
เหวัชระ(Hevajra)เทพผู้พิทักษ์ในคติพุทธมหายาน
เหวัชระ(Hevajra)เทพผู้พิทักษ์ในคติพุทธมหายาน : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
เหวัชระ (Hevajra) เป็นภาษาทิเบต หมายถึง เทพผู้พิทักษ์ในคติพุทธมหายานแบบตันตระ หรือมนตรยาน ต่อมาพัฒนาเป็นนิกายวัชรยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในแถบทิเบต ภูฏาน จีน และเข้ามายังเขมรราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยเทพผู้พิทักษ์เหล่านี้จะเรียกว่า “ยิ-ดัม” โดยลามะชั้นสูงจะมียิ-ดัม คอยปกปักรักษา มีหน้าที่คอยกำราบภูตผีปีศาจและดูแลมิให้สิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้น ปรากฏเป็นชื่อ เหวัชระ, คุหยสมาช, มหามายา, สังวร, กาลจักร หรือชัมภละ เป็นต้น
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักประวัติศาสตร์ด้านพุทธศิลป์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง และเจ้าของ www.aj-ram.com อธิบายให้ฟังว่า พุทธแบบตันตระเป็นสาขานิกายหนึ่งของมหายาน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของลัทธิฮินดู เนื่องจากมีบ่อเกิดในบริเวณอนุทวีปหรืออินเดียโบราณร่วมกัน โดยเฉพาะคัมภีร์ “อาถรรพเวท” ในปลายยุคพระเวทของฮินดูมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวความเชื่อของตันตระหรือมนตรยาน นิยมสร้างรูปเคารพของพระโพธิสัตว์ในลักษณะอาการต่างๆ รวมทั้งสร้างยิ-ดัม คอยปกปักอารักขา ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาดุร้ายน่าสะพรึงกลัวทั้งสิ้น
รูปลักษณะขององค์เหวัชระที่มักจะพบเห็นในสยามประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะปลายเขมรเมืองพระนคร และมีศิลปะของทิเบตและจีนปรากฏให้เห็นบ้าง แต่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นรูปเทพมี ๘ เศียร ๑๖ กร และมีพระบาท ๔ ข้าง ทรงพัสตราภรณ์แบบเทวะ พระเศียรเรียงสองฟากข้างละ ๓ เศียร ตรงกลางมีเศียรประธาน และทับเบื้องบนอีก ๑ เศียร ในพระหัตถ์ทั้ง ๑๖ ข้าง ถือกะโหลกศีรษะ ส่วนพระบาททรงเหยียบซากศพหรือซากอสูรไว้ ๒ พระบาท ส่วนอีก ๒ พระบาททรงอยู่ในท่าร่ายรำแบบอรรธปรยังก์ คือ พระชงฆ์ข้างซ้ายงอขึ้นเล็กน้อย ส่วนพระชงฆ์ขวาพับขึ้น บางศิลปะทำเป็นท่ายืนเหยียบอสูร หรือยืนสองพระบาทก็มี เชื่อกันว่าทรงมีพระฉวีหรือสีผิวเป็นสีน้ำเงิน
เนื่องจาก “เหวัชระ” ในพุทธแบบตันตรยานได้รับอิทธิพลของฮินดู บางครั้งจึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับเทวะของฮินดู เช่น การมีตรีเนตรหรือสามตา เหมือนกับพระศิวะ ที่อยู่ในท่า “นาฏราช” หรือท่าร่ายรำ หรือบางครั้งถูกตีความว่าเป็นปางหนึ่งของพระนางทุรคา พระมเหสีของพระศิวะที่ปราบอสูร ซึ่งความจริงแล้วเหวัชระจะมีหลายลักษณะ แต่ทรงความดุร้ายเนื่องจากเคยเป็นปีศาจหรืออสูรมาก่อนที่จะเลื่อมใสและอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับ อาฬาวกยักษ์ และท้าวเวสสุวัณในสยามประเทศ
นอกจากนี้ ตามคติตันตระ เหวัชระยังประกอบไปด้วย “ศักติ” หรือเทวสตรีอันเป็นบริวารเรียกว่า “นางโยคินี” รวม ๘ ตน ซึ่งทำหน้าที่คอยช่วยดูแลปกป้องทั้ง ๘ ทิศ ได้แก่ นาง Gauri อยู่ทิศตะวันออก ผิวกายสีดำ สัญ ลักษณ์เป็นมีดและปลา นาง Cauri อยู่ทางทิศใต้ ผิวกายสีแดงราวพระอาทิตย์ สัญลักษณ์คือกลองและหมี หรือหมูป่า นาง Vetali อยู่ทิศตะวันตก มีผิวกายสีทอง สัญลักษณ์เป็นเต่าและหัวกะโหลก
นาง Ghasmari อยู่ทิศเหนือ มีผิวกายสีเขียวมรกต สัญลักษณ์คืองูและชาม นาง Pukkasi อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีผิวกายสีคราม สัญลักษณ์คือสิงโตและขวาน นาง Savari อยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีผิวกายสีขาว สัญลักษณ์คือบวช และพัด นาง Candali อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีผิวกายสีดำ สัญลักษณ์คือจักร และคันไถ และนาง Dombi อยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีผิวกายสีทอง สัญลักษณ์คือวัชระ
นางโยคินีจัดเป็นเทวสตรีชั้นสูงที่บำเพ็ญเพียรและปวารณาตัวคอยปกป้องศาสนา ปรากฏนามทั้งในคัมภีร์ปุราณะของฮินดู และในพุทธมหายาน บางครั้งปรากฏเป็นรูปนางโยคินี ๓ เนตร ๒ กร ในท่าร่ายรำเหยียบบนอสูรหรือซากศพ ผู้คนก็เรียกว่าพิมพ์เหวัชระไปด้วย บ้างก็เรียกเป็นพระแม่ทุรคา
