พระเครื่อง

หุ่นพยนต์ข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์รูปจำลอง'คน สัตว์ เทวดา ยักษ์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หุ่นพยนต์ข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์รูปจำลองของ...'คน สัตว์ เทวดา ยักษ์' : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              คำว่า “พยนต์” แปลว่า สิ่งที่ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้น เช่น หุ่นพยนต์ เป็นรูปหุ่นจำลองของคน สัตว์ เทวดา ยักษ์ หรืออะไรต่อมิอะไร โดยอาศัยหลักการว่า อยากได้รูปร่างยังไงให้ทำหุ่นแบบนั้น หรือชนิดไหนตามแต่ความต้องการจะใช้หุ่นพยนต์ ประมาณว่าให้เหมาะสมกับงานที่จะใช้ไปทำ

              รูปแบบของหุ่นพยนต์มีหลายอย่างแตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ และอมนุษย์ก็ตาม ขึ้นอยู่กับพลังกระแสจิตของคณาจารย์ท่านนั้น กำหนดให้หุ่นพยนต์ออกมาในรูปแบบใด เพื่อประโยชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งในการใช้ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายเขาอ้อเคยกล่าวไว้ว่า หุ่น คือ รูปตุ๊กตา รูปแบบที่จำลองจากของจริงแบบต่างๆ รูปปั้นหรือรูปแกะสลักที่ทำไว้เป็นแบบพยนต์ คือสิ่งที่ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้น "หุ่นพยนต์" แปลรวมๆ ได้ความว่า ตุ๊กตารูปแบบต่างๆ ที่จำลองมาจากของจริงได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมให้มีชีวิตจิตวิญญาณขึ้น

              ในวงการไสยศาสตร์เป็นที่ยอมรับกันดีเรื่องมีภูตผีเป็นผู้รับใช้ติดตามจะสายไหนก็มักจะมีข้ารับใช้เสมอ ทั้งสายเทพ สายพราย สายภูติ สายผี สายเวท บางครั้งถูกเรียกไปต่างๆ นานา เช่น วิชามารยศาสตร์สร้างปู่โสม การฆ่าคนเพื่อเฝ้าสมบัติพัสถาน กุมารทองกุมารี รักยม อิ่นจันทร์ อิ่นแก้ว ในลัทธิองเมียวโดของญี่ปุ่นมี ชิกิงามิ ชิกิยิน เป็นการเสกกระดาษเป็นข้ารับใช้ ซึ่งเป็นพวกเดียวกับหุ่นพยนต์นี้ แต่ต่างกันออกไปที่หุ่นพยนต์จะสามารถสร้างจากวัตถุสิ่งขออะไรก็ได้

              วัสดุที่นำมาใช้สามารถทำได้เกือบทุกอย่าง ตั้งแต่หุ่นหญ้าสาน หุ่นก้านใบไม้สาน หุ่นเถาวัลย์สาน หุ่นหวายสาน ใบไม้ถัก หุ่นไม้แกะสลัก หุ่นไขเทียน หุ่นด้าย หุ่นผ้า หุ่นดิน หุ่นดินเผา หุ่นหิน หุ่นกระเบื้อง หุ่นอิฐ หุ่นปูน หุ่นเงิน หุ่นทอง หุ่นโลหะ ซึ่งการเลือกใช้นั้นอาศัยหลักง่ายๆ ว่า อาจารย์ไหนใช้อะไรจะต้องใช้ตามอาจารย์ ผีธาตุไหนจะให้เหมาะก็ธาตุนั้นๆ เหมาะสมกับงานดำน้ำลุยไป
              
              ปัจจุบันนี้ที่นิยมกันมากคือ การสร้างจากโลหะอาถรรพณ์ ที่ใครๆ ยอมรับว่าขลังเป็นทวีคูณจากวัตถุอาถรรพณ์เหล่านี้ โดยทำเป็น หุ่นคนมีแขนมีขา แล้วปลุกเสกด้วยคาถาอาคม เช่น ตะปูสังฆวานร, เหล็กตรึงโลงศพ ๗ ป่าช้า, เหล็กขนันผี, เงินปากผี ๑๐๐ วัด, ตะปูโลงศพ ๙ วัด รวมทั้งโลหะอาถรรพณ์อีกมากมาย

              “วิชาผูกหุ่น” ได้ใช้พระคาถา เรียกพรายหุ่นพยนต์ บรรจุเข้าไปในตัวหุ่นพยนต์ทุกตัว ตามหลักของกสิณ คือ ปลุกเสกให้เกิดอุคคหนิมิต โดยหนุนธาตุทั้งสี่ เรียกสูตร เรียกนาม เรียกจิต ให้มีฤทธิ์มีเดชใส่ขันธ์ห้า เรียกอาการ ๓๒ โดยอนุโลมปฏิโลม และเสกบรรจุลมปราณหายใจให้แก่ หุ่นพยนต์ตรึงรูปตรึงนาม เสกจนหุ่นพยนต์เคลื่อนไหวได้เรียกดวงจิตของ หุ่นพยนต์ให้มีฤทธิ์มีตัวตน

              ทั้งนี้ มีคติความเชื่อในหมู่นักเล่าเครื่องรางเชื่อว่า หุ่นพยนต์จะมีอานุภาพพุทธคุณครอบจักรวาลเมื่อมีผู้คนคิดปองร้ายหรือมีเจตนาที่ไม่ดีถ้าเป็นสถานที่ต่างๆ หุ่นพยนต์จะแสดงฤทธิ์ดูแลรักษาเฝ้าทรัพย์สินในพื้นที่นั้นๆ แสดงฤทธิ์คอยปกป้องเมื่อมีผู้คิดร้ายหรือถ้าหากเป็นสถานที่ต่างๆ ขับไล่สิ่งอัปมงคลอำนาจชั่วร้ายและภูติผี ปีศาจ กันคุณไสย ลมเพลมพัด กันและแก้ของไม่ดี บูชาไว้ติดตัวได้หญิงและชาย บูชาไว้ในรถ สำนักงานร้านค้า เฝ้าเรือกสวนไร่นา กันขโมย ปกป้องกันภัยให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง

              สำหรับหุ่นพยนต์ที่นำมาเป็นภาพ "พระองค์ครู" ฉบับนี้ เป็นหุ่นพยต์ที่จัดสร้างโดย หลวงพ่อเมียน กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดจะเนียงวนาราม ต.สูงเนิน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