พระเครื่อง

สับสน!'ธุดงควัตร-เดินธุดงค์-ธรรมยาตรา'

สับสน!'ธุดงควัตร-เดินธุดงค์-ธรรมยาตรา'

04 ก.พ. 2558

'ธุดงควัตร-เดินธุดงค์-ธรรมยาตรา' ยังสับสนสำหรับคนไทย : สำราญ สมพงษ์รายงาน

               เสร็จสิ้นลงแล้ว สำหรับโครงการธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปีที่ 4 ของวัดพระธรรมกาย ส่งผลมีเสียงท้วงติงบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงผ่านพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครทำให้การจราจรติดขัด  ส่งผลให้ทีมโฆษกต้องออกทีวีชี้แจง

               อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของธุดงค์ไว้ด คือ องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้นมี 13 วิธีด้วยกันคือ 1.การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  2.การถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร 3.การถือบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร 5.ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร 6.ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร 7.ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 8.ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร 9. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร 10. ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร 11. ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร 13. ถือการนั่งเป็นวัตร

               ทั้งนี้ทีมโฆษกวัดธรรมกายก็ยืนวันว่ากิจกรรมที่ทำนั้นจัดเข้าในธุดงควัตร 2 ข้อ คือ ฉันเพลาเดียวและพักในสถานที่เขาจัดให้  แต่ที่ถูกวิจารณ์มากก็คือการเดินตามถนนนั้นจัดเข้าในธุดงควัตรข้อไหน 

               อย่างไรก็ตามคำว่า "ธุดงค์" ในปัจจุบันนี้เว็บไซต์วิกิพีเดียได้สรุปว่า  ยังคงเป็นแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธเถรวาททั่วไปในหลายประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น คฤหัสถ์ทั่วไปก็ถือปฏิบัติได้บางข้อเช่นกัน และในประเทศไทยถูกใช้ในความหมายว่าเป็นการเดินจาริกของพระสงฆ์ไปยังที่ต่าง ๆ หรือเรียกว่า การเดินธุดงค์ ซึ่งความหมายนี้แตกต่างจากความหมายเดิมในพระไตรปิฎก

               คงจะเป็นไปตามความเห็นของพระไพศาล วิสาโล ที่ระบุว่า "การธุดงค์คือการขัดเกลากิเลสคือการส่งเสริมให้มักน้อยสันโดษ ห่างไกลจากญาติโยม ไม่มุ่งสนองศรัทธาญาติโยม วัดพระธรรมกายน่าจะพูดให้ชัดว่าไม่ใช่ธุดงค์"

               เพื่อไม่ส่งผลกระทบกับหลักการเดิมของคำว่า "ธุดงค์"  น่าจะใช้คำว่า "ธรรมยาตรา"  น่าจะเหมาะสมกว่า  แม้นว่าในพระไตรปิฎกไม่มีการกล่าวถึงคำว่า "ธรรมยาตรา"  แต่คำที่ใกล้เคียงและมีการใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในสังคมไทย คือ  จาริก หมายถึง เที่ยวไป เดินทางเพื่อศาสนกิจ โดยมีข้อความซึ่งมีความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด อาจจะเป็นตอนหนึ่งในปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า คือ
              
               "...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน 2 รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง..."

               คำว่า "ธรรมยาตรา" ปรากฏชัดเจนในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงครองราชย์ระหว่าง พุทธศักราช 270-311  ดังปรากฏในศิลาจารึกฉบับที่ 8   ซึ่งพระเจ้าอโศกให้เขียนสลักจารึกไว้ในที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรเพื่อสื่อพระราชกรณียกิจตามพระธรรมวิชัยในช่วงที่ครองราชย์

               "ธรรมยาตรา" เป็นคำที่มาจากการนำคำว่า "ธรรม" และ "ยาตรา" มาประกอบกัน ในประเทศไทยมีผู้สรุปความหมายของธรรมยาตราที่มีการตีความแตกต่างกันในสังคมไทยว่า มี 6 ประเภท คือ 1) การเดินทางไปยังสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 2) การเดินทางด้วยการนำสิ่งเคารพในพระพุทธศาสนาไปด้วยรูแบบขบวน 3) การเดินทางเพื่อทำบุญต่าง ๆ มีการให้ทาน เป็นต้น 4) การเดินทางที่ต้องเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ โดยเอาแง่มุมทางพระพุทธศาสนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและวิถีชุมชนด้วยสันติวิธีและปัญญา 5) การเดินโดยมีธรรมะเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน 6) การเดินไปเพื่อประท้วงปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สังคมและมนุษย์ โดยมีจุดร่วมกันอยู่ที่เป็นการเดินเป็นขบวนและมีพระสงฆ์หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาร่วมอยู่ในขบวน

               การใช้คำว่า ธรรมยาตรา ในลักษณะที่เป็นการเดินขบวนด้วยเท้าในระยะทางไกลโดยใช้วิถีปฏิบัติทางศาสนาเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในประเทศกัมพูชา ในปีพุทธศักราช 2535 ใช้ชื่อว่า Dhammayietraมีความหมายว่า “การจาริกของความจริง (pilgrimage of truth)” โดยการนำของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะและการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ มีจุดมุ่งหมายที่จะนำสันติภาพและสมานฉันท์คืนสู่กัมพูชาซึ่งบอบช้ำจากภัยสงครามมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติแบบหนึ่งในพุทธศาสนาที่เรียกว่า "พุทธศาสนาเพื่อสังคม(Engaged Buddhism)" เนื่องจากได้ผสานการปฏิบัติทางศาสนาคือการเจริญสติด้วยการเดินซึ่งเป็นหนึ่งในมหาสติปัฏฐานสูตรเข้ากับปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