อ.ราม ยังบอกด้วยว่า เหวัชระ ถือเป็นประติมากรรมที่มีลักษณะพิเศษแสดงถึงการผสมผสานของศิลปะและความเชื่อของฮินดูและพุทธอย่างลงตัว ในแถบบ้านเรามีปรากฏทั้งในลักษณะของศิลปะแบบนูนต่ำ ประติมากรรมลอยตัว และในรูปแบบของพระเครื่องทั้งเนื้อดินเผา เนื้อชิน เนื้อสำริด และบุทอง นับเป็นพุทธศิลปะที่มีความหมายในตัวและหายากยิ่งอีกประเภทหนึ่ง
พุทธมหายาน
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาก็เริ่มมีเค้าแตกแยกในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็แตกแยกกันออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ ๒ นิกาย คือมหายาน กับหินยาน
มหายาน เป็นนิกายของภิกษุฝ่ายเหนือของอินเดีย บาทีเรียก "อุตรนิกาย" (นิกายฝ่ายเหนือ) บ้าง "อาจารยวาท" บ้าง ซึ่งมีจุดมุ่งสอนให้ระงับดับกิเลส ทั้งยังได้แก้ไขคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ผันแปรไปตามลำดับ พวกนี้เรียกลัทธิของตนว่า “มหายาน" ซึ่งแปลว่า "ยานใหญ่"
คำว่า มหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่ ยานที่สูงสุดเท่านั้น ยังเป็นยานที่รับคนได้ทุกประเภท ทุกอาชีพ ทุกวัย และรวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนามด้วย และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ มหายาน จึงหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร ความทุกข์จาการเวียนว่ายตายเกิดได้คราวละมากๆ
พุทธวัชรยาน-พุทธตันตระ
พุทธตันตระ นิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเกิดขึ้นจากการนําหลักพิธีกรรมของฮินดูตันตระมาผสมกับหลักปรัชญาปารมิตาของนิกายมาธยมิกะ หรือ ศูนยวาท
คำว่า “ตันตระ” (Tantra) หมายถึง ความรู้และการริเริ่ม ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อการแสดงออกทางร่างกายในท่าทางต่างๆ ที่เรียกว่า “ปาง” เป็นสำคัญ ความเชื่อในตันตระนั้นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคพระเวทของอินเดียโบราณ นอกจากการที่พราหมณ์จะรจนาคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท แล้วยังเพิ่มส่วนที่เรียกอาถรรพเวทขึ้นมาอีก ซึ่ง “อาถรรพเวท” นี่เองเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดแบบตันตระ
อ.ราม บอกว่า ในความรับรู้ของคนทั่วไปนั้น “ลัทธิตันตระ” หรือ “ตันตริก” เป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาแบบมหายานที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปในทิเบต ภูฏาน และจีน ซึ่งจะมีการสร้างรูปเคารพในลักษณะแปลกประหลาดกว่าทางหินยานหรือเถรวาท เช่น มักผนวกเอาเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ให้ปรากฏในการสร้างพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ พระนางตาราอันเป็นชายาของพระโพธิสัตว์ จนบางกลุ่มถูกเรียกว่า “นิกายมนตรยาน” ก็มี
เมื่อแนวคิดแบบตันตระก็จะเข้าไปปะปนอยู่กับลัทธินิกายต่างๆ ที่บูชาเทพเจ้า เช่น ไศวนิกาย ไวษณพนิกาย และศักตินิกาย โดยเฉพาะ “ศักตินิกาย” นั้นเป็นการเทิดทูนเทวสตรี เช่น พระแม่อุมา พระลักษมี พระสุรัสวดี เป็นใหญ่ ให้ความสำคัญต่ออิตถีเพศโดยการบูชา “โยนี” โดยเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตในจักรวาลควบคู่กับศิวลึงค์ ซึ่งพวกนับถือลัทธิศักตินั้น ได้นำเอาแนวคิดแบบตันตระเข้าไปปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น พวกทักษิณาจาริณ คือ ผู้บูชาเทพและเทวีอย่างสุภาพ
ส่วนอีกพวกหนึ่งเรียกว่า วามาจาริณ คือ พวกบูชาเทพและเทวีด้วยการประกอบพิธีลับ เช่น พิธีกาฬจักรบูชา เพื่อสรรเสริญศักติของพระแม่อุมาในปางพระแม่กาลี และพระแม่ทุรคา โดยการบูชายัญด้วยเลือดของมนุษย์และสัตว์
นอกจากนี้ยังมีพิธีบูชาด้วยพรหมจรรย์ของหญิงสาวโดยเชื่อว่าเป็นการแสดงออกทางร่างกายให้ศักติโปรดปราน ซึ่งจะยึดหลัก ๕ ประการ ได้แก่ ๑.มัตยะ คือ การเสพรับเครื่องดองของเมา ๒.มังสะ คือ การบริโภคเนื้อสัตว์สดๆ ๓.มัสยา คือ การบริโภคเนื้อปลาสด ๔.มุทระ คือ การบริโภคข้าวโพด เมล็ดแป้งข้าวสาลีเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย และ ๕.เมถุน คือ การเสพกาม