พระเครื่อง

หลวงพ่อชุบวัดวังกระแจะ๕๐ปีแห่งการสร้างวัดสร้างคนและวัตถุมงค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงพ่อชุบวัดวังกระแจะ๕๐ปีแห่งการสร้างวัด สร้างคน และวัตถุมงคล เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

หลวงพ่อชุบวัดวังกระแจะ๕๐ปีแห่งการสร้างวัดสร้างคนและวัตถุมงค

            พระครูอดุลพิริยานุวัตร หรือหลวงพ่อชุบ ปญฺญาวุโธ เจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เกิดวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๙  ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล โยมบิดาชื่อนายปลื้ม ถินนาก โยมมารดาชื่อนางช่วง ถินนาก ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด ๕ คน มีพี่สาวต่างมารดา ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔

            ในวัยเยาว์ท่านมีความสามารถด้านศิลปะวาดเขียน มากกว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ในช่วงวัยรุ่นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับการถ่ายทอดวิชาการสักยันต์และวิชาอาคมต่างๆ จากอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว เมื่อครั้งที่อาจารย์รื่นท่านเปิดสำนักสักยันต์ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม อาจารย์รื่น ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทยและอาจารย์รื่นท่านยังเป็นพระสหายกับ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

            เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านอุปสมบท ณ วัดคู้สนามจันทร์ ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โดยมีหลวงพ่อกลึง ธมฺมโชติ วัดสวนแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อบวชเป็นพระหลวงพ่อกลึงได้ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้อีกทำให้ความรู้ด้านไสยเวทวิทยาคมต่างๆ ของหลวงพ่อชุบแกร่งกล้าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลวงพ่อชุบจำพรรษาอยู่วัดคู้สนามจันทร์ ๔ พรรษา จนถึง พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงพ่อได้ย้ายวัดไปจำพรรษาที่วัดเพชรสมุทร (วัดหลวงพ่อบ้านแหลม) เพื่อศึกษาด้านพระปริยัติธรรม อยู่จำพรรษาที่วัดเพชรสมุทร เป็นเวลา ๑๔ พรรษา หลวงพ่อชุบศึกษาได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ขณะที่จำพรรษาที่วัดเพชรสมุทร  

            วัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งของหลวงพ่อชุบ คือ ออกเดินธุดงค์ทุกปี บางปีธุดงค์ไปถึงนครศรีธรรมราช เพื่อสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อยู่นครศรีธรรมราช ๓ คืน แล้วจึงเดินธุดงค์กลับวัดเพชรสมุทร นอกจากนี้แล้วหลวงพ่อชุบได้เดินธุดงค์แถบป่าเขาด้านตะวันตกแถบราชบุรี กาญจนบุรี ถึงชายแดนพม่า ขณะเดินธุดงค์ถึงถ้ำละว้า อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  

            หลวงพ่อชุบได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

            พ.ศ.๒๕๑๓ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ

            พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าทุ่งนา

            พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ

            พ.ศ.๒๕๑๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในพระราชทินนามว่า “พระครูอดุลพิริยานุวัตร”

            พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพระอุปัชฌาย์

            พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

            พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค  

            เนื่องจากมีอายุครบ ๘๐ ปี จึงเกษียณในตำแหน่งปกครองสงฆ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยคและเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ


๕๐ปีแห่งการสร้างวัดสร้างคน

            วัดวังกระแจะ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๔๘ ตารางวา เดิมเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวของพระธุดงค์ทั่วไป ในราว พ.ศ.๒๔๘๑ ชาวบ้านได้มีมติให้ตั้งเป็นวัดของหมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการจัดพิธีกรรมทางศาสนา เริ่มจากการที่ชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆ หลังคามุงจากให้พระธุดงค์อยู่จำพรรษา แต่ปรากฏว่าบางปีก็หาพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ได้
 
            ล่วงถึงพ.ศ.๒๕๐๕ ได้มีพระธุดงค์ที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านได้เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำละว้า ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านช่วยสร้างวัดที่หมู่บ้านพระธุดงค์ที่ชาวบ้านนิมนต์ก็ คือ หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ  