               ธรรมยาตราในกัมพูชาเป็นการนำเอาความคิดเรื่องพุทธศาสนาเพื่อสังคมมาใช้และนำการปฏิบัติที่ทั้งพระภิกษุและฆราวาสสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องความเป็นกลางและสันติวิธี ธรรมยาตราไม่เพียงแต่การนำวิธีการเดินอย่างมีสติเข้ากับประเด็นทางสังคมเท่านั้น สำหรับชาวกัมพูชาแล้ว การสนับสนุนการเดินขบวนของพระสงฆ์อย่างสงบถือเป็นการทำบุญที่จะช่วยให้สงครามสงบได้โดยเร็ว ส่วนผู้ที่ยังขมขื่น เศร้าโศกจากหายนะที่เกิดขึ้น การให้คำแนะนำของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะเรื่องความเมตตากรุณาก็จะช่วยฟื้นฟูจิตใจของพวกเขาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ผ่านการกระทำอย่างมีสติ

               การเดินธรรมยาตราครั้งสำคัญที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมยาตราในประเทศกัมพูชาเกิดขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นครั้งแรกปีพุทธศักราช 2539 และจัดต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปี 2547 คือ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ริเริ่มโดยพระนวกะกลุ่มเสขิยธรรมซึ่งได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาของทะเลสาบสงขลาและเห็นว่าควรจะช่วยเหลือ นอกจากนี้ ก็ได้มีขบวนธรรมยาตราเกิดขึ้นในประเทศไทยในหลากหลายพื้นที่และประเด็น เช่น ธรรมยาตราสู่ชุมชนแห่งขุนเขาโดยเสมสิกขาลัย ในปี 2540 ธรรมยาตราเดินเท้าต้านไฟป่าในปี 2540 ณ จังหวัดลพบุรี ธรรมยาตราแม่น้ำมูล ในปี 2542 ธรรมยาตราลุ่มน้ำปะทาวในปี 2543  ธรรมยาตรารักษาแม่น้ำโขงในปี 2546  ธรรมโฆษณ์ธรรมยาตราในวาระ 100  ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ในปี 2549 ฯลฯ

               จุดมุ่งหมายสำคัญของการเดินธรรมยาตรา คือ การพยายามที่จะเชื่อมการพัฒนาสังคมและศาสนธรรมเข้าด้วยกัน ดังที่ พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ว่า

               "...เป็นการเดินอย่างสงบ เพื่อเป็นสื่อธรรมะไปยังทุกหนแห่งที่เดินผ่าน ขณะเดียวกันก็อาศัยการเดินนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นแยกไม่ออกจากความเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง และทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มจากความเปลี่ยนแปลงในใจของผู้เดินเป็นประการแรก.....แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการเดินเปิดโอกาสให้ทุกคนในคณะธรรมยาตราได้รู้จักตนเองอย่างลุ่มลึก เมื่อเดินอย่างสงบและมีสติ เราย่อมเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองแจ่มแจ้งขึ้น รวมทั้งสังเกตเห็นความแปรเปลี่ยนภายในอย่างชัดเจน และเมื่อเผชิญกับความทุกข์ขณะเดิน ไม่ว่า ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อย สติที่พัฒนาระหว่างเดินจะช่วยรักษาใจไม่ให้ทุกข์ไปกับกายได้....."

               อย่างไรก็ตามพระไพศาลก็ได้ระบุว่า การเดินธรรมยาตราเพื่อยึดโยงกับธรรมชาติเป็นสำคัญ

               ขณะเดียวกันในสังคมไทยก็จะจัดกรรมการเดินอีกประเภทหนึ่งนั้น คือ การเดินการกุศลมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเดินเพื่อสุขภาพ ตามความหมายนี้คงเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านทั่วไปเดิน แต่ถ้าหากมีพระเข้าไปร่วมด้วยก็จะใช้คำว่า "ธรรมยาตรา" อย่างเช่น ธรรมยาตราเขาพระวิหารเป็นต้น หรือเช่นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จัดโครงการ"เดินธุดงค์-ธรรมยาตรา" ระหว่างวันที่ 7-8 ก.พ.นี้ ที่วัดตำหนัก – เขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ภายใต้การดำเนินการของหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มจร โดยมีกิจกรรมคือเดินทางจากวัดตำหนักระยะทาง 5 กิโลเมตร ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล และมีการปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาเป็นต้น

               โครงการ"เดินธุดงค์-ธรรมยาตรา" ของ มจร ครั้งนี้เป็นการประยุกต์เข้ากับการปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาเป็นสำคัญ

               จากความขัดแย้งทางความคิดเรื่อง "ธุดงค์" นี้ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความสับสนกับคำว่า "ธรรมยาตรา" "ธุดงควัตร" การเดินธุดงค์ หรือรวมถึง "ธุดงค์ธรรมชัย" ว่ามีความเหมือนกับความต่างกันอย่างไรมีความหมายทับซ้อนกันมากน้อยเพียงใด สมควรหรือไม่ที่จะนิยามความหมายและนำมาใช้ให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นการลดทอนความสำคัญเดิมของคำว่า "ธุดงค์" ที่มุ่งกำจัดกิเลสไม่ใช่เพื่อพอกพูนกิเลส เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต