พระเครื่อง

หลวงพี่เลี้ยงวัดจอมเกษเผยแผ่ธรรมผ่านเส้นสายลายยันต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงพี่เลี้ยงวัดจอมเกษเผยแผ่ธรรมผ่านเส้นสายลายยันต์ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

หลวงพี่เลี้ยงวัดจอมเกษเผยแผ่ธรรมผ่านเส้นสายลายยันต์

             'วัดจอมเกษ' อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๙ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธากันมาก ชาวบ้านเรียกขานว่า "หลวงพ่อโต" วัดจอมเกษ
 
             'วัดจอมปลวก' เป็นชื่อเดิมของวัดจอมเกษ เนื่องจากมีจอมปลวกมากมายบริเวณรอบวัดจากคำบอกเล่าสรุปได้ว่า ได้มีเจ้าจอมเสด็จมาทางชลมารคบำเพ็ญกุศลที่วัดนี้ ทรงให้เปลี่ยนนามเป็นวัดจอมเกษ เพื่อให้ความหมายดีขึ้น วัดจอมเกษสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๓๑๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราว พ.ศ. ๒๓๑๕

             แม้ว่าวัดจอมเกษเป็นวัดเล็กๆ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วๆ ไป แต่ในหมู่ของผู้นิยมเส้นสายลายยันต์แล้วถือว่าเป็นสำนักสักยันต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอำเภอบางปะหัน คือ พระครูใบฎีกาจีระพงษ์ ธีรวโร หรือ หลวงพี่เลี้ยง พระลูกวัดจอมเกษที่เป็นที่รู้จักของคณะศิษยานุศิษย์มากมายในฐานนะ "หลวงพี่เลี้ยงแห่งสำนักสักยันต์วัดจอมเกษ"

             สำหรับเส้นสานลายยันต์ที่ขึ้นชื่อที่ลูกศิษย์นิยมสักในอันดับต้นๆ คือ จิ้งจก รวมทั้งวัตถุมงคลในรูปแบบจิ้งจกก็ได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์โดยไม่ต้องใช้คำยืนยัน คือ ในวันไหว้ครูซึ่งจัดทุกๆ วันเสาร์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยในปี ๒๕๕๘ นี้จัดวัน เสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม จะมีศิษย์ทั่วสารทิศมาร่วมงานกว่า ๕,๐๐๐ คน

             หลวงพี่เลี้ยง ศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายๆ รูป ท่านเรียนวิชาสักยันต์มาจากพระอาจารย์ยศ วัดลอดช่อง วิชาเมตตามหานิยม จากพระอาจารย์ต่าง วัดจอมเกษ และเรียนวิชาทำตะกรุด อาบน้ำมนต์จากพระอาจารย์พาส วัดโพธิ์แก้ว เรียนทำตะกรุดชาตรีกับหลวงตาลาน วัดบ้านม้า เรียนทำตะกรุดดอกไม้ทองกับหลวงพ่อพูล วัดบ้านแพน เรียนตัวพุทธกับหลวงพ่อหวล วัดพุทไธศวรรย์ เรียนไล่คุณไสยกับปู่ปั้นซึ่งเป็นฆราวาส เรียนทำเบี้ยแก้กับหลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ จ.นครปฐม (หลวงพ่อสืบปืนเสีย)

             "พระพุทธเจ้าเปรียบคนเหมือนบัว ๔ อย่าง การทำให้คนเข้าวัด เข้าถึงธรรมมีหลายทาง อาตมาถนัดและชอบเรื่องอักขระเลขยันต์จึงใช้สิ่งที่ถนัดและชอบดึงคนเข้าวัด การที่จะดึงวัยรุ่นโดยเฉพาะที่เป็นผู้ชายเข้าวัดนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าคุยเรื่องยันต์ คุยเรื่องเครื่องรางของขลังนั้นคุยกันยาว เมื่อได้คุยก็มีโอกาสได้คุยเรื่องธรรม" นี่คือวิธีการเผยแผ่ธรรมในแบบหลวงพี่เลี้ยง

