
เหรียญพระบรมราชินีนาถกับเหรียญสตรีเหรียญแรกของสยาม
เหรียญพระบรมราชินีนาถกับเหรียญสตรีเหรียญแรกของสยาม : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วันแม่แห่งชาติ แต่เดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๑๙ ทางราชการได้เปลี่ยน ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา
สำหรับผู้ที่สะสมเหรียญที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เนื่องในวันแม่แห่งชาตินี้ นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ “คุณเจมส์” เจ้าของกิจการร้าน Siam Coin & Antiques “ร้านกษาปณ์เมืองสยาม” หรือ “ร้าน Siamcoin” และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย บอกว่า มีเหรียญที่น่าสนใจและถือว่าเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่ ๓ เหรียญ ที่น่าสนใจดังนี้
เหรียญ “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” หรือนายพันเอกหญิง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” ท่านทรงเป็นสมเด็จราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ในปี ร.ศ.๑๑๖ หรือตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๐ พระองค์ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์” และทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”
ทั้งนี้ถือได้ว่าสมเด็จราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็น “ปฐมบรมราชินีนาถแห่งกรุงสยาม” มีตำแหน่งเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา ของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ปัจจุบันคือ “สภากาชาดไทย” พระองค์แรกอีกด้วย
เหรียญที่ระลึกที่ปรากฏพระรูปของปฐมบรมราชินี หรือที่คนทั่วๆ ไป มักจะเรียกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” นั้น เหรียญแรกคือ เหรียญที่พระราชทานแจกเป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปใน ร.ศ.๑๑๖ ที่จัดขึ้นที่บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ต่อกับสวนเจ้าเชตุ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ประทานเหรียญที่ระลึกนี้แก่ผู้ร่วมงาน ปัจจุบันนักสะสมเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์” หรือ “เหรียญพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์” ตามบันทึกที่มีกล่าวถึงในจดหมายเหตุ เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖
คุณเจมส์ ยังบอกด้วยว่า ในยุคก่อน นักสะสมจะเรียกเหรียญนี้ว่า “เหรียญสว่างวัฒนา” อันเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่า พระรูปพระราชินีที่ปรากฏบนเหรียญ คู่กับในหลวงรัชกาลที่ ๕ เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา แต่จากประวัติศาสตร์, บันทึก และจากภาพเหรียญที่สมบูรณ์ เราจะดูออกได้อย่างชัดเจนว่า พระรูปของสมเด็จพระราชินีบนเหรียญนั้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ หายากมาก คาดว่าผลิตมาเพื่อแจกเท่าๆ กับจำนวนแขกที่มาในงานคืนนั้น คือราวๆ ๗๕๐ ถึง ๘๐๐ เหรียญ เท่านั้น
เหรียญ “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” ส่วนใหญ่ เราจะพบเหรียญชนิด “เนื้อเงิน” และ “เงินกะไหล่ทอง” ที่หายากเป็นพิเศษคือ “เนื้อทองคำ” และ “เนื้อทองแดง” เป็นเหรียญที่ระลึกที่มีขนาดเล็กมากๆ แค่เพียง ๑.๖ เซนติเมตร และเป็นเหรียญที่ระลึกที่ออกเป็นทางการที่มีขนาดเล็กที่สุด ในปัจจุบันนี้
ด้านหน้า ด้านซ้ายเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ คู่กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมีห่วงเชื่อม
ด้านหลัง ตัวเลข ๓๐ ด้านบนคือ “เลขทับศก” (ตรงกับจำนวนปีที่ พระเจ้าแผ่นดินได้ครองราชย์ผ่านมา) ตัวเลข ๓๐ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติมาแล้วถึงปีปัจจุบันคือ ๓๐ ปี นับถึง ร.ศ.๑๑๖ เหรียญที่ระลึกเหรียญนี้ ถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่ปรากฏพระรูปของ “ปฐมพระบรมราชินีนาถแห่งกรุงสยาม”
