พระเครื่อง

ฟังรอบด้าน!‘ม.สงฆ์’สอนทางโลกมากไป?

ฟังรอบด้าน!‘ม.สงฆ์’สอนทางโลกมากไป?

14 มิ.ย. 2558

ฟังรอบด้าน!‘ม.สงฆ์’สอนทางโลกมากไป? ‘พุทธะอิสระ-นักกฎหมาย’โต้ลั่น : สำราญ สมพงษ์รายงาน

               จากกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา (สปช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายกรรมหลายวาระพาดพิงองค์กรในพระพุทธศาสนาและล่าสุดได้พาดพิงมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)  ในลักษณะมีการเรียนการสอนมุ่งเน้นทางโลกมากเกินไปแทนที่จะมุ่งสอนพระธรรมวินัย และพระนิสิตอยู่ฟรี กินฟรีทุกอย่าง ไม่เสียค่าเทอม เอาเปรียบเยาวชนนั้น ส่งผลให้ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งแสดงความคิดเห็นผ่านทางสังคมออนไลน์ในลักษณะไม่เห็นด้วยและเตรียมจะมีการเคลื่อนไหว และดูเหมือนจะมีการต่อความยาวยากที่จะหาจุดจบ
 
               เมื่อวันที่ ๑๔  มิ.ย. เฟซบุ๊ก "หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)"  ได้โพสต์ข้อความว่า 
 
               สรุปจะเอาความรู้รอบด้านหรือจะรักษาพระธรรมวินัย ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘
 
               เห็นข่าวบรรดาสานุศิษย์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ออกมาพูดปกป้องการศึกษาทางโลกของสงฆ์ในปัจจุบัน “ว่ามีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษภัยใดๆ”
 
               ไม่มีใครเขาบอกว่าการศึกษาของพระสงฆ์มีโทษภัย หากเป็นการศึกษาที่เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย
 
               ในเนื้อข่าวยังมีการกล่าวอ้างเหตุผลว่าเป็นการศึกษารอบด้านทั้งทางโลกและทางธรรม กลับจะเอื้อประโยชน์แก่การเผยแผ่
 
               ที่จริงถ้าภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องการจะศึกษาหาความรู้ให้รอบด้าน แล้วจะมานุ่งผ้าเหลืองอยู่ทำไมกันเล่า ควรที่จะสึกออกไปแสวงหาความรู้ให้รอบด้านเสียก่อน เมื่อเข้ามาบวชจะได้ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ช่ำชองเชี่ยวชาญ เข้าอกเข้าใจ ทำได้และสอนถูก
 
               ดังตัวอย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในอดีต ที่ชาวบ้านเขายอมรับศรัทธา เลื่อมใส ท่านเหล่านั้นก็บวชเข้ามาเล่าเรียนแต่พระธรรมวินัย ศีล สมาธิ ปัญญา จนแตกฉานเป็นที่ยอมรับเคารพศรัทธาเทิดทูนบูชาแก่ชนทั้งหลาย แม้นับย้อนหลังไปสองพันกว่าปี ก็ไม่เคยมีพระอสีติมหาสาวกรูปใดที่บวชเข้ามาแล้วต้องไปศึกษาเล่าเรียนนอกธรรมนอกวินัย ทำไมพวกพระคุณท่านทั้งหลายจึงเป็นที่กล่าวขานยกย่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
 
               หรือว่าพระดีๆ จะมีอยู่ในตำนานเท่านั้น และมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งกำลังจะทำให้พระดีๆ มีอยู่แต่เฉพาะในตำนานเท่านั้น
 
               เอาเป็นว่า หากพวกภิกษุทั้งหลายต้องการเรียนรู้นอกธรรมนอกวินัย ก็ให้ไปแก้กฎหมายที่ว่าด้วย “ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์” ซึ่งมีมาในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
 
