พระเครื่อง

‘วัดพะโคะ’จ.สงขลาถิ่นกำเนิด‘หลวงปู่ทวด’เหยียบน้ำทะเลจืด

‘วัดพะโคะ’จ.สงขลาถิ่นกำเนิด‘หลวงปู่ทวด’เหยียบน้ำทะเลจืด

22 มี.ค. 2558

‘วัดพะโคะ’จ.สงขลาถิ่นกำเนิด‘หลวงปู่ทวด’เหยียบน้ำทะเลจืด : บุญนำพา

‘วัดพะโคะ’จ.สงขลาถิ่นกำเนิด‘หลวงปู่ทวด’เหยียบน้ำทะเลจืด

               วัดพะโคะ เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของหลวงปู่ทวด ณ สำนักสงฆ์ต้นเลียบ ซึ่งเป็นสถานที่ฝัง “รก” ของท่าน สำนักสงฆ์ดังกล่าวอยู่ใกล้กับวัดพะโคะ ตลอดจนสถานที่หลวงปู่ทวดเรียนหนังสือเป็นครั้งแรกกับญาติของท่าน ชื่อ สมภารจวง เจ้าอาวาสวัดดีหลวง ก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

               จึงกล่าวได้ว่า “วัดพะโคะ” เป็นบริเวณถิ่นฐานบ้านเกิดของหลวงปู่ทวด ตั้งแต่เยาว์วัย จนกระทั่งท่านกลับจากกรุงศรีอยุธยา และจำพรรษาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง

               วัดพะโคะ เป็นวัดที่หลวงปู่ทวดจำพรรษา และได้บูรณปฏิสังขรณ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งนับถือท่านเป็นเสมือนอาจารย์ เพราะการที่ท่านได้สร้างคุณูปการแก่บ้านเมือง เมื่อครั้งแก้ปริศนาธรรม ชนะพราหมณ์ จากลังกา ที่ท้าพนันกินบ้านกินเมือง ทำให้ไม่ต้องเสียบ้านเมืองให้แก่ต่างชาติ

               ดังนั้น ในคราวที่หลวงปู่ทวดขอเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา จึงทรงโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพะโคะขนานใหญ่ จนมีการเรียกขานหลวงปู่ทวด อีกชื่อหนึ่งว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ"
              
               วัดพะโคะ ถือเป็นวัดคู่บารมีหลวงปู่ทวดเช่นเดียวกับวัดช้างให้

               วัดพะโคะ เป็นที่ประดิษฐาน "ลูกแก้ววิเศษ" ของหลวงปู่ทวด ตามตำนานเล่าว่า ในคราวที่หลวงปู่ทวดยังเป็นทารกอยู่นั้น มี “งูจงอาง” หรือที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "งูบองหลา" หรือ "ตระบองหลา" ได้แสดงกฤษดาภินิหาร โดยการเข้าไปพันโอบล้อมรอบเปลที่นายหู และนางจัน พ่อแม่ของท่านได้นำไปผูกไว้ที่ใต้ต้นเม่า แล้วคาย “ลูกแก้ววิเศษ” ไว้ โดยที่ไม่ทำอันตรายท่านเลย

               ลูกแก้วดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาไว้ที่วัดพะโคะ ดังนั้น ภาพหลวงปู่ทวด หรือวัตถุมงคลของวัดพะโคะ จึงมักมี “ลูกแก้ว” ปรากฏอยู่ด้วยเสมอ

               นอกจากนี้ที่วัดพะโคะยังมีหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ทวด นั่งสมาธิพร้อมกับ “ลูกแก้ว” ดังกล่าว

               ภายในวัดแห่งนี้ มีรอยเท้าอยู่บนแผ่นหิน เชื่อกันว่า เป็น “รอยเท้า” ที่หลวงปู่ทวดตั้งใจประทับไว้ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แทนตัวท่าน

               วัตถุมงคลของวัดพะโคะ จึงมีรูป “รอยเท้า” หลวงปู่ทวด อยู่ด้วย เช่น พระเนื้อว่าน พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕

