พระเครื่อง

เหรียญหลวงปู่มั่นหลังหลวงปู่เสาร์พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหรียญหลวงปู่มั่น หลังหลวงปู่เสาร์พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่าฝ่ายพระกรรมฐาน : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             พระครูวินัยธร หรือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุชาวไทยสายธรรมยุตชื่อดังในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร

             หลวงปู่มั่น วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่าคำสอนพระป่าสายพระอาจารย์มั่น
 
             "พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" สมัญญานามจากบรรดาศิษย์ที่ขนานนามให้หลวงปู่มั่น เป็นฐานที่พึ่งอันมั่นคงตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาในเพศบรรพชิต ได้ปฏิบัติตนจนกระทั่งเป็น แบบอย่างที่ดีอันจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง

             ทั้งนี้ ในการสอนหลวงปู่มั่นจะเน้นให้ลูกศิษย์ถือสัลเลขธรรมเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสนทนาปราศรัยอะไรจะไม่ห่างจากสัลเลขธรรม ๑๐ ประการเลย ซึ่งประกอบด้วย อัปปิจฉตา (ความมักน้อย) สันตุฏฐิตา (สันโดษ) อสังคณิกา(ความไม่คลุกคลีมั่วสุม) วิเวกตา (ความสงัดวิเวก) วิริยารัมภะ (ความเพียร) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ (ความหลุดพ้น) วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)

             ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่งที่ได้ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมาก สามารถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า

             "วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน"

             หลวงปู่มั่น มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่านี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ไหนป่วยแล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามีทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์นั้นต่างหาก

             เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ หลวงปู่มั่น ละสังขาร สิริอายุ ๗๙ ปี พรรษาที่ ๕๖ ณ วัดป่าสุทธาวาส ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆ ที่ได้ส่งตัวแทนมารับ

             หลังจากท่านมรณภาพลง ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่าสืบมาจนปัจจุบัน

             สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น "เหรียญหลวงปู่มั่น หลังหลวงปู่เสาร์ ยันต์แปด นิยม เนื้อทองคำ" ของนายสุภสาสน์ เมาะราษี หรือ "เล็ก พระเครื่อง" ที่ปรึกษา กิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น และประธานกรรมการบริษัท ไข่มุกดีไซน์ แอนด์ คอนสตักชั่น จำกัด
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