พระเครื่อง

ไม่มีใครอยู่เหนือกรรมได้

ไม่มีใครอยู่เหนือกรรมได้

25 เม.ย. 2558

ไม่มีใครอยู่เหนือกรรมได้ : ธรรมะยู-เทิร์น โดยอิทธิโชโต

   
            ลูกศิษย์ถามเราว่า คนเราสามารถอยู่เหนือกรรมได้ไหม
    
            ก่อนอื่น เราต้องทราบว่า กรรมมีอยู่ ๒ อย่าง คือ กรรมดีและกรรมไม่ดี เหตุดีผลก็ดี เหตุไม่ดีผลก็ไม่ดี ซึ่งให้ผลเร็วกับผลช้า และกรรมที่เป็นอโหสิกรรม แต่ต้องเข้าใจเสียก่อน  ขึ้นชื่อว่า 'กรรม' อย่างไรก็ต้องให้ผล
    
            คำว่า 'เหนือกรรม' นั้นหมายความว่า จิตที่เหนือวิมุตติ กรรมนั้นจะไม่เข้าไปถึงจิต เมื่อจิตของคนนั้นหลุดพ้นไปแล้ว เหมือนพระอรหันต์ เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ 'กรรม' จะให้ผลในสมมุติเท่านั้น    
    
            หมายความว่า เมื่อร่างกายกับจิตยังอยู่ในสมมติ กรรมก็ยังให้ผลถึงจิตด้วย เพราะจิตยังอยู่ในสมมติ ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ถ้าคุณจะเป็นพระอรหันต์ หรือ คุณสำเร็จธรรมขั้นสูงแล้ว กรรมนั้นก็ให้ผลเฉพาะกับร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจ 'กรรม' ไปไม่ถึง
    
            เพราะจิตที่เป็นวิมุตติ กรรมให้ผลไม่ได้
    
            ดังนั้นถ้ากรรมจะให้ผลกับพระอรหันต์ก็ให้แค่สมมติ  อย่างพระพุทธเจ้าก็รับกรรมเหมือนกัน พระโมคคัลลานะก็รับเหมือนกัน พระอรหันต์ทุกองค์ก็รับกรรมที่เป็นสมมุติเหมือนกัน แต่ไม่ว่าคนจะเข้าใจแบบไหน สัจธรรมก็เป็นจริงอย่างนั้นวันยังค่ำ
    
            สิ่งที่จะไปเหนือวิมุตติมีอยู่อย่างเดียว คือ 'จิต' ส่วนร่างกาย มันเป็นสมมติ มันไปเหนือวิมุตติไม่ได้ กายมันข้ามไปฝั่งนั้นไม่ได้ ฉะนั้นกรรมที่เราก่อไว้เราต้องได้รับผลอยู่ดี คือรับกรรมในสมมติ
    
            พระขีณาสพ พระผู้สิ้นอาสวะ หรือพระอรหันต์ ก็มีทั้งสมมติและวิมุตติ คำว่าสมมติ เกี่ยวข้องกับธาตุสี่ เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งหลาย ต้องรับกันไป ใช้กันไปตาม ตามวิบากของแต่ละท่าน แต่ละองค์
    
            ยกตัวอย่าง ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานหลายๆ ท่าน ที่ได้ทำวิบากกรรมร่วมกันไว้ก็มี อย่างในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ที่มีเครื่องบินตก ก็มีพระกรรมฐานหลายรูปมรณภาพในครั้งนั้น  อย่างไรก็ตาม นั่นคือ สมมติ ที่ท่านต้องยอมรับ แต่วิมุตติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จิตที่หลุดพ้นแล้ว มันไม่เกี่ยวว่าท่านจะมรณภาพแบบไหน ท่านจะละสังขารแบบไหน
    
            การที่เราภาวนาไปจนกว่าจิตจะอยู่เหนือกรรมนั้น  ก็กลับไปที่เริ่มต้นอีกนั่นแหละ คือ การให้มีสติอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เช่นการบริกรรมพุทโธ จนจิตสงบ เราก็นำข้อธรรมใดข้อธรรมหนึ่งขึ้นมาคิด พิจารณาบ่อยๆ เช่นว่า เราเห็นพ่อแม่ป่วยมาหลายปี เราก็ดูแลท่านไป ขณะเดียวกันก็พิจารณาไปด้วยว่า วันหนึ่งพ่อแม่ก็ต้องเสียชีวิต เมื่อถึงวันนั้น เราก็ยอมรับได้ เข้าใจได้ อาจจะเสียใจบ้าง แต่ถ้าอยู่ๆ มาเสียปุ๊บปั๊บจากอุบัติเหตุ ก็ทำใจไม่ได้
    
            พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ให้แผ่เมตตาบ่อยๆ พิจารณาอสุภะ(ซากศพ) บ่อยๆ ระลึกถึงความตายบ่อยๆ นั่นคือ เรียกว่า เจริญสมณธรรม
    
            การเจริญสมณธรรมบ่อยๆ หรือการภาวนาบ่อยๆ จนวันหนึ่งเมื่อเห็นผลจากการเจริญสมณธรรม เราก็จะ 'โอปนยิโก' คือ น้อมเข้ามาใส่ตัว แล้วเราจะรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเห็นเอง