พระเครื่อง

เหรียญกษาปณ์ในรัชกาลที่๘

เหรียญกษาปณ์ในรัชกาลที่๘

08 มิ.ย. 2558

เหรียญกษาปณ์ในรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดนเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมศรีสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (พระยศในขณะนั้น) โดยได้รับพระราชทานพระนามจากในหลวงรัชกาลที่ ๖ ว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล” หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล”
    
               หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ และมิได้ทรงสมมุติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้นคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้กราบทูลเชิญเสด็จ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ลำดับที่ ๑ ตามพระราชสันตติวงศ์ แห่งกฎมณเทียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป โดยเฉลิมพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล”
    
               นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ “คุณเจมส์” เจ้าของกิจการ ร้าน Siam Coin & Antiques "ร้านกษาปณ์เมืองสยาม" หรือ "ร้าน Siamcoin" และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย อธิบายให้ฟังว่า เหรียญที่ระลึก เหรียญแรกของรัชกาลที่ ๘ คือ “เหรียญเสด็จนิวัตพระนคร” สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตกลับสู่ “ประเทศสยาม” พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และสมเด็จพระอนุชา เพื่อเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร ในคราวปิดภาคเรียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑
    
               เหรียญมีชนิดเดียวทำจาก “โลหะเงิน” ทรงกลม มีขนาด ๓๐ มิลลิเมตร ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ ๘ ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ริมขอบเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธย “สยามินทร์” และ “อานันทมหิดล” ด้านหลัง : มีข้อความว่า “นิวัตน์ พระมหานคร ๒๔๘๑” นับเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกและเป็นเหรียญที่ระลึกรุ่นเดียวที่มีพระบรมรูปของพระองค์ท่านปรากฏบนหน้าเหรียญ
    
               ในปัจจุบันเป็นเหรียญที่ระลึกที่พบน้อยและหาชมได้ยากมาก คาดว่าผลิตออกมาในจำนวนน้อย เพราะเป็นยุค “ข้าวยากหมากแพง” ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปีถัดมา ปี พ.ศ.๒๔๘๒
    
               สำหรับเหรียญกษาปณ์ในยุครัชกาลที่ ๘ เริ่มผลิตสตางค์รู ในปี ๒๔๗๘ จนในปี ๒๔๘๒ “ประเทศสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “ประเทศไทย” ทำให้ด้านหน้าของเหรียญกษาปณ์ได้เปลี่ยน จาก “สยามรัฐ” เป็น “รัฐบาลไทย” จนในปี ๒๔๘๙ จึงได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ที่ใช้เป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๘ ขณะ “ทรงพระเยาว์”
    
               ผลิตจากเนื้อดีบุกผสมทองแดงเป็นเหรียญที่ชำรุดง่ายไม่มีความคงทน เหรียญกษาปณ์ชุดนี้ มีผลิตออกมาเป็นตัวอย่าง ๖ ชนิดราคา คือ ๑ บาท, ๕๐ สตางค์, ๒๕ สตางค์, ๒๐ สตางค์, ๑๐ สตางค์ และ ๕ สตางค์ แต่ผลิตออกมาใช้งานแค่ ๔ ชนิดราคา โดยตัดเหรียญหนึ่งบาท และเหรียญ ๒๐ สตางค์ออกไป ทำให้เหรียญกษาปณ์ รัชกาลที่ ๘ ชนิดราคา ๑ บาท และ ๒๐ สตางค์ มีเพียงเฉพาะแค่เหรียญตัวอย่างเท่านั้น
    
               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพียง ๔ วัน ทรงครองสิริราชสมบัติ ๑๒ ปี ๙๙ วัน ในภายหลังได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร" เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙       
    
               ปัจจุบันวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต เราถือว่าเป็น “วันอานันทมหิดล” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษาของประเทศไทย  
 

เหรียญชุดประวัติศาสตร์
 
    
               ข้อสังเกตอีกอย่างที่มีคนทราบกันน้อยมากคือ เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตเป็นตัวอย่างนั้นจะเป็น “พ.ศ.๒๔๘๘” ส่วนเหรียญปกติจะเป็น พ.ศ.๒๔๘๙ ซึ่งไม่ว่าเหรียญแบบไหนถ้าเป็นปี ๒๔๘๘ นั้น คือเหรียญตัวอย่าง “ที่มีราคาสูงและมีมูลค่ามหาศาล” นอกจากนี้แล้วเหรียญชุดตัวอย่างที่ท่านได้เห็นนี้ เป็นรูปเหรียญตัวอย่างครบทั้งชุด ทุกชนิดราคา และเชื่อว่ารูปเหรียญตัวอย่างเป็นเพียงชุดเดียวที่ค้นพบ ภาพนี้ไม่เคยมีการตีพิมพ์ให้ใครเห็นภาพกันเลยไม่ว่าจะในหนังสือเอกสารคู่มือ  หรือตำราการสะสมเหรียญต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  
    
               นอกจากนี้ในปีเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกเหรียญกษาปณ์รุ่นที่ ๒ ออกมาใช้งานเป็นแบบพระพักตร์หนุ่ม ซึ่งถ้ามองแล้วรุ่นนี้ พระเศียรจะมีขนาดเล็กกว่าเหรียญรุ่นแรก ที่เป็นพระพักตร์ตอนทรงพระเยาว์ จึงเป็นที่มาของชื่อที่นักสะสมเรียกเหรียญรุ่นแรกว่า “รุ่นหัวโต”
    
               ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก เป็นเล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์ลงภาพเหรียญชุดนี้ให้สาธารณชนได้เห็นกัน ต้องขอขอบคุณภาพเหรียญชุดประวัติศาสตร์นี้จากคุณรณชัย กฤษฎาโอฬาร ในอดีตที่ผ่านมา นักสะสมจะเคยแค่เห็นภาพเหรียญตัวอย่างชนิดราคา ๑ บาท ที่ผลิตในปี ๒๔๘๘ เพียงเหรียญเดียวเท่านั้น ชนิดราคาแบบอื่นๆ อีก ๕ เหรียญ ไม่เคยมีใครเคยเห็น ไม่ว่าจะในตำรา หรือคู่มือใดๆ เหรียญชุดนี้จึงมีคุณค่ามหาศาลในด้านของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
 
การศาสนา-การศึกษา
 
               ในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้
    
               พระองค์ยังตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนา โดยมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ทรงพระผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ รวมทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร
    
               ในการเสด็จนิวัตพระนครในครั้งที่ ๒ พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์
    
               นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ และอีกครั้งที่หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๒ จึงถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    
               หลังจากนั้นในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรค