พระเครื่อง

‘จุ๋ม-นรีกระจ่าง’ผ่านมรสุมชีวิตด้วยสติปัฏฐาน

‘จุ๋ม-นรีกระจ่าง’ผ่านมรสุมชีวิตด้วยสติปัฏฐาน

19 พ.ค. 2558

‘จุ๋ม-นรีกระจ่าง’ผ่านมรสุมชีวิตด้วยสติปัฏฐาน จบป.โทแล้วเตรียมโชว์งานวิจัยเด่นงานวิสาขะ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

            ห่างหายไปจากกระแสข่าววงการบันเทิงไปนานสำหรับ "จุ๋ม"นรีกระจ่าง คันธมาส ชื่อเดิม "สุทธนรี กระจ่างคันธมาตร์" นักร้องนำแห่งวง "โคโค่ แจ๊ซ"  มีผลงานเพลงแนวแจ๊ซช่วงปี พ.ศ. 2532-พ.ศ. 2536 ที่โด่งดังอาทิ ทะเลใจ, รักคุณเท่าฟ้า, รักต้องสู้, ดอกไม้ในซอกกำแพง,เดียวดายกลางสายลม

            ชีวิตของเธอหาใช่แสนหวานเหมือนกับเสียงเพลงก็เฉกเช่นชีวิตของบุคคลทั่วๆไปที่เป็นไปตามหลักแห่งโลกธรรม 8 ประการมีปัญหาชีวิตปัญหาครอบครัว แต่ชีวิตต้องสู้เหมือนกับเสียงเพลง บวกกับฐานความคิดของเธออยาก"ช่วยคนอื่นและครอบครัว" บริหารจิตด้วยหลักของ "สมาธิ" หลังจากผ่านมรสุมชีวิตเธอได้พบกับกัลยาณมิตรอย่าง"แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต"  แห่งเสถียรธรรมสถาน โดยได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทหลักสูตรชีวิตและความตายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) หากใครไปปฏิบัติธรรมที่เสถียรธรรมสถานได้พบเธอจะทำให้รู้สึกว่าเธอเข็มแข็งเพราะได้หล่อหลอมจิตบริหารลมหายใจเป็นอย่างดี

            บัดนี้เธอได้สำเร็จการศึกษารัระดับปริญญาโทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง"การประยุกต์การร้องเพลงตามมาตรฐานสากลตามแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน" จากผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า นักร้องควรศึกษาและฝึกทักษะเบื้องต้นของการร้องเพลงตามมาตรฐานสากลให้ถูกต้องเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรักเทคนิคชั้นสูงต่อไป คุณค่าและประโยชน์ของการร้องเพลงตามมาตรฐานสากลจะทำให้มีการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ซึ่งได้ผลเดียวกับการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากนี้การพัฒนาการร้องเพลงให้ได้มาตรฐานสากลจะต้องอาศัยองค์ประกอบทางร่างกาย จิตใจและสิ่งแวดล้อม

            "ส่วนแนวทางการประยุกต์การร้องเพลงตามแนวทางการเจริญสติปัฏฐานคือ การระลึกรู้กายขณะร้องเพลงได้แก่ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก การทำความรู้สึกตัวอยู่ที่ช่องปากเป็นต้น การระลึกรู้เวทนาขณะร้องเพลงได้แก่การตามอารมณ์ตนเองว่าสุขทุกหรือเฉยๆให้สักว่ารู้อารมณ์นั้น การระลึกรู้จิตขณะร้องเพลงได้แก่การรู้อาการของจิตว่าสุข ไม่สุข พอใจไม่พอใจ และการระลึกรู้ธรรมขณะร้องเพลงได้แก่การพิจารณานิวรณธรรมทั้ง 5 ไม่คิดร้าย ไม่หวั่นไหว ฟุ้งซ้าน ขณะร้องเพลง และการใช้อายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจในการร้องเพลงให้มีประสิทธิภาพที่สุด"

            นี้คือถ้อยแถลงของเธอในงานแถลงข่าว "งานวิจัยมจร.แก้ปัญหาสังคมไทย"   ที่ มจร.วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่่ผ่านมา โดยมีพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร คณะบดีบัณฑิตวิทยาลัย เป็นประธาน เพื่อนำเสนอผลงานดังกล่าวในการประชุมวิชาการนานาชาติ มจร.ครั้งที่ 1 วันที่ 29 พ.ค. ที่ มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและ มจร. เป็นแม่งานระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.นี้ โดยเธอกล่าวอย่างมั่นใจว่าหากนำหลักสติปัฏฐานมาประยุกต์ใช้ในการร้องเพลงแล้วจะทำให้ไม่หลงระเริงในแสงสีเสียงและโลกธรรมทั้งหลาย

            ภายในงานแถลงข่าวยังได้นำเสนอผลงานวิจัยดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าวนั้นประกอบด้วย เรื่อง " กระบวนการพัฒนาศรัทธาและปัญญาของพระนวกะด้วยหลักสูตรการอบรมพระนวกะของคณะสงฆ์ไทย" ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น โดยพระมหาภูมิชาย อคฺคปญโญ "การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา วิสุทธิมรรคมหาฎีกา" พระเมธีวรญาณ ที่สรุปหลักธรรมในวิสุทธิมารคลงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่สามารถนำมาแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ "การประยุกต์ใช้สมาธิกับการเล่นเปียโน" นายจักรกฤษ วิบูลเจริญ ที่เป็นครูสอนเปียโน โดยจากจุดเริ่มต้นที่มีปัญหาการควบคุมมือทั้งซ้ายและขวาที่ไม่สมดุลแต่เมื่อนำหลักสมาธิเข้ามาจับสามารถควบคุมได้ และเป็นพื้นฐานในการสอนนักเรียนที่ไม่ใช่เรียนเพื่อเก่งเด่นดังเอาชนะคนอื่น แต่ให้เข้าใจว่าดนตรีสามารถเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจได้

            และเรื่อง "เครื่องมือสื่อสารเพื่อจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขของไทย:ศึกษากรณีเจ้าหน้าที่กับผู้รับการบริการชาวต่างชาติโรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม" โดยนางสาวสุนันทา เอ๊าเจริญ  มหาบัณฑิตสาขาสันติศึกษา พยาบาลของโรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ใช้พื้นฐานทางด้านจิตใจที่ได้หล่อหลอมจากหลักสูตรที่มุ่งสร้างสันติภาดภายในตามหลักมรรคมีองค์ 8 แล้วนำไปสร้างสันติภาพภายนอกในอาชีพพยาบาลแก้ปัญหาการสื่อสารกับผู้ให้บริการที่เป็นชาวต่างชาติโดยสร้างโมเดลการสื่อสารขึ้นมาที่สามารถพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นรองรับเปิดสมาคมอาเซียน เบื้องต้นได้สร้างความพอใจให้กับผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานโดยได้สั่งการให้นำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในส่วนงานต่างๆของโรงพยาบาล