
พระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำเรื่องเล่าของ'หลวงอำนวย'
พระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำ เรื่องเล่าของ'หลวงอำนวย'(พระอำนวย นนทิโย) : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
“เหรียญทองคำหลวงปู่ทวด” ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์เม็ดแตง เหรียญเศียรโต เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หรือพิมพ์เตารีด ฯลฯต่างถือเป็นสุดยอดเหรียญหลวงปู่ทวดที่ว่ากันว่าพลิกแผ่นดินก็ยังหาชมได้ยากเพราะผู้ครอบครองแต่รุ่นบรรพชนต่างเก็บนิ่งไว้เป็นปัจเจกบูชา
จวบจนกาลเวลาผ่านไปจากรุ่นสู่รุ่น จึงเริ่มมีการเปลี่ยนมือจากผู้ครอบครองเดิมที่มีทั้งเซียนพระระดับตำนานและลูกศิษย์ก้นกุฏิ ณ วันนี้ใครอยากได้ครอบครอง ต้องแลกตัวเงินที่มี ๘ หลัก
เมื่อมีการเปลี่ยนมือ “พระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำ” ออกมาสู่วงการพระเครื่องจึงมีข้อถกเถียงของวงการพระเครื่องโดยเฉพาะเซียนพระสายหลวงปู่ทวดมาตลอดในประเด็นที่ว่า “มีการสร้างหรือไม่มีการสร้าง” ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า “เซียนพระสายหลวงปู่ทวด” ล้วนไม่มีใครทันหรืออยู่ในพิธีการจัดสร้างเลยสักคนเดียว ขณะเดียวกันการสร้างในอดีตไม่ได้มีการพิมพ์โบรชัวร์แสดงรายละเอียดเช่นปัจจุบัน เมื่อมีพระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำออกมา เซียนมักด่วนสรุปว่า “ไม่มีเนื้อทองคำ”
แต่กรณี “พระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำ” ถึงกับทำให้เซียนสายหลวงปู่ทวดหงายหลังไม่เป็นท่า เพราะคนที่อยู่ในพิธีสร้างหลวงปู่ทวดรุ่นดังหลายรุ่นยังมีชีวิตอยู่ ท่าน คือ หลวงอำนวย หรือพระอำนวย นนทิโย ซึ่งปัจจุบันได้ลาสิกขาเป็นฆราวาสแล้ว
หลวงอำนวย เล่าย้อนให้ฟังว่า ตนเป็นพระลูกศิษย์ใกล้ชิดพระอาจารย์ทิม ธัมมโร ติดตามอาจารย์ทิมตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากบ้านอยู่ที่นั่น พออายุถึงเกณฑ์ก็ออกบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งตรงกับปีที่พระอาจาย์ทิมได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสัยโสภณพอดี ในปีนี้เองที่มีการจัดสร้างพระเครื่องรุ่นที่วงการพระนิยมกันมาก คือ รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี ๒๕๐๘ สร้างขึ้นเพื่อแจกในงานเลื่อนสมณศักดิ์ของพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิมเป็นพระครูชั้นโท พัดยศขาว ฝ่ายวิปัสสนา มีทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน ทองแดง และอัลปาก้า
ว่ากันว่าเป็นพระเครื่องที่เหมาะกับผู้รับราชการ ด้วยเชื่อกันว่าผู้ใดมีไว้บูชาจะบันดาลให้การเลื่อนตำแหน่งมีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป มีความเจริญในหน้าที่การงาน สำหรับพ่อค้าคหบดี ก็จะทำมาค้าขึ้น มีความรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น ความเชื่อดังกล่าวเป็นความศรัทธาสูงสุดแห่งองค์หลวงปู่ทวดเหยียบนำทะเลจืดที่จักดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน
หลวงนวยยังเล่าด้วยว่า เมื่อสมัยที่ตนยังบวชอยู่เมื่อใดที่พระอาจารย์ทิมมีกิจนิมนต์ไปที่ไหนก็จะเป็นคนติดตามไปด้วย ก็รับรู้และเห็นการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดอยู่ตลอด หลวงอำนวย หรืออดีตพระอำนวย นนทิโย ในวัยเกือบ 70 ในวันนี้ได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า ถ้าจะถามว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นไหนดี พระอาจารย์ทิมสร้างจำนวนเท่าไร ในตอนนั้นจะไม่ทราบเลย เพราะไม่ได้สนใจมาก เหรียญหลวงปู่ทวดทองคำส่วนหนึ่ง อาจารย์ทิมจะเก็บเอาไว้ต่างหาก เช่น เหรียญรุ่นเศียรโตทองคำ ทองคำลงยา เม็ดแตงทองคำลงยา เป็นต้น