               วัดพะโคะ ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่หลวงปู่ทวดเคยใช้ขณะที่จำพรรษาที่วัดนี้ เช่น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ท่านเคยใช้เป็นที่สรงน้ำ และซักจีวร

               นอกจากนี้ บริเวณนั้นยังมี “ต้นยาง” ศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า แต่ก่อนลำต้นมีลักษณะตรงเป็นปกติ ต่อมาลำต้นกลับคดงอคล้ายไม้เท้า ๓ คด ซึ่งเป็น “ไม้เท้า” ที่หลวงปู่ทวดใช้ในการออกธุดงค์ นับเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

               วัดพะโคะยังเป็นที่ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาตามตำนานว่า มีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง เที่ยวค้นหาว่า “ดอกไม้” ที่ตนเองถืออยู่นั้นเป็นดอกอะไร ถามใครก็ไม่มีผู้รู้ แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า นี้เป็น “ดอกไม้สวรรค์” คนที่รู้จักดอกไม้นี้มีอยู่เพียงรูปเดียว คือ "พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย" เป็นผู้กำลังมาบำเพ็ญบารมี เพื่อที่จะเกิดเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

               ไปถามภิกษุรูปไหนก็ไม่มีผู้รู้จัก คราวนั้นเป็นเวลาที่ภิกษุขึ้นทำสังฆกรรมที่พระอุโบสถกันหมด สามเณรไปรอถามพระทุกรูปที่ลงมาจากพระอุโบสถ ก็ไม่มีใครรู้จัก แต่มีคนบอกว่า มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งไม่ได้ลงโบสถ์

               สามเณรจึงเข้าไปถาม พร้อมชูดอกไม้ในมือว่า "ท่านขอรับ ท่านรู้จักดอกไม้นี้หรือไม่" หลวงปู่ทวด ยิ้มด้วยความเอ็นดู แล้วบอกว่า "ดอกไม้นี้เป็นดอกไม้สวรรค์ ชื่อ ดอกมณฑาทิพย์”

               สามเณรขนลุกซู่ ด้วยความปีติ นึกในใจว่า เป็นบุญหนักหนาที่เกิดมาชาติหนึ่ง ได้เจอกับ "พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์แล้ว" พร้อมก้มกราบ หลวงปู่ทวด ด้วยความนอบน้อม

               ขณะนี้ ท่านพระครูปุญญาพิศาล เจ้าอาวาสวัดพะโคะ มีดำริสร้างอาคารปฏิบัติธรรม เพื่อให้ชาว อ.สทิงพระ และลูกศิษย์มีสถานที่ปฏิบัติธรรม จึงได้จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม โดยได้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของ หลวงปู่ทวดเข้าสิงสถิตในองค์พระ มีคุณอภินิหาร คุ้มครองป้องกันภัย เมตตามหานิยม ผู้ใดมีไว้บูชา จะปรารถนาให้หลวงปู่ทวดโปรดอย่างใด ก็จะสมปรารถนา ระลึกคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ แล้วว่า “นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”  ๓ จบ นำพระเครื่องหลวงปู่ทวดเข้าพนมมือเหนือหน้าอก เลือกปลุกเสก วันเสาร์, วันอังคาร, วันพฤหัสบดี

               ความหมายของ “เหรียญอายุยืนหลวงปู่ทวด” หลวงปู่ทวด เป็นพระมหาโพธิสัตว์ ผู้สร้างบารมีมานับอสงไขย บารมีเต็มรอบบริบูรณ์แล้ว ประทับอยู่บนเต่าทิพย์ แสดงถึงผู้มีธรรมะ เปรียบเป็นเต่าอายุยืน ปีกหมายถึง ธรรมะ จิตใจเป็นสุข หลุดพ้นจากสภาวะกิเลส มุ่งไปสู่ความว่าง อยู่เหนือคลื่นน้ำ หมายถึงกิเลส