            ชาวบ้านวังกระแจะเลื่อมใสศรัทธาท่านจึงได้สร้างกุฏิไม้หลังคามุงแฝกให้ท่านอยู่จำพรรษา ระหว่างนี้ท่านได้เดินธุดงค์ระหว่างวัดเพชรสมุทรกับบ้านวังกระแจะหลายพรรษาเพื่อหาปัจจัยมาสร้างวัดวังกระแจะตามที่ชาวบ้านศรัทธาท่านขอให้ท่านสร้างวัดให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน หลวงพ่อชุบท่านถือสัจจะเป็นใหญ่เมื่อท่านรับปากชาวบ้านวังกระแจะว่าจะสร้างวัดให้

            หลังจากรับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาสร้างวัดที่หมู่บ้านแล้ว หลวงพ่อชุบก็เริ่มพัฒนาปรับพื้นที่สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้สร้างวัดได้ และได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด จากนั้นคณะปกครองสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีได้มีหนังสือแต่งตั้งให้หลวงพ่อชุบเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ รูปแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในพ.ศ.๒๕๑๔ เป็นวัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ พ.ศ.๒๕๓๓ วัดได้จัดพิธีผูกพันธสีมาฝังลูกนิมิต

            งานด้านการศึกษา หลวงพ่อชุบท่านได้รับตำแหน่งมีดังนี้

            พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนปริยัติธรรม

            พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง

            พ.ศ.๒๕๐๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนบาลี

            พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นเจ้าสำนักเรียนประจำสำนักเรียนวัดวังกระแจะ

            งานสาธารณูปโภคที่หลวงพ่อชุบท่านช่วยสงเคาระห์

            พ.ศ.๒๕๑๖-๒๑๘ สร้างพระอุโบสถ

            พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๑ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน หอสวดมนต์ ห้องน้ำ

            พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๖ สร้างเมรุ ศาลาฌาปนสถาน และห้องน้ำใหม่

            พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

            ส่วนงานเผยแพร่นั้น พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ(อินเดีย)


วัตถุมงคลของหลวงพ่อชุบ

            ชีวิตในวัยหนุ่มของนายชุบ ถินนาก เป็นไปตามชายชนบททั่วไปจะต้องหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาอาคมต่างๆ ไว้ป้องกัน ตนเองและครอบครัวไม่ให้ใครมารังแกข่มเหงได้ ในสมัยนั้นเมืองแม่กลองมีฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วลุ่มน้ำแม่กลองด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ลูกศิษย์ของสำนักนี้เป็นที่รู้กันในหมู่นักเลงว่าหนังดี ขนาดแมลงวันต้องผอมโซเพราะไม่สามารถหาเลือดของลูกศิษย์สำนักนี้กินได้ ฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่กล่าวถึงก็คืออาจารย์รื่น แห่งสำนักสักบ้านหนองอ้อ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม  

            นายชุบได้เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รื่น ด้วยอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว รักษาสัจจะ อ่อนน้อมถ่อมตน รักการศึกษาเล่าเรียน ทำให้เป็นที่รักของอาจารย์รื่น นายชุบจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์รื่นจนเชี่ยวชาญทุกแขนง อาจารย์รื่นเป็นลูกศิษย์พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระอาจารย์ผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาด้านไสยเวทให้นายชุบอีกทอดหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่านายชุบเป็นศิษย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยผ่านต่อจากอาจารย์รื่น

            พุทธคุณวัตถุมงคลของหลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ นั้น เป็นที่รู้กันดีในหมู่ลูกศิษย์โดยเฉพาะชาวอำเภอไทรโยค จะรู้ดีว่าหลวงพ่อมีของดี ทั้งสักและพระวัตถุมงคลเป็นที่รู้กันว่าคงกระพัน

            เนื่องด้วยระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ทางวัดวังกระแจะจะจัดงานทำบุญมุทิตาจิตสักการะครบรอบ ๘๙ ปี หลวงพ่อชุบ และจัดพิธีสมโภชท้าวเวสสุวรรณองค์ใหญ่ เนื้อโลหะขนาดความสูง ๓ เมตร ๒ องค์ เพื่อประดิษฐานหน้าเจดีย์พระธาตุ ในการนี้คณะศิษย์ได้จัดสร้างรูปหล่อลอยองค์ท้าวเวสสุวรรณรุ่นแรก โดยได้ประกอพิธีพุทธา-เทวาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่าน เพื่อเป็นที่ระลึกในการจัดงานครั้งนี้ รวมทั้งเพื่อสมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ บูรณะเสนาสนะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัด และเพื่อตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพระภิกษุสงฆ์ วัดวังกระแจะ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ วัดวังกระแจะ โทร.๐๘-๖๓๒๗-๗๕๖๔

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