“มีการสร้างพระหลวงปู่ทวดทองคำเอาไว้จำนวนหนึ่งจริง ตนเห็นกับตา พระเครื่องทองคำส่วนหนึ่งที่จัดสร้างขึ้นก็เพื่อมอบให้คหบดี ผู้มีชื่อเสียง ข้าราชการระดับสูงและเศรษฐีที่บริจาคปัจจัยจำนวนมาก เพื่อตอบแทนน้ำใจที่มีส่วนช่วยบูรณะวัดช้างให้เป็นกรณีพิเศษ จะเรียกว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่เป็นทองคำนั้นมอบให้เฉพาะเจาะจงกับบุคคลสำคัญๆ ก็ว่าได้” นี่เป็นคำยืนยันของหลวงอำนวย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดท่านพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ท่านประกอบพิธีปลุกเสกเพียงองค์เดียว พระเครื่องหลวงปู่ทวดที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เข้าใจว่าอาจารย์ทิมเป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีพลังจิตสูง บารมีสูงและมีเมตตาสูง และผู้สร้างมิได้มีจิตคิดหาลาภผลทางวัตถุแต่อย่างใด ตั้งใจให้เป็นเครื่องสักการบูชาของผู้ที่เคารพนับถือจริงๆ
หลวงอำนวย ยังบอกด้วยว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระอาจารย์ทิมก็ได้มอบพระเครื่องบางส่วนให้ตนเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ในยุคนั้นไม่ได้มีราคาค่านิยมเช่นปัจจุบันก็ต้องถือว่าตอนมีโชควาสนาที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านจนวาระสุดท้าย
เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ทำให้นึกถึงบทสวดบังสุกุลที่ว่า อนิจจา วต สงขรา อปปาทวยธมมิโน อปปชชิตวา นิรชฌนติ เตส วูปสโม สโขติ แปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุขในฐานะพระลูกศิษย์ใกล้ชิด
ภาพถ่ายที่มีราคาเกือบ ๒ ล้าน
พระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ได้สร้างสุดยอดแห่งรูปเคารพพระเครื่องหลวงปู่ทวดจากภาพนิมิต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ อันลือลั่น ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศยังไม่ลดละความพยายามพากันเสาะแสวงหาเพื่อบูชาติดตัวพร้อมอาราธนาบทพุทธคุณ "นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา" เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายและเจริญด้วยสิริสวัสดิ์ทั้งหลายทั้งปวง
พระอาจารย์ทิม เกิดวันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๕ ณ บ้านนาประดู่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ในวันที่พระอาจารย์ทิมมรณภาพ ซึ่งตรงกับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ พระอำนวย นนทิโย ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน และนายเพิ่ม พรหมประดู่ พี่ชายของท่านต้องคอยปฏิบัติเลือดออกปากอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งพระอาจารย์ทิมหมดลมอัสสาสะปัสสาสะพอดี ที่โรงพยาบาลกลาง กทม.
“พระหลวงปู่ทวด” รุ่นและองค์ที่ขึ้นชื่อว่าแพงสุดๆ และแพงกว่าพระสมเด็จ คือ "พระหลวงปู่ทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ปี ๐๕" หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "เบตง ๑" โดยเฉพาะหมาย "เลข 999" ทั้งนี้ มีการตั้งประเมินค่านิยมไว้อย่างน้อย ๑๕ ล้านบาท ขณะเดียวกันภาพถ่ายของพระอาจารย์ทิมที่ขึ้นชื่อว่าแพงสุดๆ คือ ภาพที่ถ่ายโดยร้านถ่ายรูป "ฉายาเฉลิมกรุง" กทม. ที่ถ่ายถวายพระอาจารย์ทิมเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ทั้งนี้ หลวงอำนวยได้มอบให้เฮียกุ่ย รัชดา ไว้เป็นที่ระลึก โดยมีการตั้งราคาไว้ที่ ๘ หลัก
ภาพแห่งประวัติศาสตร์
นายสุขธรรม ปานศรี ประธานบริษัท แม็กกา อาร์.ดี. (กรุ๊ป) จำกัด เจ้าของธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าอิสระ หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” ซึ่งที่สนิทชิดเชื้อคบค้ากับนายอุดม กวัสสราภรณ์ ที่คนในวงการนิยมเรียกว่า "เสี่ยดม" ปูชนียบุคคลของวงการพระเครื่อง ก่อนจะปิดฉากตำนานเซียนใหญ่ ทั้งนี้ เฮียกุ่ย ได้รับช่วงพระเครื่องจำนวนหนึ่งมาจากเสี่ยดมซึ่งขึ้นชื่อว่า “เป็นพระองค์ครู”
เฮียกุ่ย บอกว่า นอกจาก "เสี่ยดม" จะมีพระเครื่องและวัตถุโบราณที่มีอยู่เต็มบ้านแล้ว ยังมีภาพบุคคลสำคัญทั้งรัฐมนตรี นักการเมือง นายทหาร ข้าราชการผู้ใหญ่ รวมทั้งนักธุรกิจแวะเวียนไปเยี่ยมด้วย
ทั้งนี้ เสี่ยดมได้ให้ภาพถ่ายมา ๒ ใบ โดยใบหนึ่งเป็นภาพของกรรมการวัดช้างให้ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ (บวก-ลบไม่เกิน ๕ ปี) บริเวณประตูใหญ่ของวัด เมื่อครั้งที่อาจารย์ทิมยังมีชีวิตอยู่ ในภาพคุณอนันต์ คนานุรักษ์ นั่งอยู่ด้านขวาของอาจารย์ทิม ถ่ายภาพโดยคุณจำเริญ วัฒนายากร ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในภาพ