
4กลุ่มผลประโยชน์วัดบ้านไร่ที่หลวงพ่อคูณมิอาจยุติได้
4กลุ่มผลประโยชน์วัดบ้านไร่ เรื่องที่หลวงพ่อคูณมิอาจยุติได้ : ไตรเทพ ไกรงูรายงาน
ตั้งแต่พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) เจ้าของฉายานาม "เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด" ชื่อเสียงซึ่งมาพร้อมๆ กับผลประโยชน์อันมหาศาล สิ่งที่ตามมา คือ ความไม่ลงตัวเรื่องผลประโยชน์ ตามมาด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ภายในวัดบ้านไร่เอง
ถึงขนาดที่ต้องทำพินัยกรรมไว้ล่วงหน้าถึง "2 ฉบับ" โดยฉบับแรกทำไว้เมื่อ วันที่ 15 กันยายน 2536 ส่วนฉบับที่สองซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ทำไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2543 เพื่อป้องกันเหตุความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์จากงานศพ
ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณได้ให้เหตุผลของการทำพินัยกรรมโดยพูดผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า
“กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น เมื่อตายไปแล้วก็อยากให้ทุกคนได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรม โดยกูเองก็ได้ให้ลูกศิษย์ทั้งสี่คนเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง หลังที่กูตายไปแล้ว ส่วนเหตุผลที่กูให้เผาศพกู ก็เพราะกูไม่อยากให้เป็นภาระ ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากตัวกู กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระลงไปได้ เพราะเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมาลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกันเอง”
เมื่อครั้งที่หลวงพ่อคูณยังมีชีวิตอยู่ ทุกครั้งที่เกิดเรื่องขัดแย้ง หลวงพ่อคูณจะเรียกคนเหล่านั้นมาตกลงพูดคุย ถึงแม้จะเรียกมาสักกี่ครั้ง ความวุ่นวายภายในวัดบ้านไร่ดูเหมือนไม่เคยสงบลง มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่หลวงพ่อคูณหายจากอาพาธเข้ารับการผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ และเดินทางกลับมาพักยังวัดบ้านไร่
สำหรับความขัดแย้งของกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคูณภายในวัดบ้านไร่ แม้ว่าบรรดาเหล่าลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดออกมายืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งกัน รวมทั้ง พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ สุรคุปต์ อดีต ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ประธานกรรมการวัดบ้านไร่ นายตำรวจมือปราบได้ออกมาการันตีต่อสื่อมวลชนว่า จะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกแล้วก็ตาม
แต่หลายคนเชื่อกันว่า ตราบใดคณะกรรมการวัดยังมีผลประโยชน์อยู่ในวัดความขัดแย้งจะไม่มีวันจบสิ้น เพราะลึกๆ แล้วแต่ละฝ่ายยังมองหน้ากันไม่ติด เพียงแต่รอวันปะทุขึ้นมาอีก โดยความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่การล้างแค้นกันตามมาก็เป็นได้ จึงเป็นที่น่าจับตามองยิ่งนักว่า "หลังเสร็จสิ้นการสวดอภิธรรมศพหลวงพ่อคูณ ที่วัดบ้านไร่จะวุ่นวายเกิดศึกการชิงผลประโยชน์หรือไม่"
หนึ่งในกรรมการวัดบ้านไร่ ให้ข้อมูลต่อ "คม ชัด ลึก" แม้ภาพโดยรวมของกรรมการวัดบ้านไร่จะออกมาว่ามีความรักใคร่สามัคคีกันดีแต่ความจริงแล้วกลับแบ่งเป็นกลุ่มก้อน เพื่อดูแลผลประโยชน์ต่างๆ ภายในวัดอย่างชัดเจนดังนี้
กลุ่มที่ 1.พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ สุรคุปต์ อดีต ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ประธานกรรมการวัดบ้านไร่ ถือว่าเสียงดังมากที่สุด แม้ว่าท่านจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ ของวัดบ้านไร่โดยตรง แต่มีส่วนสำคัญยิ่งในการออกใบอนุญาตสร้างพระหลวงพ่อคูณตั้งแต่ พ.ศ.2555 โดยตั้งเงื่อนไขว่า ใบอนุญาตละ 2 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปสร้างหลวงพ่อคูณองค์ใหญ่วัดบุไผ่ หรือ วัดบ้านไร่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่มีโครงการสร้างหลวงพ่อคูณองค์ใหญ่ที่สุดในโลก