               อย่าทู่ซี้เอาสีข้างเข้าสี แถไปข้างๆ คูๆ ทั้งที่รู้ว่ามันผิดกฎหมาย ไอ้ที่เลวร้ายคือ กรรมการมหาเถระสมาคมบางท่านที่เป็นผู้รักษากฎหมาย ดันไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วทำผิดกฎหมายเสียเอง โดยเปิดให้มีการเรียนการสอนนอกธรรมนอกวินัย แล้วจะยังไงล่ะทีนี้ เมื่อตำรวจกลายเป็นโจรเสียเอง สุจริตชนจะหวังพึ่งใคร
 
               มิน่าเล่า คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาจึงไม่ใยดี ด้วยข้ออ้างที่ไถเถือกแถไปหน้าด้านๆ ว่าเป็นการแสวงหาความรู้รอบด้านโดยไม่พูดซักคำว่ามันถูกธรรมถูกวินัย ถูกกฎหมายคณะสงฆ์หรือเปล่า ทำเหมือนพวกนักการเมืองที่ชอบอ้างไปข้างๆ คูๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์เฉพาะตน
 
               ในเนื้อข่าวช่วงท้ายๆ ผู้ให้ข่าวยังกล่าวว่า ตนมีความมั่นใจว่าบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม ไม่เอาเปรียบเยาวชน ประชาชนเลย แต่จะยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้และอบรมจริยธรรมในสัมมาปฏิบัติ
 
               น่าจะจริงอย่างที่ผู้ให้ข่าวพูดเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ เพราะเวลานี้พระหนุ่มแก่แม้เณรน้อย ต่างพากันเล่าเรียนแต่ในสายวิชาชีพโดยไม่สนใจหลักธรรมวินัยกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว และไม่มีใครเขาว่าบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมหรอก
 
               แต่ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัย และสังฆมณฑลจะได้อะไร หากพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัยนี้ กลายเป็นศูนย์รวมของพวกผู้มีศรัทธาแอบแฝงหรือแกล้งศรัทธา เข้ามาบวชเพียงเพื่อจะมาอาศัยต่อยอดความรู้ แล้วสึกออกไปหาอยู่หากิน หาประโยชน์ใส่ตัว แล้วพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัย จะได้อะไร
 
               อีกทั้งชาวบ้านที่เขาให้ข้าวให้น้ำกิน ทุ่มเทเงินทองขณะที่ยังบวชอยู่ หากเขารู้ว่าภิกษุที่เขาเลี้ยงดูส่งเสียให้เล่าเรียนจะต้องสึกไปมีเมีย หาอยู่หากินก่อร่างสร้างครอบครัวเขาจะได้อะไร เขาจะรู้สึกอย่างไร
 
               เอาอย่างนี้ไหมล่ะ หากไม่คิดจะหลอกลวงใคร และบวชเข้ามาเพื่อจะใช้พระพุทธศาสนาเป็นสะพานเดินเพื่อต่อยอดความรู้ทางโลกและทางธรรมให้รอบด้าน จบแล้วสึกออกไป ก็ให้ประกาศบอกกล่าวแก่ชาวบ้านเขาให้ได้รับรู้ไปเลยว่า “โยม ฉันบวชเข้ามาเพื่อมาขวนขวายเล่าเรียนต่อยอดความรู้ให้รอบด้าน ทั้งทางโลกและทางธรรม หากเรียนจบแล้วอาตมาจะสึกไปมีครอบครัวนะ”
 
               โยมชาวบ้านเขาจะได้รู้ว่าเขากำลังเลี้ยงใครอยู่ และเลี้ยงเพื่ออะไร เลี้ยงอ้วนอิ่มแล้วจะทำอะไรให้แก่เขาได้บ้าง
 
               เมื่อกล้าจะผิดธรรมผิดวินัย ผิดกฎหมาย ก็ต้องกล้าที่จะแสดงตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของตนออกมาเลย อย่างึมงำอำพราง ทำผลุบๆ โผล่ๆ เบื่อๆ อยากๆ ทำให้ชาวบ้านเขาคิดเองเออเองและเข้าใจเอาเองว่า เขากำลังเลี้ยงสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ตามอุดมการณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่
 
