
พระขอฝนคนขอน้ำพุทธานุภาพที่มีมาแต่'พุทธกาล'
พระขอฝนคนขอน้ำพุทธานุภาพที่มีมาแต่'พุทธกาล' : ท่องแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"พระพุทธรูปปางขอฝน" นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปางคันธาระ" หรือ "ปางคันธารราฐ" เนื่องจากพระปางนี้สร้างขึ้นที่เมืองคันธาระเป็นครั้งแรก ราว พ.ศ.๔oo และผู้สร้างเป็นปฐมกษัตริย์คือพระเจ้ามิลินทราช ผู้ครองเมืองนี้ จึงเรียกชื่อพระปางนี้ตามชื่อเมืองว่า "พระคันธาระ"
พุทธลักษณะของพระขอฝน เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำโดยลงยาสีเหมือนจริง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว เกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศาทำเป็นรูปก้นหอยเรียงตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายและฐานสิงห์
การจัดสร้างพระปางขอฝน ตรงกับพุทธประวัติตอนที่ในสมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สระโบกขรณี (สระบัว) ภายในพระเชตวันมหาวิหารก็แห้งขอดติดก้นสระ พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกันในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์
สำหรับพระคันธารราฎร์ หรือพระขอฝน ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นด้วยเนื้อโลหะสำริดกะไหล่ทอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ มีความสูง ๕๗.๔๐ ซม.
อย่างไรก็ตาม เดิมทีพระคันธารราษฎร์น่าจะประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแก้ว และสร้างปูชนียสถานเพิ่มเติม ได้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ ขึ้นที่มุมระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดเล็กยอดปรางค์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปสำคัญที่ใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เรียกนามอาคารตามนามพระพุทธรูปว่า “หอพระคันธารราษฎร์”
นอกจากนี้แล้วในพระบรมมหาราชวังยังมีพระพุทธรูปปางขอฝนอีกองค์หนึ่งแต่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คือ พระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนเหนือปัทมาสน์ โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์แสดง ปางขอฝนโดยพระหัตถ์ขวายกขึ้นราวพระอังสา ทำกิริยากวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหงายเป็นกิริยารองรับน้ำฝน ซึ่งประทับยืนเหนือปัทมาสน์ ประกอบด้วยกลีบบัวหงาย ซ้อนสามชั้นและเกสรบัวเหนือก้านบัวและแผ่นพื้นน้ำที่มีฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่เบื้องล่าง
พระเจ้าทันใจ "พระขอฝน-ห้ามน้ำ"
พระเจ้าทันใจ วัดก้างหงส์ดอนไจย บ้านศรีชุม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ ศิลปะเชียงแสน สิงห์หนึ่ง ปางสมาธิขัดเพชร ประทับบนแท่นบัวสองชั้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างหลวงเมืองพะเยา หน้าตักกว้าง ๒๕ นิ้ว สร้างขึ้นในยุคทองของอาณาจักรล้านนา อายุราว ๑,๐๐๐ ปี
มีคติความว่าผู้ที่ได้มากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าทันใจให้ช่วยปลดเปลื้องอุปสรรคปัญหาให้หมดสิ้น และสมหวังดังอธิษฐาน จนเป็นที่ร่ำลือถึงพุทธานุภาพ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เป็นที่โจษขานกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าทันใจ ถึงขนาดให้ความสำคัญว่า พระเจ้าทันใจองค์นี้สามารถบันดาลในจิตอธิษฐานที่ขอพรให้สัมฤทธิผล เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ตามปรารถนา
