เหรียญหลวงพ่อทวดวัดช้างให้พิมพ์ซุ้มกอปี๒๕๐๘แจกปีนัง
19 ก.ค. 2558
เหรียญหลวงพ่อทวดวัดช้างให้พิมพ์ซุ้มกอปี๒๕๐๘แจกปีนัง : ปกิณกะพระเครื่อง โดย ตาล ตันหยง
วันนี้...คอลัมน์ "ปกิณกะพระเครื่อง" ขอเสนอข้อมูล เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่ง โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่ให้ทั้งภาพและข้อมูลประกอบแบบองค์ความรู้ใหม่ๆ ในคอลัมน์นี้เหมือนเช่นเคย
ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่สร้างในยุค พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ไม่ได้เป็นเหรียญพิมพ์เสมา หรือเหรียญรูปไข่ อันเป็นเหรียญพิมพ์มาตรฐานของวัดช้างให้ นั้น มีหลายพิมพ์ย่อย อาทิ พิมพ์ห้าเหลี่ยม ปี ๒๕๐๘, พิมพ์หกเหลี่ยม ปี ๒๕๐๖, พิมพ์ซุ้มกอ ปี ๒๕๐๖ และพิมพ์ใบสาเก ปี ๒๕๐๖ เป็นต้น
ซึ่งเหรียญชุดนี้ นอกจากแจกให้เช่าบูชาที่วัดช้างให้ แล้ว จากคำบอกลเล่าของนักสะสมรุ่นเก่า ระบุว่า บางส่วนถูกนำไปแจกที่ วัดไทยบนเกาะปีนัง (วัดไชยมังคลาราม) และวัดอื่นๆอีกด้วย
สำหรับวันนี้จะเจาะลึกใน เหรียญพิมพ์ซุ้มกอ ปี ๒๕๐๖ ซึ่ง ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลว่า
เหรียญรุ่นนี้มีเอกลักษณ์ที่แปลกตาจากเหรียญหลวงพ่อทวด ทั่วๆ ไป กล่าวคือ พิมพ์ทรงมีลักษณะคล้ายกับ พระซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร ที่ด้านบนองค์พระมีลักษณะโค้งมน อันเป็นที่มาของชื่อ "เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์ซุ้มกอ"
ด้านหน้าเหรียญจะมีองค์หลวงพ่อทวดประทับลอยองค์ ภายในเส้นซุ้มครอบแก้ว แต่จัดเป็นกลุ่มเหรียญที่ไม่มีช้างหมอบ ๒ เชือก ที่บริเวณเข่าทั้ง ๒ ข้างของหลวงพ่อทวด อาทิ เหรียญน้ำเต้า ปี ๒๕๐๕, เหรียญเม็ดแตง ปี ๒๕๐๖ และ ๒๕๐๘, เหรียญหกเหลี่ยม ปี ๒๕๐๖, เหรียญกลีบบัว ปี ๒๕๐๖ และ ๒๕๐๘ เป็นต้น
สำหรับเหรียญ "พิมพ์ซุ้มกอ" นี้ ในวงการพระเครื่องได้แบ่งเหรียญรุ่นนี้ออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์แบบไม่มีหู (เหรียญโชว์ที่ ๑-๓ เหรียญกะไหล่เงิน \<เหรียญโชว์ที่ ๓\> พบเจอได้ยาก) และ พิมพ์แบบมีหู (เหรียญโชว์ที่ ๔ และ ๕)
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เฉกเช่นเดียวเหรียญปั๊มทั่วไป เหรียญแบบไม่มีหู และแบบมีหู นี้ หากดูเผินๆ เหมือนกับว่า มาจากบล็อกแม่พิมพ์เดียวกันเท่านั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่
หากพิจารณาจากเหรียญจำนวนมาก หลายสิบเหรียญ จะพบว่า มีมากกว่า ๓ แม่พิมพ์ย่อย แน่นอน