               มันบาปนะคุณ ทำให้เขาเข้าใจผิด คิดผิด เห็นผิด เกิดชาติหน้าจะต้องมาเกิดเป็นควายโง่เง่า ไถนาใช้หนี้ก้อนข้าวหยดน้ำเขา ๕๐๐ ชาติเชียวนะ ไม่กลัวกันบ้างหรือยังไง
 
               พุทธะอิสระ" 
 
 
               ต่อมา "ณัฐนันท์ สุดประเสริฐ" ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวข้อความในลักษณะชี้แจงความว่า 
 
               "ความจริงของมหาจุฬา กับ วาจาของประจักษ์พยาน วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘
 
               ดิฉัน นางณัฐนันท์ สุดประเสริฐ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายและพระพุทธศาสนา ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฐานะนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้าง ไม่ได้เป็นผู้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยคือเงินเดือนหรือค่าสอน ค่าวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ดิฉันเป็นเพียงอุบาสิกา ผู้ตระหนักในหน้าที่พุทธบริษัทของตน บำเพ็ญทานบารมีด้วยการถวายทานแก่ภิกษุผู้เป็นนิสิตมหาจุฬาฯ ด้วยอาหาร ความรู้ และค่าเล่าเรียน
 
               ดิฉันเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชากฎหมายทั่วไป คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ โดยมีภาระงานการสอนเพียงปีละหนึ่งเทอม เทอมละวิชาเดียวเท่านั้นคือ วิชากฎหมายทั่วไป นอกจากที่ดิฉันจะต้องไปปฏิบัติภาระกิจการสอนแล้ว จะไม่มีใครได้พบดิฉันเดินเตร็ดเตร่ไปมาที่มหาวิทยาลัยฯ ดิฉันจึงไม่มีสมาคมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นพิเศษนอกจากเพียงแค่รู้จักกันและร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยกันเท่านั้น
 
               ดิฉันเป็นผู้ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ด้วยเรื่องการสนทนาทางการเมืองนั้น พระศาสดาทรงตรัสเข้าอยู่ใน “ติรฉานกถา” ได้แก่เรื่องขวางทางสวรรค์และพระนิพพาน เพราะการกล่าวด้วยเรื่องการเมืองสีนั้นสีนี้ ที่มิใช่การกล่าวในทางทฤษฎีการปกครอง การกล่าวด้วยเรื่องนักการเมืองคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่วาจาที่จะนำพาให้เราเข้าถึงพระนิพพาน (แม้แต่ดิฉันยังไม่กล่าว พระคุณเจ้าก็ยิ่งมิควรจะกล่าวเรื่องการเมืองที่มิใช่การกล่าวด้วยเรื่องทฤษฎีทางปกครองด้วย)
 
               บทความนี้ ดิฉันขอตั้งจิตไว้ในอุเบกขาธรรม อันเป็นธรรมของนักกฎหมาย กล่าวคือ พูดตามความจริง อิงหลักฐาน ปราศจากอคติทั้ง ๔ ประการ และขอชี้แจงในฐานะประจักษ์พยานดังต่อไปนี้
 
               ดิฉันได้อ่าน ได้ฟัง มามากมายเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์การเรียน การสอนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ โดยเฉพาะเรื่องพระนิสิตของมหาจุฬาฯ ซึ่งเห็นว่าหลายๆ ประเด็นเป็นความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจของผู้แสดงความคิดเห็น ทั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการอ้างกฎหมาย จึงใคร่ขออนุญาตชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องต่อสังคม เป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
 
               มหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดการเรียนการสอนผิดต่อกฎหมายจริงหรือ ?
 
