พระเครื่อง

เหรียญที่ระลึก'พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย'

เหรียญที่ระลึก'พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย'

22 มิ.ย. 2558

เหรียญที่ระลึก 'พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย' สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย   วันประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕ ทรงเป็นพระราชโอรสในลำดับที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

               “พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” เป็นพระนามแรกของพระองค์ ทรงศึกษาหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็กเมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา
   
               ในวัยเพียง ๒๐ พรรษา สมเด็จกรมพระยาดำรง ท่านผู้นี้ได้เป็นผู้ค้นคิดให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นจนได้ที่ในพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕ เป็นผู้อุปถัมภ์ จนสำเร็จ พ.ศ.๒๔๒๕ ในยุคนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า  “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนจากโรงเรียนสำหรับฝึกสอนนักเรียนทหารมหาดเล็กมาเป็น โรงเรียนสำหรับนักเรียนพลเรือน เมื่อมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นจึงได้ขยายโรงเรียนออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวังชื่อเรียกจึงเป็น “โรงเรียนสวนกุหลาบ”

               สมเด็จกรมพระยาดำรง เป็นผู้ทรงรอบรู้และแตกฉานในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ได้ทรงนิพนธ์หนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัตศาสตร์ไว้มากกว่า ๖๕๐ เรื่อง ทำให้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีความชัดเจนถูกต้อง โดยได้มีการชำระหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำงานของมัคคุเทศก์ที่ได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ในด้านนี้ในการใช้บรรยายความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้แก่นักท่องเที่ยว

               ในวันที่ ๒๑ มิถุนายนของทุกๆ ปีเป็นวันคล้ายวันประสูติของ กรมพระยาดำรง จึงได้ถือว่าเป็น “วันมัคคุเทศก์ไทย” เพื่อเป็นการน้อมลำลึกถึง พระอัจฉริยภาพพระจริยาวัตร และคุณูปการของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงงานและได้ปูรากวางฐานไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้มานานัปการ
   
               นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ “คุณเจมส์” เจ้าของกิจการ ร้าน Siam Coin & Antiques "ร้านกษาปณ์เมืองสยาม" หรือ "ร้าน Siamcoin" และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย อธิบายให้ฟังว่า เหรียญที่ระลึกพระองค์เจ้าดิศวรกุมารฯ ออกในวาระพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เป็นเหรียญที่มีลักษณะทรงกลมแบน ขอบเรียบด้านบนมีห่วง ยกเว้นชนิดเหรียญทองแดงจะไม่มีห่วง

               ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระรูปสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระดับอก (พระอุระ) ผินหน้า (พระพักตร์) ไปทางเบื้องซ้ายของเหรียญริมขอบมีอักษรจารึกพระนาม “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”

               ด้านหลังของเหรียญเป็นรูปอักษรบนแพรป้ายมีคาถาว่า “ติรตนานุภาเวนะ ฑีฆายุโหหิ โสตถินา” แปลว่า “ด้วยอานุภาพของพระรัตนไตร ขอให้ท่านจงมีอายุยืนโดยสวัสดี” เหนือแพรป้ายมีข้อความว่า “สร้างเป็นที่รฤก” ใต้แพรป้าย มีข้อความว่า “เพื่อฉลองอายุครบห้ารอบ ปีจอ พ.ศ.๒๔๖๕”

               ชนิดของเหรียญที่จัดสร้างมีเนื้อทองคำ เงิน และทองแดง มีขนาดของเหรียญ ๒๘ มิลลิเมตร เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้นับเป็น  เหรียญที่ระลึกรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ได้สร้างไว้เมื่อทรงยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เป็นเหรียญที่ค่อนข้างหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เนื้อทองคำ มีพบในวงการสะสมน้อยมากๆ

               เหรียญที่ระลึกที่จัดสร้างในรุ่นต่อมา ส่วนมากที่พบเห็นจะเป็น เหรียญที่สร้างขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย เช่น เหรียญที่ระลึก ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ออกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕ โดยถือว่าพระองค์ท่านเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่มีคำขวัญว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  

พระกริ่งดำรงราชานุภาพ

               สำหรับการจัดสร้าง “พระกริ่งดำรงราชานุภาพ” รุ่นแรก ที่ สร้าง พ.ศ.๒๕๓๓ นายศราวุฒิ บอกว่า เป็นพระที่สร้างโดยถอดแบบมาจากพระกริ่ง องค์ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้ประจำพระองค์ และยังมีพิธีพุทธาภิเษก ที่มีพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศมากถึง ๑๐๙ องค์ จำนวนแผ่นทองจารลงอักขระยันต์ จำนวน ๓๒๗ แผ่น มีพระเถระเกจิอาจารย์ชื่อดังมาร่วมในพิธีมากมาย อาทิ หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม, หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า, หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่, หลวงพ่อสิม สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง  และหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอมเป็นต้น พระกริ่งเนื้อทองคำ จัดสร้างเพียง ๑๐๐ องค์เท่านั้น

