พระเครื่อง

พระมหามงคลยติโกปธ.๙เจ้าคณะอำเภอนักพัฒนาแห่งวัดหนองโพรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระมหามงคล ยติโกปธ.๙เจ้าคณะอำเภอนักพัฒนาแห่งวัดหนองโพรง : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             วัดวิเวกวราราม หรือวัดหนองโพรง ต.เนินทราย อ.เมือง จ.ตราด เป็นวัดที่เรียกตามชื่อหมู่บ้านหนองโพรง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะภาค ได้มาเยี่ยมวัดต่างๆ ได้มาถึงที่วัดหนองโพรง พักร้อนอยู่ที่นี่เห็นมีความร่มเย็น สงบร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจึงได้ยื่นเรื่องราวขอเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดวิเวกวราราม" และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ปัจจุบันมีพระมหามงคล ยติโก (ปธ.๙) อายุ ๕๓ พรรษาที่ ๓๑ เจ้าคณะอำเภอบ่อไร่ เป็นเจ้าอาวาส

             "อาตมาบวชที่วัดนี้จากนั้นก็ย้ายไปเรียนวัดนางนองวรวิหาร กมท. จนจบ ปธ.๙ ส่วนทางโลกจบปริญญาโท สาขาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฎธรบุรี เป็นอาจารย์สอนบาลีอยู่ที่วัดนางนอง วัดบางประทุนนอก เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ พระครูศุภกิจพิบูล หรือหลวงพ่อชัย อดีตเจ้าอาวาสมรณะภาพ พระผู้ใหญ่ได้ชักชวนให้มาเป็นเจ้าอาวาส โดยได้ตัดสินกลับมาทดแทนบุญคุณอดีตเจ้าอาวาส สานต่อเจตณารมณ์เรื่องงานการศึกษา รวมทั้งนึกถึงญาติโยมที่ใส่บาตส่งเสียให้ได้เรียน" นี่เป็นเหตุผลของการมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสของพระมหามงคล

             อย่างไรก็ตามตั้งแต่พระมหามงคล มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่องและโครงการหนึ่งที่ท่านรับเป็นประธาน คือ โครงการลานบุญ ลานปัญญา ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พ.ศ.๒๕๕๕ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม คือ ๑.ส่งเสริมให้ผู้สนใจเชิญชวนลูกหลานมาวัดทำบุญ ฟังธรรม สวดมนต์เจริญภาวนา ๒.ให้ประชาชนคนในชุมชนหมู่บ้านได้ระลึกถึงวันสำคัญทางศาสนา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ได้ทำกิจกรรมเวียนเทียน
 
             ๓.ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ระลึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรมมากขึ้น และ ๔.ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังนึกถึงประเพณีเก่าๆ เช่น สรงน้ำพระ ขนทรายเเข้าวัด วันลอยกระทง และวันสงกรานต์

             ส่วนงานที่ขึ้นชื่อว่างานใหญ่ คือ การบูรณะอุโบสถและบริเวณโดยรอบที่สร้างมาเกือบ ๔๐ ปี ทั้งนี้ได้บูรณะตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๖,๙๐๐,๐๐๐ บาทและได้การจัดงานสมโภชอุโบสถขึ้น โดยกำหนดการจัดงานเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ 

             "ในฐานะที่จบ ปธ.๙ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ พยายามส่งเสริมการศึกษาบาลี และปริยัติแผนกธรรม หาคนมาเรียนรวมทั้งหาครูมาสอน ให้เห็นความสำคัญของการเรียนบาลีตามโครง ๑ อำเภอ ๑ เปรียญ ซึ่งเป็นโครงการของเจ้าคณะภาค อย่างน้อยปีละ ๑ รูป ไม่ว่าจะเรียนจากวัดไหนก็ตาม ขณะเดียวกันส่งเสริมนักเรียนในโรงรียนให้เข้าวัดทุกๆ วันพระ" พระมหามงคลกล่าว
 
             พร้อมกันนี้ พระมหามงคลยังบอกด้วยว่า เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนอก ต้องทำงานมากกว่าพระในเมืองหลายเท่า คนกรุงให้ความสำคัญของพระ ปธ.๙ ด้วยเห็นว่าเป็นพระที่ทรงด้วยวิชาการความรู้ แต่ในต่างจังหวัดคนไม่เข้าใจ ปธ.๙ ต้องแสดงความรู้ทางธรรมให้เห็นไม่พอ ขณะเดียวกันต้องทำงานด้านการพัฒนาให้เห็นด้วย