เหรียญ “พระบรมราชินีนาถ” ในรัชกาลปัจจุบัน
หลังจากปี ๒๔๔๐ แล้ว ก็มิได้มีการสถาปนา “พระบรมราชินีนาถ” อีกเลยจนในอีก ๕๙ ปีต่อมา ซึ่งพระองค์ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลปัจจุบัน ท่านมีพระนามเดิมว่า ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๕ ทรงอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓
ในระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคมถึงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงออกผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สถาปนาเป็น “พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๙ ถือว่า พระองค์เป็น “พระบรมราชินีนาถ” องค์ที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์
เหรียญที่ระลึกของพระบรมราชินีนาถที่หายากมากที่สุดเหรียญหนึ่งคือ “เหรียญที่ระลึก ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี ๒๕๓๕ โดยเหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ ได้จัดสร้างออกมาเพียง “๔ เหรียญ” เท่านั้น ปัจจุบัน เหรียญรุ่นนี้ กรมธนารักษ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ จำนวน ๒ เหรียญ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน เปิดสวนเบญจสิริ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ และอีก ๒ เหรียญ ได้จัดแสดงเผยแพร่แก่ผู้สนใจ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ ในพระบรมมหาราชวัง
เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ เป็นเหรียญประเภท Cameo มีลักษณะพิเศษคือ การนำโลหะต่างชนิดกัน สอดไว้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเหรียญ เหรียญรุ่นนี้ ตัวเหรียญทำด้วย “เงิน” ส่วนของ Cameo ทำด้วย “ทองคำ” ๙๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักประมาณ ๔ กรัม ทำเป็นตราสัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อ ทรงรี สอดแทรกไว้บนลวดลายด้านหลัง ลักษณะของเหรียญ ทำด้วยเงิน ขัดผิวเงา น้ำหนัก ๙๐ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๐ มิลลิเมตร
ด้านหน้า : พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ฉลองพระองค์ชุดไทย ขอบเหรียญ มีข้อความว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”
ด้านหลัง : มีข้อความว่า “๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕รอบ" ด้านซ้ายมีโลหะ ทองคำ รูปรี ฝังแทรกลงบนตัวเหรียญ และมี อักษร พระนามาภิไธยย่อ “สก” ไขว้ภายใต้ พระสัปตปฎลเศวตฉัตร รอบรูปมีลวดลายดอกไม้ประดับ
เหรียญสตรีเหรียญแรกของสยาม
คุณเจมส์ยังบอกด้วยว่า เหรียญที่ระลึกที่ปรากฏรูปเจ้านายที่เป็นสตรีบนเหรียญ แรกของสยาม คือ เหรียญที่ระลึกงานพระเมรุ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เมื่อปี ๒๔๗๑ สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ชาววังจะออกพระนามว่า “เสด็จพระนาง” เป็นพระมเหสี ชั้นลูกหลวงตำแหน่งพระราชเทวี ท่านเป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ และสมเด็จบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อคราวพระราชโอรสฯ เสด็จศึกษาที่ยุโรปท่านมีจดหมาย ความว่า
“โอวาทของแม่ขอบอกแก่พ่อ ผู้เป็นลูกที่รัก และที่หวังความสุข ของแม่ให้ทราบว่า แม่ได้รับความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งเป็นเครื่องเจริญตาเจริญอันใด อันจะดับทุกข์ได้ นอกจากลูก เมื่อเวลาที่พ่อยังอยู่กับแม่แต่เล็กๆ ถึงหากว่าแม่จะมีความทุกข์มาสักเท่าใดๆ เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกแล้ว ก็อาจจะระงับเสียได้ ด้วยความรัก และความยินดีของแม่ในตัวลูก ก็ในเวลาซึ่งพ่อไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปนี้ พ่อจงรู้เถิดว่า ข่าวความงามความดีของพ่อนั้น จะเป็นเครื่องดับความทุกข์ของแม่ และอย่าประพฤติชั่วนอกคำสั่งสอนของแม่ จงตั้งหน้าเล่าเรียน ให้ได้รับความรู้โดยเร็ว จะได้กลับมาหาแม่โดยไม่นานปี”