
พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กวจุดปี๒๕๐๕
พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กวจุดปี๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง
วันนี้...คอลัมน์ นี้ได้รับเกียรติเช่นเคย จาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ได้มอบภาพพระเพื่อโชว์เป็นวิทยาทาน...คือ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก “ว” จุด ปี ๒๕๐๕ พร้อมกัน ๕ องค์ พร้อมข้อมูลประกอบ
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลว่า ในปี ๒๕๐๕ ถือว่า มีพิธีกรรมปลุกเสก พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ครั้งใหญ่ นับเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากที่มีการจัดใหญ่ครั้งแรกในปี ๒๔๙๗
สำหรับในปี ๒๕๐๕ มี พระหลวงพ่อทวด หลากหลายรูปแบบที่เข้าพิธีปลุกเสก เช่น เหรียญ พระบูชา รูปหล่อลอยองค์ พระชุดหลังเตารีด ชนิดหล่อตัดช่อแบบโบราณ เป็นต้น หนึ่งในนั้นมี พระรูปเหมือน ปั๊ม ชุดหลังหนังสือ ทั้งพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อทองเหลืองรมดำ ส่วนเนื้อพิเศษ เช่น เนื้อนวโลหะ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองเหลืองผิวไฟ (ไม่รมดำ) มีบ้างแต่พบเห็นน้อยมาก
มูลเหตุของการสร้างพระปั๊มที่ว่านี้ เป็นเพราะพระชุดหลังเตารีดชนิดหล่อตัดช่อแบบโบราณนั้น มีความยุ่งยากในการทำ และทำได้จำนวนจำกัด ในขณะที่ความนิยมชมชอบของชาวบ้านและนักสะสมที่มีต่อหลวงพ่อทวดนั้นแผ่ขยายกว้างไกล คณะกรรมการสร้างพระจึงมีแนวคิดที่จะสร้าง พระปั๊มหลังหนังสือ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ต้นทุนถูกกว่า และทำได้คราวละมากๆ สามารถทำเป็นช่วงๆ ได้
(ตามบันทึกได้ระบุว่า พระปั๊ม ชุดหลังหนังสือ ได้จัดทำที่ กทม. และจัดส่งไปทางรถไฟ เป็นช่วงๆ เพื่อเข้าพิธีปลุกเสกโดย พระอาจารย์ทิม ที่วัดช้างให้) เป็นที่ทราบกันดีว่า พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ แบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์เล็ก มีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็ก วงเดือน และ พิมพ์เล็ก ธรรมดา แต่ละพิมพ์ที่ว่านี้ ยังแบ่งออกได้เป็นพิมพ์ย่อยๆ อีกหลายพิมพ์ ซึ่งมักแบ่งย่อยตามลักษณะโครงหน้าของหลวงพ่อทวด และลักษณะของตัวหนังสือที่แตกต่างกันในรายละเอียด
สำหรับวันนี้จะเน้นนำเสนอเฉพาะ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ว จุด (พิมพ์เล็กอื่นๆ เคยนำเสนอแล้วในคอลัมน์นี้ ผู้สนใจลองค้นหาดูผ่านกูเกิล) เท่าที่วงการเล่นหา มีการแบ่งย่อยออกไปหลายพิมพ์ โดยการแบ่งลักษณะพิมพ์ย่อยจะมองไปที่ลักษณะด้านหน้าองค์พระเป็นสำคัญ เช่น ขนาด และตำแหน่งของเม็ดตา รูปร่างของใบหู และลักษณะโครงหน้า เป็นต้น จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้านหลังองค์พระจะเหมือนกันกล่าวคือ จะมีตุ่มเล็กๆ ที่ปลายหัว ตัว “ว” และมีแพของเส้นเสี้ยนกระจายในแนวรัศมีตรงบริเวณนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ “ว” จุด ดังองค์โชว์ที่ ๑ ถึง ๕
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกพิมพ์หนึ่ง ที่ด้านหลังเป็นเหมือนพิมพ์ “ว” จุด ทุกประการ แต่ด้านหน้ามีรูปแบบเฉพาะ นั่นคือ พระพิมพ์เล็ก มีตัว “ท” ซึ่งสามารถแบ่งด้านหลังออกเป็น ๒ แบบพิมพ์ คือ แบบพิมพ์ หลัง “ว” จุด ธรรมดา และ แบบพิมพ์ หลัง “ว” จุด-หลังกลึง
พระองค์ที่โชว์ทั้งหมด ๕ องค์นี้ ถือว่าเป็นพระที่ยังคงสภาพเดิมไว้เกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ในองค์ที่รมดำยังมีผิวปรอทคลุมทั้งองค์ แลดูงดงาม มีเสน่ห์ยิ่งนัก เพราะแทบไม่ผ่านการสัมผัสมาก่อน การันตีความงดงามด้วยการเป็นแชมป์งานประกวดใหญ่ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ รับรองมาแล้วกว่า ๑๒ ครั้ง
ท่านผู้อ่านสามารถจดจำพิมพ์ทรงและสภาพผิวเดิมๆ ธรรมชาติพระปั๊ม และรอยตัดให้คุ้นตา เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันในการเช่า พระเก๊ หรือพระแท้แต่ผิวเก๊ (รมดำใหม่เพื่ออัพราคา ซึ่งเจอกันถ้วนหน้า หากไม่ชำนาญกันจริงๆ)
ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด ทั้ง ๕ องค์ในคอลัมน์นี้ และยังให้ข้อมูลประกอบบทความนี้อีกด้วย