พระเครื่อง

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊ม‘หลังหนังสือคางขีดหลังเสาอากาศ’

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊ม‘หลังหนังสือคางขีดหลังเสาอากาศ’

05 เม.ย. 2558

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊ม‘หลังหนังสือคางขีดหลังเสาอากาศ’ปี๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

   ‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊ม‘หลังหนังสือคางขีดหลังเสาอากาศ’

             ทราบกันดีแล้วว่า พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ สามารถแบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก คือ

                ๑.พิมพ์ใหญ่มีตัว “ท”

                ๒.พิมพ์ใหญ่ เสาอากาศ

                ๓.พิมพ์ใหญ่ วงเดือน (ด้านหลังแบบมีเสาอากาศ และไม่มีเสาอากาศ)

                และ ๔.พิมพ์ใหญ่ธรรมดาทั่วไป

                ๓ ตอนที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้นำเสนอเรื่อง พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ คือ พิมพ์ใหญ่ มีตัว “ท”,  พิมพ์ใหญ่ วงเดือน  และพิมพ์ใหญ่เสาอากาศ หรือที่เรียกกันเฉพาะว่า “พิมพ์หน้าสายฝน หลังเสาอากาศ” ตามลำดับ

                วันนี้จะได้เจาะจงนำเสนอ พิมพ์หน้าสายฝน หลังเสาอากาศ และพิมพ์ประกอบอื่นๆ นำมาโชว์พร้อมกันตั้งแต่ องค์ที่ ๑ ถึง ๔ ตามภาพ และข้อมูลประกอบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกเช่นเคย

                อ้างถึงในตอนที่แล้ว ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลว่า...ฟังดูทั่วไปเสมือนว่า “พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หน้าสายฝน หลังเสาอากาศ” นี้ จะมีตายตัวแค่นี้ แต่เมื่อเจาะลึกพิจารณาเข้าไปแล้ว พบว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยใน โครงสร้าง และตำหนิในองค์พระ ได้อีกหลายประเด็น

                อาทิ เมื่อพิจารณาที่องค์พระ บางองค์เป็นลักษณะทั่วๆ ไป ไม่มีตำหนิสำคัญให้เห็น บางองค์มีจุดเหนือไหล่ซ้ายองค์พระ (องค์โชว์ที่ ๔) และ บางองค์มีเส้นขีดแนวเฉียงสั้นๆ ใต้ริมฝีปากล่างของหลวงพ่อทวด ตรงจุดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์คางขีดหลังเสาอากาศ”

                ซึ่งวันนี้ ท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพประกอบข้อมูลในพิมพ์นี้อย่างชัดเจน ดังภาพโชว์ที่ ๑-๓

                ดังที่กล่าวข้างต้น พระพิมพ์นี้จะมีเส้นขีดแนวเฉียงสั้นๆ ใต้ริมฝีปากล่างของหลวงพ่อทวด ซึ่งมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นตั้งแต่การตกแต่งทำแม่พิมพ์ปั๊ม

                อีกจุดหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้ คือ ที่บริเวณซอกแขนด้านขวา จะมี แพของเส้นคมเล็กๆ ในแนวเฉียง และมีเส้นหนาเด่นออกมาหนึ่งเส้น

                โดยภาพรวมอื่นๆ พระพิมพ์นี้คล้ายคลึงกับพระตระกูลปั๊มหลังหนังสือหลังเสาอากาศอื่นๆ  กล่าวคือ ตรงบริเวณเหนือและใต้มือที่ประสาน รวมถึงตามซอกต่างๆ และกินพื้นที่มาถึงบริเวณบัว ๒ แถว จะมี แพของเส้นเล็กๆ แนวดิ่ง คล้ายๆ สายฝน ดูพลิ้วไหวแบบธรรมชาติที่สังเกตเห็นได้ชัด

                ขณะที่ด้านหลังองค์พระจะมี เส้นพาดเฉียง ผ่านชั้นแถวของตัวอักษร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ที่เรียกกันว่า เสาอากาศ นั่นเอง

                อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า พระหลวงพ่อทวด พิมพ์ไหนก็ตาม ธรรมชาติความเป็นพระปั๊มต้องปรากฏ เช่น ความตึงของพื้นผิว เส้นเสี้ยนที่กระจายพลิ้วไหวอย่างธรรมชาติ ตามพื้นที่ว่าง หรือตามซอกต่างๆ ร่องรอยปั๊มครูด และปั๊มตัดขอบ ธรรมชาติของการรมดำ และผิวปรอท ต้องได้

                (กรณีพระสภาพใช้ หรือเก็บไม่ดี หรือพระดำด้าน หรือผิวหิ้ง ก็ต้องมีหลักในการพิจารณาอีกต่างหาก)

                ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช กล่าวเพิ่มเติมว่า พระตระกูลปั๊ม หลังหนังสือ ทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ใช้หลักการพิจารณา พระเก๊แท้ เดียวกัน และพิจารณาได้ค่อนข้างง่าย เมื่อเทียบกับพระตระกูลวัดช้างให้อื่นๆ เพราะมีจุดให้พิจารณารอบองค์พระ แต่ต้องดูพระองค์จริง หรือดูภาพ พระแท้ บ่อยๆ พร้อมกับมี “พี่เลี้ยง” หรือ “ที่ปรึกษา” ที่รู้จริง คอยชี้แนะ ก็สามารถเกิดความชำนาญขึ้นได้ไม่ยากนัก

                พระโชว์ทั้งหมดนี้ เป็นพระเก่าเก็บสภาพสมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โชว์ให้เห็นกันจะจะทุกด้าน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาถึงพิมพ์ทรง ธรรมชาติพระปั๊ม รอยปั๊มตัด และสภาพผิวพระรมดำเดิมๆ ว่า มีลักษณะอย่างไร
        
                ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ ทั้ง ๔ องค์ตามภาพที่เห็นนี้ พร้อมทั้งข้อมูลประกอบ