               พระกริ่งรุ่นนี้เป็นที่นิยมในวงการมาก ผู้บูชาต่างมี  ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งทางแคล้วคลาด เมตตามหานิยม โชคลาภมากมาย โดยเฉพาะข้าราชการ ฝ่ายปกครองต่างๆ ที่ได้บูชา ไว้ใช้ในยุคนั้นต่างรักและเป็นที่หวงแหนเป็นอันมาก มีเรื่องราวต่างๆ ร่ำลือกันมาก ด้วยเชื่อกันว่าเมื่อได้อาราธนา “พระกริ่งดำรงราชานุภาพ” ใช้แล้วชีวิตราชการจะเจริญก้าวหน้า ได้ปรับยศเลื่อนตำแหน่งแบบไม่คาดฝัน คล้ายๆ กับที่ข้าราชการ หลายๆ ท่านนิยม เหรียญเลื่อนสมศักดิ์ของหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ปัจจุบันพระกริ่งรุ่นแรกแทบจะหาไม่พบเลยในวงการพระเครื่องจะมีบ้างที่เป็นพระกริ่งที่สร้างในรุ่นต่อๆ มา เช่น พระกริ่งบาเกร็งที่สร้างในปี ๒๕๔๘ เป็นต้น 

เหรียญรางวัลแข่งขันเรือเก่าแก่ที่สุดของไทย 

               ปัจจุบันนี้ทั่วโลกเรายึดถือกันว่าวันที่ ๒๕ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน “Day of the Seafarer” หรือ “วันชาวเรือโลก” ทั้งนี้

               ในราชกิจรายวัน จ.ศ.๑๒๗๑ (พ.ศ.๒๔๕๒) ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมเรือยนต์ และการเสด็จคลองพญาไทเป็นจำนวนมาก มีธรรมเนียมในยุคนั้น (รัชกาลที่๕) ว่าในการนี้ในหลวงโปรดให้เชิญผู้ที่มีเรือยนต์ นำเรือของตนพร้อมเพื่อนฝูงที่มีตำแหน่งเฝ้า สำหรับเรือพระที่นั่งเป็นเรือยนต์ขนาด ๕๐ แรงม้า มีนามว่า “เรือไอยราพต”

               นายศราวุฒิ บอกว่า เราเห็นปรากฏเป็นหลักฐานคือ เหรียญรางวัลการแข่งเรือยนต์ จำพวกเรือชั้น ๔ ที่มีการแข่งขันกันในปี ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ซึ่งเรือที่ได้รับรางวัลในปีนั้นมีนามว่า “อาศน์ละโว้” นับเป็นเหรียญรางวัลการแข่งขันเรือที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ที่มีการค้นพบในปัจจุบันนี้เป็นเหรียญสะสมในรังของ กัปตันสามารถ เวสุวรรณ์ นายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย

               นอกจากนี้แล้วยังปรากฏเหรียญการแข่งขันเรือในงานเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์และสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ ปี โดยการแข่งเรือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการสมโภชเหรียญรางวัลเหรียญนี้เป็นเหรียญทรง ๘ เหลี่ยม ด้านหน้าเป็นรูปสะพานพุทธ และเรือวิ่งอยู่กลางแม่น้ำ ด้านบนมีอักษรว่า “สะพานพุทธยอดฟ้า” ด้านล่างมีอักษรว่า “วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕” ด้านหลังเรียบ มีข้อความว่า “ที่ระลึกในการแข่งเรือ ในงานเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ และสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ปี”
               
               สำหรับเหรียญที่ระลึกแข่งเรือที่สำคัญมากของชาวนนทบุรี คือ “เหรียญที่ระลึกในงานแข่งเรือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓” เป็นเหรียญที่นิยมและหายาก แจกเป็นที่ระลึกงานกฐินของบริษัทสุพรรณ, บริษัทพัฒนากรและสโมสรสยามจินางกูร จัดที่วัดศาลากุลและวัดท่าอิฐ เหรียญนี้เป็นที่นิยม เพราะในยุคนั้นมีพระเกจิที่เรืองนามที่ชื่อว่า “หลวงพ่อสุ่น” แห่งวัดศาลากุลนั่นเอง

เหรียญที่ระลึก\'พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย\'