ปธ.๙ ต้องแก้ปัญหาด้วยธรรม 

             "วัดเล็ก วัดน้อย วัดใหญ่ รวมทั้งวัดหลวง มีปัญหาที่แตกต่างกัน ยิ่งเมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพความขัดแย้งมักจะเกิด เป็นปัญหาหนึ่งของเจ้าอาวาสรูปถัดมาที่จะต้องเข้าไปยุติปัญหาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยวันเวลลาและความพยายามในการทำความเข้าใจ เจ้าอาสต้องเข้มแข็งและอดทนให้มากที่สุด ต้องอยู่แก้ปัญหาด้วยความรู้และความเข้าใจ ถ้าไม่มีความรู้ ความกตัญญูต่อวัดนั้นมาก่อนจะแก้ปัญหาไม่ได้ ในที่สุดก็ถอดใจย้ายไปอยู่ที่อื่น" นี่คือคำแนะนำของพระมหามงคล

             ในการแก้ปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นกับวัด พระมหามงคลแนะนำว่า มีคนเสนอแนะให้ใช้วิธีการทางกฎหมายในการแก้ปัญหาของวัด แต่ท่านมีความคิดว่า การฟ้องแม้ว่าจะชนะทางกฎหมายของทางโลก แต่ไม่ชัยชนะทางธรรม ทางมวลชน เพราะคนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ต้องพยายามทำความเข้าใจ หากไม่ถึงที่สุดก็ไม่ควรใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกของมวลชน เมื่อคนเข้าใจเรื่องของธรรมะ ซึ่งหมายถึงความถูกต้องก็ไม่ต้องใช้กฎหมาย

             "ปธ.๙ กับปริญญาโท มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนอกเหมือนขี่ช้างจับตักแตน ในจังหวัดตราดมีรูปเดียว การแสดงธรรมเหมือนกับข่มเขา พูดสูงไปคนก็ไเข้าใจ ไม่พูดเลยก็หาว่าหยิ่ง" พระมหามงคลกล่าวทิ้งท้าย


พระนาคปรก รุ่น “สร้างครัว” 

             วัดถือเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของท่านสาธุชนทั้งหลายที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อกาลเวลาผ่านล่วงเลยมานาน สถานที่ต่างๆ ที่ผ่านการใช้งานมา ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หรือโรงครัวโรงทานและอื่นๆ เป็นต้น ย่อมมีการชำรุดทรุมโทรมลงรอการบูรณะขึ้นใหม่

             มูลเหตุในการจัดสร้างวัตถุมงคลพระนาคปรก รุ่น “สร้างครัว” ขึ้นมานั้น เนื่องด้วยศาลาโรงครัววัดวิเวกวราราม สร้างมาเป็นเวลาช้านาน พื้นสร้างจากไม้กระดานจึงเกิดการผุพังลง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลที่ทำงานในครัวได้ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างโรงครัวใหม่และต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

             ก่อนหน้านี้ เมื่อ พ.ศ.๕๕๕ พระมหามงคลได้ซ่อมโบสถ์และบริเวณโดยรอบครั้งใหญ่ใช้งบประมาณ ไปเกือบ ๙ ล้าน บูรณะเมรุไปเกือบ ๒ ล้านบาท รวมทั้งห้องน้ำและกุฏิอีกประมาณ ๒ ล้านบาท

             อย่างไรก็ตามวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๘.๓๙ น. พระมหามงคล ได้จัดประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระนาคปรก รุ่น “สร้างครัว” ประกอบด้วย เนื้อทองคำแท้ สร้างจำนวน ๑๖ องค์ เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๒,๑๙๙ องค์ เนื้อนวโลหะ สร้างจำนวน ๔,๙๙๙ องค์ เนื้อทองชมพู สร้างจำนวน ๙,๙๙๙ องค์ เนื้อทองชมพู ไม่ตัดปีก สร้างจำนวน ๓,๐๐๐ องค์ มอบสมนาคุณแก่คณะกรรมการและผู้ช่วยงานในครั้งนี้

             ในพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระครูพิพัฒน์อโนมคุณ (หลวงพ่อนัส) วัดอ่าวใหญ่ จ.ตราด, พระครูสุพจนวรคุณ (หลวงพ่อพจน์) วัดห้วงพัฒนา จ.ตราด, พระครูประดิษฐ์ศาสนการ (หลวงพ่อนงค์) วัดทุ่งตาอิน จ.จันทบุรี, ท่านก๋งเตื่อง วัดคลองจาก จ.ตราด มาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตวัตถุมงคล พระนาคปรก รุ่นสร้างครัว ณ อุโบสถวัดวิเวกวราราม ต.เนินทราย อ.เมือง จ.ตราด หลังเสร็จพิธีพุทธาภิเษก ต่อด้วยพิธีสวดนพเคราะห์เสริมดวงชะตาให้แก่ผู้มาร่วมเที่ยวงานประจำปีในครั้งนี้อีกด้วย

             ผู้มีจิตศรัทธาร่วสมบุญได้ที่พระมหามงคล ยติโก เจ้าอาวาสวัดวิเวกวราราม ๐๙-๘๕๙๕-๙๙๑๔  และ ๐๙-๒๙๙๑-๖๑๕๙ หรือติดตามชมรายละเอียดได้ที่ www.วิชาพระเกจิ.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