-๕๕๒๔-๕๐๔๔, ๐๙-๘๓๙๕-๓๕๙๐ พระราชวังสนามจันทน์ โทร. ๐๙-๕๓๐๗-๘๒๓๙