ยกตัวอย่างแรก กรณีที่ใช้บล็อกแม่พิมพ์เดียวกัน ทั้งด้านหน้าและหลัง (แต่ต่างกันตรงหูเหรียญ) สังเกตการณ์เปรียบเทียบ เหรียญโชว์ที่ ๑ และ ๔ ที่ตำหนิทุกจุดแทบเหมือนกัน อาทิ ปลายริ้วเส้นหน้าผาก ด้านซ้ายหลวงพ่อทวด เรา จะแตกออกคล้ายตัววาย (Y), ตรงขมับด้านขวาของหลวงพ่อทวด มีลักษณะคล้ายหนามแหลมๆ ยื่นออกมา, ในเส้นเอ็นที่ไหปลาร้า มีเส้นซ้อนชัดเจน, รัดประคดและริ้วชายจีวร รวมทั้งยันต์ด้านหลังจะเป็นฟอร์มเดียวกัน เป็นต้น
อีกตัวอย่าง ถ้าสังเกตการเปรียบเทียบเหรียญโชว์ที่ ๔ และ ๕ แม้ว่าจะเป็นเหรียญมีหูเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างจุดตำหนิที่กล่าวข้างต้น ไม่ปรากฏในเหรียญโชว์ที่ ๕
และหากสังเกตให้ดีจะเห็นโครงหน้าที่ต่างกัน ที่เห็นชัดๆ โดยไม่ต้องส่องกล้อง ก็คือ ชายจีวรและรัดประคดมีขนาดและรูปทรงที่ต่างกัน (ในรูปโชว์ที่ ๕ ปลายชายจีวรแถบล่างสุดตวัดม้วนเข้าแขน)
เส้นคอคู่ก็คนละแบบ อีกทั้งยันต์ด้านหลังก็มีมิติที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในเหรียญโชว์ที่ ๔ ตัวยันต์เล็กทุกตัว จะอยู่ห่างกับยันต์ใหญ่ (เช่นเดียวกับเหรียญไม่มีหู เหรียญโชว์ที่ ๑-๓)
แต่ในเหรียญโชว์ที่ ๕ ตัวยันต์เล็กทุกตัวจะอยู่ชิดกับยันต์ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีการปั๊มสลับไขว้แม่พิมพ์กันทั้งด้านหน้าและหลัง ก่อให้เกิดพิมพ์ย่อยที่ต่างกับที่อธิบายมาข้างต้น
ยกตัวอย่างเช่น บางเหรียญด้านหน้าเหมือนกับด้านหน้าของเหรียญโชว์ที่ ๕ แต่ด้านหลังเหมือนกับด้านหลังของเหรียญโชว์ที่ ๔ หรือ ๑ เป็นต้น
เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์ซุ้มกอ นี้ เนื้อเหรียญมีทั้ง เนื้อทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทองและเงิน (หายาก) และเนื้อทองแดงเปลือย
นอกจากนี้ยังมีเหรียญเนื้อตะกั่ว (เหรียญโชว์ที่ ๖) อีกด้วย โดยเนื้อตะกั่วนี้เป็นคนละบล็อก ทั้งด้านหน้าและหลัง กับเนื้อทองแดง
สังเกตได้จากมีจำนวนเส้นหน้าผากที่ต่างกัน รัดประคดและริ้วจีวรที่ต่างกัน ดวงตาที่ต่างกัน เส้นรัศมีจากการปั๊มกระแทกที่ต่างกัน และด้านหลังมีรูปร่างยันต์ที่ต่างกัน เป็นต้น นอกจากนี้เหรียญส่วนใหญ่จมูกหลวงพ่อทวดมักจะบี้แบน
เหรียญโชว์ทั้งหมดนี้จัดเป็นเหรียญสวยสมบูรณ์แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผิวปรอทเคลือบทั้งเหรียญ และเป็นเหรียญเก่าเก็บ ไม่ผ่านการใช้มาก่อน เกือบทั้งหมดเคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวดพระ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องรับรองมาแล้วหลายครั้ง
ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ซุ้มกอ ปี ๒๕๐๖ ทั้ง ๖ เหรียญในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งข้อมูลอย่างครบถ้วนในบทความนี้ด้วย