               ด้านหลังเหรียญ มีภาษาบาลี อ่านว่า “นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา” กำกับ ตรงจุดศูนย์กลาง คือ ยันต์ฮู้มงคล พร้อมภาษาจีนสี่ตัว หมายถึง “มีศรัทธาขอสิ่งใดก็สมปรารถนา”

               บนยอดสุด คือ สัญลักษณ์ หลักหมุด ระลึกถึงการนำดินหลักหมุด หลวงปู่ทวด มาผสมเป็นมงคลแก่ผู้บูชา

               ปีก หมายถึง ธรรมะ “ธรรมะจะโอบอุ้มผู้มีธรรมะ มีศรัทธาขอสิ่งใดก็สมปรารถนา”

               สำหรับโค้ดรูป “ค้างคาวคาบเหรียญ” ค้างคาว ภาษาจีนอ่านว่า “ฝู” พ้องเสียงคำว่า “ฝู” ใช้แทนความสุขห้าประการ คือ ความสุขจากกายสบาย, ใจสบาย, เงินสบาย, บ้านสบาย, มีลูกหลานสบาย เป็นต้น

               ส่วน “เหรียญเงินตรา” ภาษาจีน อ่านว่า “เฉียน” พ้องเสียงคำว่า “เฉียน” แปลว่า ปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งหมายถึง มีความสุขทั้งห้ามาปรากฏอยู่ตรงหน้า และมีเงินทองปรากฏอยู่ตรงหน้า พร้อมทั้งมีสุข รั้งเงินให้มั่นคง จึงเป็นที่มาของชื่อมงคล รุ่น “รวยสุขสำเร็จ”

               เหรียญอายุยืนหลวงปู่ทวด มีชุดกรรมการใหญ่ ๓๒ เหรียญ และชุดของขวัญ ๘ เหรียญ นอกจากยังมี เหรียญเนื้อทองคำ, เงิน, ปลอกกระสุน, อัลปาก้า, ทองชนวน, ทองเทวฤทธิ์ และ รูปหล่อห่มคลุม หลวงปู่ทวด พิมพ์ใหญ่  และพิมพ์จิ๋ว, รูปหล่อเบ้าทุบหลวงปู่ทวด, รูปหล่อยอดธงหลวงปู่ทวด และ กระถางธูปเทพพระราหู ผู้ประทานโชคลาภ 
    
               สุดยอดของพระเครื่องรุ่นนี้ คือ เหรียญอายุยืนหลวงปู่ทวด และ รูปหล่อยอดธงหลวงปู่ทวด เนื้อปลอกกระสุน ๑๐๐%  ซึ่งครูบาอาจารย์ถือเคล็ด “แม่ไม่ฆ่าลูกฉันใด แม่ปืนก็ไม่ฆ่าลูกปืนฉันนั้น” จึงรวบรวมปลอกกระสุนทุกขนาดนำมาหลอมรวมกัน เพื่อให้ได้เนื้อโลหะปลอกกระสุน ๑๐๐%
    
               พิธีอธิษฐานจิตโดย ๑.พระครูพิศาลจริยาภิรม (พระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข) เจ้าอาวาสวัดประดู่ (พระอารามหลวง)  ๒.พระครูปุญญาพิศาล เจ้าอาวาสวัดพะโคะ อธิษฐานจิต ณ วิหารหลวงปู่ทวด เกิดเหตุอัศจรรย์ ปรากฏแสงสีขาวทรงกลม คล้าย “ลูกแก้ว” หลวงปู่ทวด ลอยเข้าสู่ปรำพิธี ขณะพระครูปุญญาพิศาล อธิษฐานจิตอัญเชิญวิญญาณหลวงปู่ทวดมาอธิษฐานจิตสถิตให้องค์พระเครื่องเกิดเมตตา มหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย แก่ผู้สักการบูชา

               พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญได้ที่วัดพะโคะ หรือสอบถามโทร.๐๘-๑๙๓๓-๙๖๔๐, ๐๘-๙๗๘๔-๕๘๒๙, ๐๘-๓๓๐๐-๒๕๔๙