
อมตะพระเครื่องอาจารย์ฝั้น อาจาโร
07 เม.ย. 2558
อมตะพระเครื่องอาจารย์ฝั้น อาจาโร หนังสือฉบับมาตรฐานแห่งวงการพระของ ป้อม สกลนคร : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"หนังสืออมตะพระเครื่อง อาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้จัดทำ คือ คุณป้อม สกลนคร ได้รวบรวมประวัติ กิตติคุณ คำสอน รวมทั้งวัตถุมงคลไว้อย่างครบท้วนกระบวนความ วัตถุมงคลของท่านบางรุ่นนับว่าหายากยิ่ง เพราะสร้างไว้จำนวนน้อยมาก ใครที่เป็นเจ้าของต่างก็หวงแหน การจะได้ชมองค์จริงนั้นยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่ง หนังสือเล่มนี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเห็นหนังสือคู่มือไว้ดูเปรียบเทียบ และใช้เป็นตำราให้นักสะสมพระเครื่องได้อย่างแท้จริง"
นี่เป็นคำนิยมของนายพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่เขียนถึงหนังสือ "อมตะพระเครื่อง พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร" ฉบับมาตรฐาน ที่จัดพิมพ์โดยนายเกรียงไกร จิระสวัสดิ์ตระกูล หรือ "ป้อม สกลนคร" มือวางอันดับ ๑ "อาจารย์ฝั้น-หลวงปู่ทิม" ผู้จัดพิมพ์ ซึ่งถือว่า "มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุดแห่งวงการพระเครื่อง"
ในขณะที่นายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ "บอย ท่าพระจันทร์" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหรียญของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย กล่าวถึงหนังสือ "อมตะพระเครื่อง พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร" ว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะรวบรวมการจัดสร้างวัตถุมงคลของพระเกจิรูปใดรูปหนึ่งให้ครบทุกรุ่น อย่างกรณีของอาจารย์ฝั้นที่มีมากถึง ๑๒๐ รุ่น มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเพียรพยายามด้วย หนังสือเล่มนี้จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่มีคุณค่า ควรค่าแก่การศึกษา เหมาะสำหรับคนรุ่นหลังที่จะได้ศึกษาพระพิมพ์ต่างๆ ของอาจารย์ฝั้นได้อย่างถูกต้อง
"ป้อม สกลนคร" บอกว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผู้สะสมพระเครื่องพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จำนวนมาก จึงจัดทำหนังสือโดยรวบรวมเหรียญ รูปหล่อ และพระบูชา ที่พลิกประวัติศาสตร์ใหม่ของพระภาคอีสาน ถ่ายรูปให้เห็นทุกมิติ พร้อมคำอธิบาย รวมทั้งประวัติอาจารย์ฝั้นอย่างละเอียด เพื่อผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าได้ศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของเหรียญ รูปหล่อ และพระบูชา อย่างชัดเจน
นอกจากนี้แล้วด้วยเหตุที่เป็นคนสกลนครโดยกำเนิด จึงอยากเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ฝั้นให้ครบทุกด้านทั้งประวัติ พระธรรม พระเครื่อง เหรียญ รูปหล่อ และ พระบูชา เพราะอาจารย์ฝั้นเป็นพระบริสุทธิ์ที่ชาวสกลนครภูมิใจมากที่สุด
อาจารย์ฝั้น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในตระกูล "สุวรรณรงค์" เจ้าเมืองพรรณานิคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ครั้นอายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสิทธิบังคม อ.พรรณานิคม ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ ได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมกับปวารณาขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๘ ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดเวลาที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างไม่มีความด่างพร้อยใดๆ คำสอนของท่านเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสของทุกคนที่มีโอกาสได้กราบไหว้ โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติธรรมที่ก่อให้เกิดสติปัญญา ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ ณ วัดป่าอุดมสมพร สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๘
ปัจจุบันบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้น ได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ สูง ๒๗.๙ เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ในสายวัดป่ากรรมฐาน ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้า ขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านอย่างครบถ้วนและสวยงาม