ว่ากันว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2558 มีการออกใบอนุญาตไปกว่า 100 รุ่น แม้กระทั่งหลวงพ่อคูณมรณภาพแล้วมีวัดและหน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลไปแล้วอีกหลายสิบรุ่น ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่มีการเก็บเงินค่าใบอนุญาตมาแล้ว
กลุ่มที่ 2."เกรียงไกร จารุวี" รองประธานกรรมการวัดบ้านไร่ อดีตทนายความประจำตัวของ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคไทยรักไทย และอดีตรองประธานมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่มีส่วนผลักดันให้จัดสร้าง "พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ"
ตั้งแต่ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ เสียชีวิต เกรียงไกร ขึ้นมามีบทบาทอย่างเด่นชัด โดยรับหน้าที่ดูแลและเก็บผลประโยชน์ในส่วนของ “วิหารเทพวิทยาคม” ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เงินทำบุญที่วิหารเทพวิทยาคมไม่ได้ถูกส่งเป็นรายได้เข้าวัดบ้านไร่ แต่กลับถูกนำไปหักหนี้ก่อสร้างที่วัดค้างไว้เกือบ 100 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3."ธวัช เรืองหร่าย" ไวยาวัจกร และเหรัญญิกวัดบ้านไร่ ซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับ นายสมบูรณ์ โสตถิอนันต์ หรือ ไก่โต้ง เลขานุการหลวงพ่อคูณ ดูแลและเก็บผลประโยชน์ในส่วนของกุฏิหลวงพ่อคูณ ตั้งอยู่ใต้อุโบสถ โดยมีตู้จำหน่ายวัตถุมงคลเกือบ 10 ตู้ ที่ขึ้นชื่อว่าขายดีมากกว่าจุดอื่นๆ
กลุ่มที่ 4."ทวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์" หรือ กำนันป่อง ดูแลและเก็บผลประโยชน์ในส่วนของร้านค้าชุมชน ที่สำคัญคือ กุมพลังมวลชนชาวบ้านไร่ไว้มากที่สุด โดยล่าสุดได้เสนอชื่อ พระภาวนาประชานาถ (หลวงพ่อนุช รัตนวิชัยโย) หรือ “เจ้าคุณนุช” เจ้าอาวาสวัดหนองบัวทุ่ง อ.คง จ.นครราชสีมา ให้มารักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต่อจากหลวงพ่อคูณ ด้วยการสนับสนุนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านวัดบ้านไร่
หากกรรมการกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกรณี ธวัช ไวยาวัจกร และเหรัญญิกวัดบ้านไร่ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้ง “เจ้าคุณนุช” มารักษาการเจ้าอาวาส แต่กำนันป่องซึ่งมีพลังมวลชนในพื้นที่พร้อมที่จะเคลื่อนไหวกดดันกรรมการกลุ่มอื่นๆ มากที่สุด
ทั้งนี้ การแก้ปัญหากลุ่มผลประโยชน์ของวัดบ้านไร่ ดูเหมือนว่าการลงไปแก้ปัญหาโดยนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมานั้น น่าจะยุติปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแบ่งกลุ่มผลประโยชน์ได้ แต่สิ่งที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย คือ นายธงชัย เป็นเพื่อนกับ พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ ก็เป็นเพื่อนกับนายเกรียงไกร
ทั้งนี้ ตามกฎหมายและระเบียบคณะสงฆ์ การบริหารจัดการภายในวัดบ้านไร่ พระครูพีรเดช ธำรง เจ้าคณะตำบลกุดพิมาน ระบุว่า ต้องให้พระภาวนาประชานาถ เจ้าอาวาสวัดหนองบัวทุ่ง อ.คง ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่แทนหลวงพ่อคูณเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมระบุว่า การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสเป็นไปตามระเบียบของสงฆ์โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ และชาวบ้านใน อ.ด่านขุนทด แต่หากมีการคัดค้านอย่างเป็นทางการก็ต้องหารือกับคณะสงฆ์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่จะมีวาระ 1 ปี โดยมีอำนาจหน้าที่เหมือนกับเจ้าอาวาสทุกประการ รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการวัดบ้านไร่ชุดใหม่ หลังกรรมการวัดบ้านไร่ชุดเดิม ซึ่งมี พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ ประธานกรรมการวัดบ้านไร่และกรรมการอีก 10 คน หมดวาระหลังหลวงพ่อคูณมรณภาพ ซึ่งการพิจารณาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการวัดถือว่ามีความสำคัญเพราะต้องเป็นผู้เข้ามาดูแลกิจการของวัดบ้านไร่ รวมถึงเงินบริจาคทั้งหมด