             พร้อมกันนี้หลวงพี่เลี้ยง ยังบอกด้วยว่า การสักยันต์อย่างมองว่าเป็นเรื่องของนักเลง แต่ควรจะมองเป็นเรื่องของความนิยมชมชอบส่วนบุคคลมากกว่า รูปแบบของยันต์ส่วนใหญ่จะเน้นเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัยมากกว่า ส่วนที่เป็นคงกระพันนั้นเป็นส่วนน้อย และสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คือ ความสัมพันธ์ในหมู่ลูกศิษย์ในแบบพี่กับน้อง ใครมีอายุมากกว่าเป็นพี่ ส่วนใครที่น้อยกว่าก็เป็นน้อง แม้จะมีเรื่องขัดใจผิดใจกันเมื่อลูกว่าเป็นศิษย์สำนักเดียวกันเรื่องราวทุกอย่างก็จบ ซึ่งไม่ต่างจากสำนักอื่นๆ ที่สอนเรื่องความสามัคคีในหมู่ลูกศิษย์

             เมื่อถามถึงข้อห้ามที่ว่า "ห้ามดื่มสุราในวันพระ" นั้น หลวงพี่เลี้ยง บอกว่า คนสักยันต์ไม่ว่าจะสำนักไหนๆ ก็ตาม การถือศีล ๕ ได้ครบทุกข้อและถือได้ทุกวันเป็นเรื่องดีที่สุดยันต์มีความเข้มขลังแน่นอน แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามีน้อยคนที่จะทำได้ จึงกำหนดว่าห้ามดื่มสุราในวันพระซึ่งหมายถึงอาทิตย์หนึ่งเว้น ๑ วัน ปีหนึ่งๆ มีวันพระกว่า ๔๐ วัน ก็เท่ากับว่าคนเลิกกินเหล้าได้ ๔๐ วัน และถ้าไปรวมกับการงดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษาอีก ๓ เดือน ก็เท่ากับว่า คนสักยันต์ของสำนักวัดจอมเกษเลิกกินเหล่าได้กว่า ๔ เดือน

วัตถุมงคลชิ้นแรกที่หลวงพี่เลี้ยง

             วัตถุมงคลชิ้นแรกที่หลวงพี่เลี้ยงทำคือ ตะกรุดคู่ชีวิต และตะกรุดกันกระทำ จากตำราเก่าของหลวงปู่หลา อดีตเจ้าอาวาสวัดจอมเกษ จากนั้นหลวงพี่เลี้ยงก็จัดทำวัตถุมงคลขึ้นมาอีกหลายชิ้น ดังนี้ พ.ศ.๒๕๔๗ ประกอบด้วย ๑.ตะกรุดคู่ชีวิต ๒.ตะกรุดกันกระทำ ๓. แหวนปลอกมีด รุ่น ๑ มีเนื้อเงินและเนื้อนวโลหะ ที่รวมแผ่นยันต์จากเกจิดังทั่ว จ.พระนครศรีอยุธยา

             พ.ศ.๒๕๔๘ ๑ จิ้งจกเนื้อโลหะ ๒.แหวนจิ้งจก มีเนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง ๓.ล็อกเกต รุ่น ๑ มี ๕๐ อัน ใหญ่ ๓๐ เล็ก ๒๐ และ ๔.ผึ้ง

             พ.ศ.๒๕๔๙ ออกตะกรุดชาตรี

             พ.ศ.๒๕๕๐ ออกยันต์หนุมาน แหวนปลอกมีด รุ่น ๒ ตะกรุดกรีดหลัง

             พ.ศ.๒๕๕๑ ออกวัตถุมงคล  ตะกรุดมหาชัย ตะกรุดมหารูด ตะกรุดสี่เกลอ รูปหล่อปู่ฤาษีหน้าเสือ

             พ.ศ.๒๕๕๒ ตระกรุดชาตรีใหญ่ ตระกรุดชาตรีเล็ก พระขันธ์เนื้อทองเหลือง

             ส่วงนวัตถุที่หลวงพี่เลี้ยงไหว้ครูครั้งแรกที่วัดจอมเกษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ ในงานไหว้ครูครั้งนั้นได้ทำจิ้งจกดำ แจกให้ลูกศิษย์ที่มาเข้าพิธี หลังจากนั้นหลวงพี่เลี้ยงก็ได้จัดงานไหว้ครูมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยแต่ละปีจะจัดทำวัตถุมงคลแตกต่างกันไป เรียงลำดับได้ดังนี้

             ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๙ ที่วัดจอมเกษ วัตถุมงคลที่แจก ตะกรุดดอกไม้ทอง

             ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่วัดจอมเกษ วัตถุมงคลที่แจก จตุคาม รุ่นไหว้ครู ๕๐ ด้านหลังเป็นพ่อแก่

             ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่วัดจอมเกษ วัตถุมงคลที่แจก เศียรพ่อแก่ เนื้อโลหะ ด้านหลังฝังตะกรุด อุดด้วยผงยาจินดามณี

             ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่วัดหน่อสุวรรณ วัตถุมงคลที่แจก เหรียญข้าวหลามตัดพ่อปู่ฤาษีนารอด

             ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่วัดจอมเกษ วัตถุมงคลที่ทำแจก มีทั้งหมด ๕ ชิ้น

             ปัจจัยที่ได้จากค่าครูสักยันต์ รวมทั้งที่ได้จากการให้เช่าบูชาวัตถุมงคล หลวงพี่เลี้ยงได้นำมาบูรณะวัดจอมเกษทั้งหมด โดยล่าสุดหลวงพี่เลี้ยงได้จัดสร้างขุนแผนพรายแม่พิกุล เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนบูรณะกุฏิทรงไทยโบราณอายุเกือบร้อยปี ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะ เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อชนวน รวมทั้งเนื้อผง ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ โทร.๐๘-๓๒๔๙-๙๓๐๘- และ ๐๘-๙๘๒๔-๑๒๓๕

อุปเท่ห์แห่งสำนักวัดจอมเกษ

             หลวงพี่เลี้ยงอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ ที่วัดสำเภาล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูพิจิตรเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปทีป ธรรมาสโย อดีตเจ้าอาวาสวัดสำเภาล่ม (ลาสึกขา) และพระอธิการวิเชษ มหาลาโภ เจ้าอาวาสวัดบางกะจะ เป็นคู่สวด เริ่มสนใจการสักยันต์ตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส มาเรียนจริงจังเมื่อตอนบวชเป็นภิกษุกับ อาจารย์ธง อดีตเจ้าอาวาสวัดสำเภาล่ม (วัดทำใหม่) ตั้งแต่นั้นจึงเริ่มศึกษาเพิ่มเติมมาเรื่อยจนมาเจอกับอาจารย์ยศ

             หลังจากนั้นย้ายมาจำพรรษที่วัดจอมเกษและเริ่มสักยันต์ และเริ่มศึกษาวิชาเมตตามหานิยมกับอาจารย์ต่าย เจ้าอาวาสวัดจอมเกษ เรียนทำตะกรุดกรีดหลังและอาบน้ำมนต์กับอาจารย์พาส อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แก้ว เรียนทำตะกรุดชาตรีกับหลวงตาลาน วัดบ้านม้า เรียนทำตะกรุดดอกไม้ทองกับหลวงพ่อพูล วัดบ้านแพน เรียนตัวพุทธกับหลวงพ่อหวล วัดพุทไธศวรรย์ เรียนไล่คุณไสยกับปู่ปั้นซึ่งเป็นฆราวาส

             หลวงพี่เลี้ยงเริ่มสักยันต์อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่วัดจอมเกษ ปัจุบันหลวงพี่เลี้ยงเปิดให้ลูกศิษย์ได้สักยันต์ทุกวัน ยกเว้นวันพระ โดยมีลูกศิษย์อีก ๓ คนช่วยสักยันต์ได้แก่ ๑.หลวงพี่แบงค์ ๒.อาจารย์ไอซ์ ๓.อาจารย์ขุน

             อุปเท่ห์ข้อห้ามสำหรับผู้ที่สักยันต์ของสำนักวัดจอมเกษ ๑.ไม่ลบหลู่คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มาราดา ครู อาจารย์  ๒.ห้ามดื่มสุราในวันพระ (สำคัญมาก) และ ๓.ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