               มีการอ้างถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยการห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพหรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ ซึ่งข้อนี้ผู้อ้าง ได้ทำการอ้างกฎหมายผิดฉบับ โดยอ้างอิงไปที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒ ) มาตรา ๑๕ ตรี แต่ความจริงแล้ว เรื่องการห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพนี้ ปรากฏอยู่ในกฎหมายที่ชื่อว่า “คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพหรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือก อย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. ๒๕๒๑” หาใช่อยู่ในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ตามที่กล่าวอ้างไม่ โดยปรากฏเป็นบทบัญญัติดังนี้
 
               “ ข้อ ๔ ห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์ในโรงเรียน หรือสถานที่ต่าง ๆ ปะปนกับคฤหัสถ์ชายหญิง เช่น พิมพ์ดีด ชวเลข คอมพิวเตอร์ การบัญชี ช่างวิทยุ-โทรทัศน์ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ และวิชาชีพอย่างอื่นที่นับว่าเป็นวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์”
 
               นอกจากผู้กล่าวอ้างจะกล่าวอ้างกฎหมายผิดฉบับแล้ว ผู้กล่าวอ้างยังยกเนื้อความของตัวบทกฎหมายมาไม่หมด ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดและกล่าวหาว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์กระทำความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอีกด้วย เพราะในตัวบทกฎหมายได้ยกตัวอย่างวิชาชีพไว้แล้วอย่างชัดเจน
 
               โดยเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ท่านสามารถสอบถามไปยังกฤษฎีกาถึงการตีความหรือไปยังเนติบัณฑิตยสภาเพื่อสอบถามว่า “วิชาชีพ” คืออะไร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่มีการเรียนการสอนวิชาชีพใดๆ เลยแม้แต่วิชาเดียว มีแต่วิชาการด้านต่างๆ แต่เมื่อเรียนจบแล้ว พระเณรไม่สามารถนำไปประกอบวิชาชีพหรือสอบรับใบประกอบวิชาชีพในแขนงใดๆ ได้เลย เว้นแต่ คณะครุศาสตร์ ซึ่งผู้เรียนจบออกไปเป็นครู ความเป็นครู ชั่วร้ายตรงไหน ร่ำรวยอย่างไร ?
 
               ประเด็นต่อมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ไม่มีการเรียนการสอนที่พระศาสดาทรงตรัสห้ามด้วยเหตุว่าเป็น “คัมภีร์โลกายตะ” เนื่องจาก คำว่า "โลกายตะ" นี้ ไม่มีอธิบายไว้ในชั้นพระพุทธวจนะ จึงต้องอาศัยคัมภีร์ประกอบการอธิบาย
 
               คัมภีร์โลกายตะนั้น ในคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา (พจนานุกรมอธิบายคำศัพท์ที่มาในพระไตรปิฎก), คัมภีร์อภิธานวรรณนาและคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาสูจิ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาอธิบายศัพท์บาลี ได้แสดงข้อความเกี่ยวกับคัมภีร์โลกายตะ ไว้ดังนี้ วิตณฺฑสตฺถํ วิญฺเญยฺยํ ยํ ตํ โลกายตํ อิติ แปลความว่า คัมภีร์วิตัณฑะใด มีอยู่, คัมภีร์วิตัณฑะนั้น พึงทราบว่า เป็นคัมภีร์โลกายตะ ฯ คัมภีร์โลกายตศาสตร์ ชื่อว่า วิตัณฑะ ได้แก่ คัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องที่ตรงข้ามกันและกัน หรือเรื่องที่ขัดแย้งกับสวรรค์และนิพพานโดยพิสดาร
 