ล่าสุด คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา มีมติให้คณะกรรมการวัดบ้านไร่ชุดเดิมเตรียมข้อมูลชี้แจงรายละเอียดของเงินบริจาคทั้งหมดในวัดบ้านไร่ หลังการสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศลแด่หลวงพ่อคูณแล้วเสร็จ พร้อมเตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อตรวจสอบเงินบริจาคทั้งหมดก่อนจะมีการบริหารจัดการต่อไป
พ.ศ. 2548 ปีแห่งความขัดแย้ง
การแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นกลุ่มเพื่อเก็บผลประโยชน์ในวัดบ้านไร่ ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในกรรมการชุดนี้ ก่อน พ.ศ.2548 ที่วัดบ่านไร่ มีการแบ่งกลุ่มผลประโยชน์ดังนี้
กลุ่มของ "ผู้ใหญ่ป่อง" (ปัจจุบันเป็นกำนันป่อง) หรือ นายมานะ แสนประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านบ้านไร่
กลุ่มของนายธวัช เรืองหร่าย (วัดร้าง) ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่
กลุ่มของ "เสี่ยนาย" หรือนายนพ ภูมิชัยศักดิ์
กลุ่มของผู้ใหญ่แดง และนายธร จันทร์เพ็ง พี่ชายของผู้ใหญ่แดง
ทั้ง 4 กลุ่มล้วนเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคูณ และมีปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์กันภายในวัดบ้านไร่ จนเกิดความขัดแย้งกันถึงขั้นมองหน้ากันไม่ติด บางครั้งถึงขนาดเข่นฆ่ากันครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความวุ่นวายใจให้แก่หลวงพ่อคูณเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องดังกล่าวถึงขนาดทำให้หลวงพ่อคูณต้องออกจากวัดไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัวรอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา และหลวงพ่อคูณมี
กำหนดการออกมาอย่างเป็นทางการที่จะเดินทางกลับวัดบ้านไร่ ในวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2548
อย่างไรก็ตาม เพื่อยุติความขัดแย้งในครั้งนั้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 หลวงพ่อคูณได้ลงนามเซ็นหนังสือคำสั่งวัดบ้านไร่ด้วยตัวเอง เรื่องการแต่งตั้งคณะ
กรรมการวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน ใหม่ทั้งหมด จำนวน 19 คน โดยมี พล.ต.ต.มหัคฆพันธ์ สุรคุปต์ รองผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการ รอง ผบช.
ตำรวจสอบสวนกลาง อดีต ผบก.นครราชสีมา เป็นประธานกรรมการวัดบ้านไร่ และ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี อตีด ส.ส.นครราชสีมา พรรคไทยรักไทย รองประธาน และนายธวัช เรืองหร่าย "วัดร้าง" เป็นไวยาวัจกร และเหรัญญิกวัด นายสมบูรณ์ หรือ ไก่โต้ง เป็นเลขานุการหลวงพ่อคูณ รวมทั้งลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ติดตามและนักธุรกิจอีกหลายคน
นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งโดยตรงให้ยกเลิกคณะกรรมการวัดบ้านไร่ที่แต่งตั้งกันขึ้นมาเองจำนวน 108 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อ "เสี่ยนาย" นายนพ ภูมิชัยศักดิ์ ลูกศิษย์ใกล้ชิด อดีตนายกเทศมนตรีบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ รวมทั้งนายบุญเลียบ จันทร์เพ็ง "ผู้ใหญ่แดง" หลานชายหลวงพ่อคูณเอง ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตไปแล้ว