พระเครื่อง

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือวงเดือนปี๒๕๐๕

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือวงเดือนปี๒๕๐๕

15 มี.ค. 2558

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือวงเดือนปี๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง

‘พระหลวงพ่อทวด’พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังหนังสือวงเดือนปี๒๕๐๕

              จากการที่ได้นำเสนอเรื่อง พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ ไปแล้วว่า สามารถแบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ มีตัว “ท” ๒.พิมพ์ใหญ่ เสาอากาศ ๓.พิมพ์ใหญ่ วงเดือน (ด้านหลังแบบมีเสาอากาศ และไม่มีเสาอากาศ) และ ๔.พิมพ์ใหญ่ธรรมดา นั้น...วันนี้ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้กรุณามอบภาพพระสวยองค์แชมป์เพื่อโชว์...พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ วงเดือน ปี ๒๕๐๕ พร้อมกัน ๕ องค์ พร้อมทั้งข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน...พระพิมพ์นี้ถือว่าเป็นอีกพิมพ์หนึ่ง ที่หาชมพระแท้องค์จริง และสภาพสวยได้ยาก โดยเฉพาะพระสภาพผิวเดิมๆ อย่างองค์ที่โชว์ทั้งหมดนี้

              ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อสังเกตกับพระพิมพ์นี้ว่า พระพิมพ์วงเดือน นี้จะมีเอกลักษณะเฉพาะตัว คือ ด้านหน้า ตรงบริเวณบัว ๒ แถว จะมีแพของทิวเนื้อ ลักษณะเส้นโค้งคมๆ ขนานกันหลายๆ เส้น (อันเกิดมาจากการแกะแม่พิมพ์เป็นริ้วๆ ตรงบริเวณนี้) มีลักษณะเหมือนกับ “วงเดือน” อันเป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์วงเดือน”

              อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเรียกชื่อ “พิมพ์วงเดือน” เหมือนกัน แต่ก็ยังมีพิมพ์ย่อยๆ ให้เรียกกันอีก เช่น องค์โชว์ที่ ๑ และ ๒ มีชื่อเรียกว่า พิมพ์หน้าวงเดือน-หลังเสาอากาศ (ด้านหลังเป็นบล็อกเดียวกับพิมพ์หน้าสายฝน-หลังเสาอากาศ) แต่ลักษณะสัณฐานเส้นโค้งของวงเดือนมีความต่างกันอย่างชัดเจน

              ในขณะที่องค์โชว์ที่ ๓ ถึง ๕ ด้านหลังจะ ไม่มีเสาอากาศ และลักษณะสัณฐานเส้นโค้งของวงเดือนก็ต่างกับองค์โชว์ที่ ๑ และ ๒

              นอกจากนี้ ยังมีพิมพ์ย่อยอื่นๆ เพิ่มเติม ที่มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีลักษณะเฉพาะเหมือนกับ ๔ องค์ที่โชว์นี้

              ความต่างกันที่ว่านี้ในภาพรวมอาจเนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิ ใช้แม่พิมพ์ปั๊มคนละตัวกัน หรือแม่พิมพ์ปั๊มตัวเดียว แต่เมื่อปั๊มด้วยแรงที่ต่างกัน หรือปั๊มไปนานๆ แม่พิมพ์เริ่มเปลี่ยนสภาพ อาจก่อให้เกิดสัณฐานใบหน้ามีมิติ หรือเส้นแตกที่ต่างกัน

              นอกจากนี้การปั๊มสลับไขว้แม่พิมพ์กัน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็ก่อให้เกิดการเรียกพิมพ์ย่อยใหม่ ได้เช่นกัน

              จุดสังเกตหลัก ที่ใช้ในการแยกพิมพ์กัน โดยสังเกตที่สัณฐานของเส้นโค้งวงเดือน เส้นแตก โครงหน้า และตัวอักษร เป็นต้น

              ในที่นี้ เนื่องจากพื้นที่จำกัด จึงขอนำเสนอได้เพียงบางส่วนอย่างที่เห็น

              พระโชว์ทั้งหมดนี้ เกือบทั้งหมดผ่านการเป็นแชมป์งานประกวดพระรายการใหญ่ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ รับรองมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง เป็นพระสภาพเก่าเก็บ สภาพสมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในองค์ที่รมดำ ยังมีผิวปรอทคลุมทั่วทั้งองค์พระ โดยที่ผิวพระแทบไม่มีเปิดเลย พร้อมกับมิติความคมชัดทุกซอกมุม ถือว่าเป็นการสมนาคุณแด่ท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้ ที่ได้ชมภาพ พระแท้องค์ครู พระสวยองค์จริง พร้อมกันหลายๆ องค์ และมีครบทุกด้านอย่างจุใจ

              ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ ทั้ง ๕ องค์ในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งข้อมูลเชิงเทคนิคในบทความนี้ด้วย