
วาจายิ่งกว่าคมดาบ
วาจายิ่งกว่าคมดาบ : ธรรมะยู-เทิร์น โดยอิทธิโชโต
ผู้คนทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการพูด แม้ว่าเรามีเครื่องมือสื่อสารมากมาย แต่เป็นเรื่องแปลกที่เครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นกลับกลายเป็นอาวุธที่ทำลายมิตรภาพ ทำลายความรัก ความเชื่อมั่น รวมทั้งทำลายคุณธรรมในตนเองไปด้วย เพราะพวกเขาใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ผิดประเภท คือแทนที่จะไว้สื่อสาร แต่กลับไว้จับผิดกันและกัน จนเกิดความไม่ไว้วางใจ เรื่องร้ายๆ จึงเกิดขึ้น สามีทะเลาะกับภรรยา บางรายถึงขนาดฆ่ากันเพราะไลน์เพราะเฟซบุ๊ค เพราะข้อความจากคนที่ไม่รู้จักปรากฏบนจอมือถือของคนรัก
คำพูดในยุคปัจจุบันจึงมิได้หมายถึงการพูดกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง การสื่อสารทุกรูปแบบที่ทำให้คนเราเข้าใจกัน หรือเข้าใจกันผิดไปก็ย่อมได้
คนโบราณเปรียบวาจาเหมือนกับอาวุธนั้นไม่ผิดเลย ถ้าคำพูดเป็นคุณก็ดี ถ้าพูดไม่ดี มันยิ่งกว่าอาวุธร้าย อยู่ที่ว่าใครจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
การพูดไม่ดีนั้นแท้จริงแล้วก็มาจากจิตใจที่ไม่ดี หรือจิตใจที่ไม่ได้รับการฝึก เป็นจิตใจที่ทำตามอารมณ์ของตนเอง อยากพูดอะไรก็พูดโดยไม่คิด ซึ่งอาจทำความเสียหายได้ยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องวาจาไว้มากมาย ส่วนหนึ่งอยู่ใน “โอวาทปาติโมกข์” (ปาติโมกข์ แปลว่า ผู้ใดย่อมรักษา ผู้นั้นย่อมหลุดพ้น) ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองตลอด ๒๐ พรรษาแรก และแสดงครั้งแรกในวันเพ็ญมาฆะ (เดือน ๓) เนื้อความในโอวาทปาติโมกข์ ตอนสุดท้ายกล่าวว่า
อนูปวาโท อนูปฆาโต, ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ, ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค, เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑, ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ๑, ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
ความเพียรในอธิจิตหรือการทำจิตให้ยิ่ง ๑, นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พวกเราเข้าใจกันหรือไม่ กับการที่พระองค์ทรงสอนว่า การไม่กล่าวร้าย คือ ความสำรวมในปาติโมกข์
ทางศาสนา วาจาเราไม่ให้ใช้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปกับสิ่งภายนอกที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรา พระพุทธเจ้าไม่ให้พระภิกษุยุ่งกับคนอื่น ให้ดูตัวเองตลอดทั้งวัน ให้คุยกับตัวเอง สอนตัวเอง หากเราเป็นฆราวาส การแบ่งเวลาในหนึ่งสัปดาห์เพื่อที่จะหยุดเครื่องมือสื่อสาร แล้วกลับมาอยู่กับตัวเองบ้างก็เป็นการดี
เพราะการคุยพร่ำเพรื่อจะนำโทษมาสู่ตัวเอง การฟุ้งซ่านจะนำภัยเข้ามาหาตัวเอง พระพุทธเจ้าจึงให้เราสำรวมในการใช้วาจาเป็นอย่างมาก ท่านจึงนำไว้เป็นข้อแรกในโอวาทปาติโมกข์
ทะเลเวลามันบ้าคลั่ง มันก็ยังมีเวลาที่คลื่นลมสงบ เวลาที่จิตใจเราสงบก็มีเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราจะฟุ้งซ่านได้ตลอดเวลา การฝึกสติไว้ในยามที่จิตใจสงบในวันหยุด ก็จะเป็นกำลังในเวลาที่ฟุ้งซ่าน สติจะทำให้เราเห็นอารมณ์ เห็นความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ
เมื่อเราเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ตามมันไปทุกทาง แม้แต่วาจา เราก็ไม่พูดไปในทางที่จะทำร้ายตัวเจ้าของและผู้อื่น
คนที่คิดเป็นพูดเป็นเท่านั้นจึงจะได้ประโยชน์จากการพูด การคิด และการกระทำของตนเอง
หากเราอยากออกจากทุกข์ แต่ยังควบคุมแม้แต่คำพูดไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะไปต่อสู้กับกิเลสที่มันละเอียดมากกว่านี้เลย