พระเครื่อง

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือหน้าสายฝนปี๒๕๐๕

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือหน้าสายฝนปี๒๕๐๕

29 มี.ค. 2558

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือหน้าสายฝน หลังเสาอากาศ ปี ๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือหน้าสายฝนปี๒๕๐๕    

           จากการนำเสนอเรื่อง พระหลวงพ่อทวด ในสัปดาห์ก่อน ได้เกริ่นไว้ว่า พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ สามารถแบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก คือ ๑.พิมพ์ใหญ่มีตัว “ท” ๒.พิมพ์ใหญ่ เสาอากาศ ๓.พิมพ์ใหญ่ วงเดือน (ด้านหลังแบบมีเสาอากาศ และไม่มีเสาอากาศ) และ ๔.พิมพ์ใหญ่ธรรมดาทั่วไป

               วันนี้ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้กรุณามอบภาพพระองค์เด็ดองค์แชมป์...พิมพ์ใหญ่ปั๊มเสาอากาศ ซึ่งในที่นี้ขอเรียกชื่อเฉพาะเป็น พิมพ์หน้าสายฝนหลังเสาอากาศ ซึ่งโชว์พร้อมกัน องค์ที่ ๑ ถึง ๕ ตามภาพ และข้อมูลประกอบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกเช่นเคย

               พระหลวงพ่อทวด พิมพ์นี้ถือว่าเป็นพิมพ์นิยม และค่านิยมรองลงมาจาก พิมพ์ใหญ่มีตัว “ท”

               ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระพิมพ์นี้ว่า พระพิมพ์นี้จะมีเอกลักษณะเฉพาะตัว คือ ตรงบริเวณเหนือและใต้มือที่ประสาน รวมถึงตามซอกต่างๆ และกินพื้นที่มาถึงบริเวณบัว ๒ แถว จะมี แพของเส้นแนวดิ่ง คล้ายๆ สายฝน ที่สังเกตเห็นได้ชัด ดูพลิ้วไหวแบบธรรมชาติ ไม่ใช่เบลออย่างพระถอดพิมพ์ หรือ คมชัดเกิน แต่ดูเส้นหนา อย่าง พระเก๊ แต่งแม่พิมพ์

               อีกทั้งที่ด้านหลังองค์พระ จะมี เส้นพาดเฉียงผ่าน ชั้นแถวของตัวอักษร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

               ๒ จุดสำคัญที่กล่าวมานี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ หน้าสายฝน หลังเสาอากาศ”

               อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฟังดูทั่วไปเสมือนว่า พระพิมพ์นี้จะมีตายตัวแค่นี้ แต่เมื่อเจาะลึกพิจารณาเข้าไปแล้ว พบว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยในโครงสร้าง และตำหนิในองค์พระ ได้อีกหลายประเด็น

               อาทิ เมื่อพิจารณาที่โครงหน้าองค์พระ บางองค์เป็นลักษณะทั่วๆ ไป ไม่มีตำหนิสำคัญให้เห็น แต่บางองค์มีเส้นขีดแนวเฉียงสั้นๆ ใต้ริมฝีปากล่างของหลวงพ่อทวดตรงจุดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์คางขีดหลังเสาอากาศ” ซึ่งจะนำเสนอแยกอย่างละเอียดในโอกาสต่อไป

               หรือบางองค์มีจุดเหนือไหล่ซ้ายองค์พระ (องค์ที่ ๑, ๒, ๔ และ ๕) เป็นต้น

               ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาด้านหลังที่มีจุดเด่นเป็นลักษณะ เสาอากาศ ที่ว่านี้ ยังไปเกี่ยวกับพิมพ์อื่นๆ ที่เคยนำเสนอในคอลัมน์นี้มาก่อนหน้านี้

               เช่น พิมพ์หน้าวงเดือน - หลังเสาอากาศ และพิมพ์ใหญ่ มีตัว “ท” หลังเสาอากาศ เพราะว่าด้านหลังเป็นแม่พิมพ์เดียวกัน นั่นเอง

               อย่างไรก็ตาม พระตระกูลหลังหนังสือ ทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ก็เหมือนพระเหรียญปั๊ม ที่มีพิมพ์ย่อยๆ ปรากฏให้เห็น และเกิดความแตกต่างขึ้นในรายละเอียด

               ความต่างกันที่ว่านี้ ในภาพรวมอาจเนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ ใช้แม่พิมพ์ปั๊มคนละตัวกัน หรือแม่พิมพ์ปั๊มตัวเดียว แต่เมื่อปั๊มด้วยแรงที่ต่างกัน หรือปั๊มไปนานๆ แม่พิมพ์เริ่มเปลี่ยนสภาพ อาจก่อให้เกิดสัณฐานมิติในองค์พระ หรือตำหนิ หรือเส้นแตกที่ต่างกันออกไป

               นอกจากนี้ การปั๊มสลับไขว้แม่พิมพ์กัน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็ก่อให้เกิดการเรียกพิมพ์ย่อยใหม่ได้เช่นกัน

               พระโชว์ทั้งหมดนี้ เกือบทั้งหมดผ่านการเป็นแชมป์งานประกวดใหญ่ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ รับรองมาแล้วหลายครั้ง เป็นพระเก่าเก็บสภาพสมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โชว์ให้เห็นกันจะจะทุกด้าน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาถึงพิมพ์ทรง รอยปั๊มตัด และสภาพผิวพระเดิมๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร

               พระองค์ที่โชว์นี้ ปั๊มได้คมชัดมาก จมูกโด่ง คมสัน มีผิวรมดำแบบเดิมๆ ปกคลุมทั้งองค์พระ อันเป็นเสน่ห์ชวนมองอีกประการหนึ่งของพระโชว์ทั้งหมดนี้ คือ ยังมี ผิวปรอท ฉาบบนพื้นผิวและซอกองค์พระ ที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นพระเก่าเก็บสภาพเดิมๆ อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่างกับ ผิวรมดำใหม่ ที่ธรรมชาติของการรมดำและผิวปรอท จะดูแปลกตา เมื่อเทียบกับองค์ที่โชว์ทั้งหมดนี้

               ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ ทั้ง ๕ องค์ตามภาพที่เห็นนี้ พร้อมทั้งข้อมูลเชิงเทคนิคในบทความนี้ด้วย