ปีใดเกิดฟ้าฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผู้คนในยุคนั้นก็พากันจัดเครื่องสักการบูชา แห่แหนกันไปขออำนวยอวยพรโดยนำ “ใบน้ำหนอง” ใส่ในใต้ฐานองค์พระเจ้าทันใจ แล้วพากันตั้งจิตสัจจะอธิษฐานขอน้ำขอฝน ก็จะได้รับสายฝนโปรยปรายตกลงมาให้ชาวบ้านได้ชุ่มเนื้อ เย็นใจ ได้ทำการกสิกรรม ทำไร่ ทำนา ประกอบสัมมาอาชีพได้ตามความปรารถนา แต่หากปีใดฝนตกหนักน้ำท่วมไร่นาเสียหาย ชาวบ้านก็จะนำเครื่องสักการะไปนมัสการกราบไหว้ แล้วเอา “ใบลมแล้ง” (ใบต้นคูน) ใส่ใต้ฐานองค์พระเจ้าทันใจ ขอพรอย่าให้ฝนตกมากเกินไป ก็จะได้เห็นประจักษ์สัมฤทธิผลทุกคราไป
หลังจากที่พระเจ้าทันใจได้สูญหายไปชาวบ้านก็ได้สร้างองค์จำลองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นองค์แทนองค์จริงใช้ประกอบพิธีนมัสการตราบจนถึงปัจจุบัน ก่อนจะได้พระเจ้าทันใจองค์จริงกลับคืนมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ ทำให้ชาวบ้านรวมถึงชาวอำเภอดอกคำใต้ และชาวพะเยาทุกคนต่างดีใจกับการกลับคืนมาของพระเจ้าทันใจเป็นอย่างมาก
พระพุทธไสยาสน์ พระขอฝน "จ.น่าน"
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่าน ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ พุทธศาสนิกชนชาวน่าน เข้าพิธีโบราณเมืองนครน่าน สวดบูชาเทพยาดาขอฟ้าสายฝน หลักจากประสบปัญหาภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก เนื่องจากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
พระพุทธไสยยาสน์ประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ยาว ๑๔ เมตร สูง ๒ เมตร พร้อมด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน หน้าตัก ๗๐ เซนติเมตร สูง ๑๐๐ เซนติเมตร สร้างในสมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม พ.ศ.๒๑๒๙ โดย มหาอุบาสิกานามว่านางแสนพาลาประกอบด้วยศรัทธาสร้างพระนอนไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนทั้งหลาย
พระครูวิสิฐนันทวุฒิ เจ้าคณะอำเภอภูเพียง เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง บอกว่า พิธีขอน้ำฟ้าสายฝน มีมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อบ้านเมืองแห้งแล้งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล คณะสงฆ์ เจ้าบ้านเจ้าเมือง ประชาชนก็จะร่วมกันประกอบพิธี โดยเฉพาะปีนี้คณะสงฆ์จังหวัดน่าน พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอเมืองน่าน คณะศรัทธาบ้าน และชุมชนต่างๆ หมู่บ้านต่างๆ ร่วมใจกันประกอบพิธีขอน้ำฟ้าน้ำฝนตามที่บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติมา
นอกจากนี้แล้วที่ จ.น่าน ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นชื่อว่า "พระขอฝน" คือ พระเจ้าทองทิพย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนตาลเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านมาตั้งแต่โบราณกาล อายุกว่า ๕๐๐ ปี เพราะเมื่ออดีตกาลเวลาจะทำพิธีขอน้ำฟ้าสายฝนเวลาบ้านเมืองแห้งแล้งก็จะไปประกอบพิธีที่หน้าวิหารพระเจ้าทองทิพย์วัดสวนตาลมาหลายยุคหลายสมัย
ส่วนอีกองค์หนึ่ง คือ "พระเจ้าฟ้าสายฝนแสนห่า" ประดิษฐานอยู่ที่วัดพญาวัด เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักสูงเท่าตัวคน อายุเกือบ ๓๐๐ ปี เมื่อฤดูแล้งหรือบ้านเมืองแห้งแล้ง ประชาชนก็จะอัญเชิญพระเจ้าฟ้าสายฝนแสนห่าแห่เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อขอบารมี ปีนี้ก็เช่นเดียวกันได้อัญเชิญพระเจ้าฟ้าสายฝน จากวัดพญาวัดมาที่วัดสวนตาล ประชาชนก็พากันสรงน้ำแบบโบราณ สรงน้ำพระเจ้าฟ้าโดยการอัญเชิญเทวดามา เมื่อมาถึงก็ประกอบพิธีและทำการอ่านคาถาปลาช่อน
"เรื่องของความศรัทธาจริงๆ คือเมื่อเราตั้งใจปฏิบัติดี เพื่อบ้านเพื่อเมือง เพื่อเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ทำดี ฟ้าดินย่อมโปรดปราน เทวดาอารักษ์ย่อมดลบันดาล ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา" พระครูวิสิฐนันทวุฒิ บอกเล่า