               เมื่อทราบความหมายของคัมภีร์โลกายตะที่ถูกต้องแล้ว จึงต้องไปดูหลักสูตรของมหาจุฬาฯ ซึ่งดิฉันปรารถนาให้ท่านได้ไปศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ให้เข้าใจด้วยตนเองเสียก่อน “อย่าบอกว่าอาหารร้านไหนไม่อร่อย เพียงเพราะคนอื่นเขาบอกมา” เมื่อท่านศึกษาได้อย่างละเอียดแล้ว จึงนำรายวิชาต่างๆ ของมหาจุฬาลงกรณ์ฯ มาสอบเทียบดูด้วยหลักมหาปเทสสี่และหลักตัดสินพระธรรมวินัยว่า วิชาต่างๆ ของมหาจุฬาลงกรณ์ มีวิชาใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนให้ภิกษุสามเณรรู้จักอริยสัจสี่หรือไม่ แม้แต่วิชากฎหมายที่ดิฉันสอน ดิฉันยังสอนให้นิสิตสามารถนำกฎหมายมาสงเคราะห์ลงด้วยหลักอริยสัจสี่อีกด้วย และมิใช่สงเคราะห์กันแบบแถกๆ แถๆ แต่สามารถสงเคราะห์ให้ลึกถึงปัญหา เหตุแห่งปัญหา ความดับแห่งปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา โดยการใช้กฎหมาย กฎหมายได้ชื่อว่าเป็นกฎแห่งกรรมสมมติ และกฎหมายมีมาก่อนพระศาสดาจะตรัสรู้ แม้พระศาสดาเองจะทรงเข้าไปยังบ้านเมืองใด ก็จะทรงตรวจสอบว่า บ้านเมืองนี้มีกฎหมายว่าอย่างไร และการบัญญัติพระวินัยก็ทรงบัญญัติโดยคำนึงถึงกฎหมาย ในเรื่องนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทำการศึกษาในทุติยปาราชิก พระวินัยปิฎกเล่ม ๑ ข้อที่ ๑๕๒ จะเข้าใจ
 
               ประเด็นต่อมา นิสิตเรียนฟรี กินฟรี นอนฟรี หรือไม่ ข้อนี้สามารถแสดงหลักฐานใบเสร็จค่าเล่าเรียนได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอธิบาย
 
               ประเด็นต่อมา นิสิตเบียดบังโยม พระไปโกหกโยม หลอกเงินโยมมาเรียนหรือไม่
 
               ในฐานะที่ดิฉันเป็นโยมอาจารย์ ถวายทั้งความรู้และทุนการศึกษา ดิฉันขอยืนยันว่า ค่าเล่าเรียนที่พระนิสิตได้รับ มาจากปัจจัยที่โยมอุปัฏฐากท่านซึ่งรู้แน่ชัดว่าท่านเอาปัจจัยไปจ่ายค่าเทอม ไม่มีการหลอกลวงโยมอุปัฏฐากแต่อย่างใดนำมาจ่ายค่าเทอม และ/หรือ โยมอาจารย์พากันนำเอาค่าบรรยาย แบ่งปันเงินเดือนของตนมาถวายเป็นทุนการศึกษาให้แก่พระนิสิต ท่านจึงไม่ได้หลอกลวงโยมเอาเงินมาเรียนแต่อย่างใด สำหรับท่านที่กำลังจะตำหนิติเตียน ขอให้ท่านหยุดตำหนิสักนาทีเดียวแล้วคิดว่า ท่านเคยถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการศึกษาของพระหรือไม่อย่างใด
 
               ประเด็นต่อมา บวชแล้วสึก ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระพุทธศาสนา
 
               ในข้อนี้ดิฉันขอชี้แจงว่า การบวชแล้วสึกเป็นเรื่องธรรมดา มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ดังนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติพระวินัยที่เกี่ยวข้องด้วยการลาสิกขา และยังมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกอีกมากมายหลายพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องการลาสิกขา อาทิ อัคคิขันโธปมสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๖๙ อีกทั้งพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นศาสนาที่คับแคบ แม้แต่ฆราวาสก็สามารถบรรลุธรรมได้ โดยสามารถบรรลุได้ถึงความเป็นอรหันต์ เช่น นางวิสาขาอุบาสิกา พระโสดาบัน, พระเจ้าพิมพิสาร พระโสดาบัน, พระเจ้าสุทโธทนะ พระอรหันต์, พระนางเขมา พระอรหันต์, ท่านยสกุลบุตร พระอรหันต์, ท่านสันตติอำมาตย์ พระอรหันต์ ท่านที่มีนามดังนี้ ล้วนบรรลุความเป็นพระอรหันต์ในเพศฆราวาสทั้งสิ้น ดังนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมจึงสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศ ทุกวัย มิใช่แต่การบวชเท่านั้นที่จะบรรลุพระนิพพานได้ ที่บวชแล้วบรรลุธรรมตั้งแต่เด็กก็มีอย่างพระราหุล ที่บวชแล้วไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ลาสิกขาออกไปเป็นอุบาสก รับใช้ใกล้ชิดพระภิกษุและรับใช้ได้อย่างดีเพราะเคยเป็นพระ เป็นเณรมาก่อนก็มีมากมาย
 
               ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง หากผู้บวชเมื่อทราบว่าตนจะบวชมาเพื่อเรียน ก็พึงแจ้งความนี้ให้ชัดกับโยมผู้อุปัฏฐากตน และเช่นเดียวกัน ถ้าท่านใดจะบวชมาเพื่อเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวใดๆ ที่นอกจาก “โคนไม้และเรือนว่าง” เพื่อบำเพ็ญสมณะธรรมอันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์แปด ปฏิบัติฌานสมาบัติยกจิตสู่วิปัสสนาเพื่อให้ตนพ้นจากวัฏฏะสงสารนี้แล้ว ก็พึงบอกกล่าว ประกาศแก่โยมด้วยเช่นกัน
 
               บัณฑิตหลายท่านแห่งรั้วมหาจุฬา ลาสิขาออกมาเป็นผู้แปลพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ให้เราๆ ท่านๆ ได้อ่านจนถึงทุกวันนี้ ลาสิกขาออกมารวบรวมศัพท์บาลีเป็นพจนานุกรมบาลีให้เราๆ ท่านๆ ได้ศึกษาจนทุกวันนี้ ลาสิกขาออกมาเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักกฎหมายที่มีศีล มีธรรมจนทุกวันนี้ จริงอยู่ว่าเราไม่อาจกะเกณฑ์ให้ใครลาสิกขาแล้วออกมาเป็นคนดีทั้งหมดได้ แต่ดิฉันคิดว่า ยังดีกว่าให้มีคนดิบมากมายในสังคมไทย ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ถ้าพระพุทธศาสนาไม่เอื้อเฟื้อนำเด็กวัยรุ่น เริ่มแตกหนุ่มอายุ ๑๒ ปี เข้ามาบวช ประเทศไทยจะมีเด็กติดยาอีกเท่าไหร่ จะมีคนค้ายาอีกเท่าไหร่ จะมีนักโทษข่มขืนกระทำชำเราอีกเท่าไหร่ จะมีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมืองแต่ไร้คุณภาพในการดำรงชีพของปากท้องอีกเท่าไหร่
 
               ดิฉันจึงใคร่ขอให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้ ได้โปรดศึกษาข้อความจริงให้เข้าใจ อย่าให้ข้อความจริงคงอยู่เพียงข้อเท็จจริง และมองสรรพสิ่งด้วยหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การบรรลุธรรมอย่าไปฝากความหวังไว้ที่พระเณร เพราะการบรรลุธรรมเราทำได้เองด้วยตัวเราเอง จึงไม่ควรไปรู้สึกเสียความรู้สึกใดๆ หากพระเณรลาสิกขาออกมาแล้วครองเรือน ไม่สามารถกระทำพระนิพพานให้แจ้งได้ พระนิพพานอยากได้ต้องทำเอง การไปเรียกร้องให้ผู้อื่นทำพระนิพพาน ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ แก่พระพุทธศาสนาเลย
 
               ณัฐนันท์ สุดประเสริฐ
 
               ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘" 
 
               ขณะที่ น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "ปฏิรูป มจร. go inter" แสดงความเห็นในประเด็นนี้ด้วยสามารถติดตามได้ที่  https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/884346298325775:0 
 
               ดังนั้นในโลกข้อมูลข่าวสารต้องใช้โยนิโสมนสิการและกาลามสูตรมาประกอบพิจารณาว่าเป็นเท็จหรือเป็นจริงไม่เช่นนั้นจะอาจจะกลายเป็นศรัทธาวิปลาสก็เป็นได้